สสส. ผนึกกำลัง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จับมือภาคีประชาสังคมทั่วประเทศ Kick off “องค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม" พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ลด แอลกอฮอล์ บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน

04/09/2024 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 1,805
Share:

วันที่ 3 กันยายน ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ สำนักสนับสนุนสุขภาวะในองค์กร สำนัก 8 (สสส.) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยภาคีภาคประชาสังคมทั่วประเทศ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม" ภายใต้ : โครงการขับเคลื่อนและขยายผลองค์กรสุขภาวะกลุ่มภาคประชาสังคม ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมด้านสุขภาพให้บุคลากร นำไปสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ตามแนวทางความสุขแปดประการ (Happy 8) แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) สสส. พร้อมทั้งร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ภาคประชาสังคมยุคใหม่ใส่ใจสุขภาวะ ผนึกกำลัง “ลด แอลกอฮอล์ บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน 

 นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สสส.) กล่าวว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สนับสนุนให้เกิดองค์กรสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มองค์กรภาคสาธารณะ และภาคเอกชน ซึ่งกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการขยายผลแนวทางสุขภาวะองค์กร ร่วมสร้างเสริมสุขภาพปรับมุมมองระบบการดูแลสุขภาพเป็นการ "สร้างเสริม" เพื่อลด "ซ่อมสร้าง" เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดียิ่งขึ้น จากสถานการณ์ด้านสุขภาพปัจจุบัน พบว่า สาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลกและไทยเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดัน มะเร็ง หัวใจ และผลกระทบจากปัจจัยทางสังคม ที่มีผลต่อสุขภาพ อันดับ 1 เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ กิจกรรมทางกาย การบริโภคอาหาร การดื่มสุรา เป็นต้น สสส.และ สำนัก 8 ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรตามแนวคิด Happy Workplace แนวทางส่งเสริมสุขภาวะ 8 ประการ (Happy 8) และเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนทำงาน และผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม 

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า ภาคประชาสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ชุมชน และสังคมตามเจตนารมณ์ของแต่ละองค์กรโดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งบทบาทเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ ช่วยสร้างสรรค์พลังแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย ซึ่งการทำงานของภาคประชาสังคมที่ผ่านมาต้องเผชิญกับสถานการณ์และปัญหาที่ซับซ้อนในประเด็นการทำงานที่หลากหลาย เช่น มีทรัพยากรในการทำงานไม่ต่อเนื่อง พื้นที่ทำงานที่ห่างไกล ประเด็นช่องว่างระหว่างรุ่น (Generation Gap) เงื่อนไขด้านแหล่งทุนซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่งจะต้องหาเงินงบประมาณดำเนินการเพื่อความอยู่รอดขององค์กร อีกทั้งยังขาดแรงจูงใจในการทำงานอย่างมืออาชีพ ส่งผลต่อแรงกดดันและพฤติกรรมการใช้ชีวิต จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กลุ่มภาคประชาสังคมจะร่วมเรียนรู้ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาวะองค์กร “ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม” ตามแนวทางขององค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) แนวคิดความสุขแปดประการ (Happy 8) และแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) ของ สสส.

ด้านนางภิญญา จำรูญศาสน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคม มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 42 กำหนดหน้าที่ภาครัฐให้สนับสนุน ส่งเสริมความเข้มแข็งกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อเป็นพลังทางสังคมที่มีส่วนร่วมและบทบาทการเป็นหุ้นส่วนในการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนสังคม การสร้างความเป็นธรรมและการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม นำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ปัจจุบันยังขาดกฎหมายที่สนับสนุน และขาดกลไกการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคส่วนอื่น อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้คณะกรรมส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคม จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ ขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

นอกจากนี้ ภายในงาน ผศ.ดร.เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผอ.คณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นำเสนอ ผลการประเมิน “สถานการณ์สุขภาพและปัจจัยปัญหาพฤติกรรมสุขภาพคนทำงานกลุ่มภาคประชาสังคม” และยังมี เสวนา  “ทิศทางกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมืองานสุขภาวะองค์กรกลุ่ม ภาคประชาสังคม”  โดยคุณบรรชา ช่างเหล็ก ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (กสป.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณสินี จักธรานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) รวมทั้ง ยังมีกิจกรรมเสริมพลัง Happy Workplace สร้างสุของค์กรภาคประชาสังคม โดย คุณวินัยศักดิ์ เหมืองทอง (วิทยาการกระบวนการ) ผู้จัดการโครงการ SHAP กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 

ภายในงานยังมีการจัดบูธนิทรรศการประเด็นงานส่งเสริมสุขภาวะ จากหลายองค์กร อาทิ อาทิ แอปพลิเคชันสานสุข SAANSOOK สสส. , สำนัก 8 , กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม , เครือข่ายคนไทยไร้พุง , ธนาคารจิตอาสา และสถาบันสิงแวดล้อมไทย งานนี้เปิดโอกาสให้ ภาคีเครือข่ายกลุ่มภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) "ร่วมขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข ประกาศเจตนารมณ์ “ลด แอลกอฮอร์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน" และ Work Shop กิจกรรม "เสริมพลัง Happy Workplace สร้างสุของค์กรภาคประชาสังคม" ไปด้วยกัน