จาก ‘30 บาท ‘รักษาทุกโรค’ สู่ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ มิติใหม่ของการเสริมสร้างป้องกันสุขภาพคนไทย

18/09/2024 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 1,569
Share:

21 ปีที่แล้ว คนไทยได้รู้จักคำว่า ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เป็นครั้งแรก หลังรัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น ได้ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พร้อมจัดตั้ง ‘สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ หรือ (สปสช.) ในฐานะหน่วยงานบริหารระบบทำหน้าที่เป็น ‘ตัวแทน’ ของประชาชนในการกำหนดสิทธิประโยชน์ และคุ้มครองดูแลให้ประชาชนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ เป็นเป้าหมายสำคัญ โดยมี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. คนแรก

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้อนเล่าให้ฟังว่า สาระสำคัญหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาจากแนวคิดที่ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลคุ้มครองคนไทยทุกคนในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยการสนับสนุนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม  ภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

“สปสช. อยากให้ชาวบ้านจดจำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างง่ายๆ และติดหู จึงคิดค้นสโลแกน ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ พูดง่ายๆ คือ ถ้าใครเจ็บป่วยโรคใดก็ได้ ก็สามารถถือบัตรประชาชนใบเดียวเดินไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสิทธิประโยชน์ของ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นครอบคลุมทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย 

“ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เน้นไปที่การ ‘รักษา’ เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงยังมุ่งเน้นไปที่การ ‘สร้างเสริมป้องกันโรค’ ด้วย ซึ่งสิทธิประโยชน์ยังครอบคลุมทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย ดังคำกล่าวที่ว่า ‘จากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน’ 

“ยกตัวอย่างถ้าคุณแต่งงานและวางแผนจะมีบุตร การตั้งครรภ์จึงต้องมีคุณภาพด้วย คุณสามารถไปคลินิกใกล้บ้านได้ทันที หมอจะแนะนำเรื่องการดูแลครรภ์ ให้กรดโฟลิคกินเลยเพื่อลดความเสี่ยงโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ผ่านไปสามเดือนเกิดแพ้ท้อง ก็มีบริการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยว่าท้องหรือไม่ แล้วเมื่อเข้าสู่กระบวนการฝากครรภ์ ก็จะมีการฉีดวัคซีน ตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ สุขภาพช่องปาก รวมถึงอัลตราซาวด์ให้ด้วย 

“กระทั่งคลอดออกมาเป็นเด็ก  ก็มีฉีดวัคซีนให้ เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก จวบจนเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน ก็มีฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับสตรี  หรือถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพจิต เราก็มีบริการสายด่วนสุขภาพจิต ให้ประชาชนโทรเข้ามาปรึกษาก็ได้ จนถึงวัยชรา ก็ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดัด โรคหลอดเลือดในสมอง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละช่วงวัยก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา สปสช. เพิ่งนำร่องโครงการใหม่ชื่อว่า ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ซึ่งจุดเด่นคือการให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่เจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่รุนแรงมาก ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่เดินเปิดประตูคลินิกเวชกรรม ร้านยา หรือแม้แต่คลินิกพยาบาลของเอกชนที่เป็นหน่วยบริการในระบบ และเข้ารับบริการได้เลย และไปหาหมอหลังเลิกงานได้ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลรัฐและหน่วยบริการพยาบาลของภาครัฐ 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า นโยบายนี้ได้ปฏิรูปการให้บริการในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2 เรื่องสำคัญคือ 1.การจับมือกับหน่วยบริการพยาบาลจากภาคเอกชน ใน 7 วิชาชีพ ได้แก่ คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ (ห้องแล็บ) คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกการแพทย์แผนไทย และร้านยาคุณภาพ ที่เข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้บริการกับคนไทยสิทธิบัตรทอง 30 บาทในนโยบาย และ 2.ระบบข้อมูล ซึ่งต่อไปนี้จะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันได้แล้ว ใครมีประวัติเจ็บป่วยอะไร เคยรักษาที่ไหน วันนี้ไปคลีนิกแห่งหนึ่ง วันต่อมาก็สามารถไปคลีนิกอีกแห่งที่ใกล้บ้านได้อย่างสะดวก เพียงแค่เห็นสติกเกอร์ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ก็เดินเข้าไปรับบริการได้ทันที

“เราเพิ่งเปิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่เฟสแรกไปเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2567  โดยนำร่องใน 4 จังหวัด แต่ตอนนี้ขยายเป็น 45 จังหวัดแล้ว ล่าสุดเพิ่งเปิดจังหวัดที่ 46 คือกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา เป้าหมายของสปสช.คือภายในปีนี้จะครอบคลุมทั่วประเทศ 

“ผลสำเร็จของนโยบาย 30 รักษาทุกที่ คือการเข้าถึงบริการกว่า 2.5 ล้านครั้ง กับสิทธิบัตรทองที่ไปใช้บริการกว่า 1.6 ล้านคนในรอบ 6 เดือน เป็นตัวเลขที่ยืนยันความสำเร็จเบื้องต้นของนโยบายนี้ได้อย่างดี เพราะสิ่งนี้คือตัวสะท้อนว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการจากหน่วยบริการนวัตกรรมที่เป็นหัวใจของนโยบายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนัก 8 มีบทบาทในการเสริมสร้างสุขภาพของพนักงานที่ทำงานในองค์กร ด้วยการขับเคลื่อน ‘องค์กรสุขภาวะ’ (Happy Workplace)  โดยเชิญชวนองค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ทหารตำรวจ และองค์กรพระพุทธศาสนา เข้ามามีส่วนร่วมทำให้สถานประกอบการและที่ทำงานมีการสร้างเสริมสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง เสริมปัจจัยดี ผ่านแนวคิด Happy 8 ที่มุ่งสร้างสุขภาพดี 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และ ปัญญา 

“สำนัก 8 เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค หลักๆ 3 ด้านคือ 1.ร่วมให้ความรู้ ถึงสิทธิ์ต่างๆ กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่เป็นกลุ่มหลัก ทั้งสิทธิในการรักษาและการป้องกันสร้างเสริมสุขภาพ 2.เชิญชวนห้องพยาบาลในสถานประกอบการสามารถมาเข้าระบบการเป็นสถานให้บริการร่วมกับ สปสช. เพื่อจะได้ต่อเชื่อมสิทธิ์การรักษาตรงกับ สปสช. รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลใหม่และข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลากรและหน่วยงาน และ 3.เชิญชวนให้คนไทย มาร่วมใช้สิทธิ์ในการป้องกัน เพื่อจะได้รับการดูแลตั้งแต่ระยะต้นในกรณีที่มีประเด็นทางสุขภาพ”

ผอ.พงษ์ศักดิ์ ระบุอีกว่า ทุกวันนี้โรคภัยไข้เจ็บหรือพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานในองค์กรที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 

“กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุการป่วยการตายก่อนวันอันควร รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายและภาระการรักษาที่สูงมาก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนโรคที่มีสาเหตุจากสุขภาพจิต ซึ่งโรคเหล่านี้มีสาเหตุจากพฤติกรรมสุขภาพที่ป้องกันได้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทานอาหาร หวาน มัน เค็มจัด การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร ได้พูดถึงข้อดีของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคกับคนวัยทำงานที่อยู่ในองค์กรว่า ปัจจุบันสิทธิของคนทำงานในองค์กรมี 2 แบบคือ 1. ผู้ที่มีประกันสังคมหรือมีประกันของบริษัทร่วมด้วย 2. ไม่มีประกันสุขภาพครอบคลุม 

“แบบแรกมีการครอบคลุมที่ดีกว่าแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่ทำงานในองค์กรหรือยังอยู่ในระบบประกันสังคม  แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มจะมีหลักประกัน 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยดูแลทั้งการรักษา และเสริมสร้างป้องกันโรคตลอดชีวิตอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีงานทำ หรือไม่มีงานทำและไม่มีประกันจากการทำงานมาให้การคุ้มครอง”

สำหรับใครที่สนใจหรืออยากศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะสิทธิจากบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330,  ช่องทางออนไลน์ โดยพิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 , เฟซบุ๊ก: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเว็บไซต์สปสช. https://www.facebook.com/NHSO.Thailand