วุฒิสภา สานพลัง สสส.-ภาคี 15 องค์กร จัดงาน “Sang Sook - Happiness is All Around Festival”

28/01/2025 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 56
Share:

วุฒิสภา สานพลัง สสส.-ภาคี 15 องค์กร จัดงาน “Sang Sook - Happiness is All Around Festival” หนุนองค์ความรู้ สว.-ข้าราชการ-ลูกจ้าง ใช้วางแผนดูแลสุขภาพกาย-ใจ หลังพบ ปี 67 บุคลากรเสี่ยงป่วยโรค NCDs พุ่ง 64.98% และ         มีความเครียดเครียดสะสม-เสี่ยงป่วยซึมเศร้าสูง “เกรียงไกร” รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ชูแนวคิด Happy Workplace ช่วยคนทำงานมีสุขภาพร่างกายดี-จิตใจดี-สภาพแวดล้อมที่ทำงานดี   

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ม.ค. 2568 ที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และภาคีเครือข่าย 15 องค์กร จัดงาน “Sang Sook - Happiness is All Around Festival” ภายใต้โครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุข : การเสริมสร้างศักยภาพเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐสภาองค์กรแห่งความสุข เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรวุฒิสภา มีองค์ความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงเกิดความตระหนักรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนมีหน่วยงานเข้าร่วมให้บริการ จาก 13 องค์กร อาทิ  สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข,  คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี, บริษัทสันติรักษ์ เมดิคอล จำกัด, บริษัท ซีที เอชัย โรโบติกส์ จำกัด, กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวว่า วุฒิสภา มุ่งส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาวะดีทุกมิติ จึงร่วมกับ สสส. พัฒนาโครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุขฯ ตามหลักการองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) และความสุข 8 ประการ (Happy 8) จากรายงานผลตรวจสุขภาพบุคลากรสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จำนวน 1,222 คน ปี 2567 พบว่า บุคลากร 749 คน หรือ คิดเป็น 64.98% มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการนำไปสู่การป่วยโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง รับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ และมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าบุคลากรมีภาวะเครียดจากภาระงานหนัก จนทำให้เกิดภาวะความเครียดสะสมเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้า การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความเข้าใจในการดูแลสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ทำให้เกิดเป็นโมเดลรัฐสภาองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace Happy Life) ด้วยแนวคิด “สุขกาย สบายใจ ไร้หนี้ ชีวีมีสุข” พร้อมขยายผลสู่ประชาชนต่อไป       

ทางด้าน ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 กล่าวเสริมถึงงานดังกล่าวว่า ผมดีใจมากที่ในกลุ่มวุฒิสมาชิกในวุฒิสภานี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ วันนี้คนทำงานในรัฐสภามีความท้าทายและความเครียดเยอะมาก ที่จะต้องพยายามดันตัวเอง ดันประเทศขึ้นไปแข่งขันกับคนอื่น แบบนี้เลยเกิดเป็นความเครียดตามมาทันที และถ้าเราไม่ดูแลสุขภาวะ คนที่เป็นมันสมองของเรา ก็จะไม่ค่อยมีความคิดความอ่าน ในเรื่องของการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ดีให้ประเทศ ฉะนั่นเมื่อมีงานนี้ขึ้นมาทำให้เห็นคนแบบนี้เป็นแบบอย่างที่ดี เราต้องการองค์กรแบบนี้ ทำเรื่องราวดีๆ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมทำให้สุขภาวะดีขึ้นและทำงานอย่างมีความสุข ทำงานอย่างมีเป้าหมาย ทั้งยังดูแลสุขภาพกายและใจไปด้วย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดการร่วมมือกันเหมือนในวันนี้ 

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของคนวัยทำงาน จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ไทยมีคนวัยทำงานอยู่ 39 ล้านคน ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสุขภาพป่วยโรค NCDs ที่น่าสนใจยังพบว่ากลุ่มโรค NCDs ที่คร่าชีวิตคนวัยทำงานมากที่สุดอันดับ 1 คือ โรคเบาหวาน รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง มีสาเหตุจากการขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ สอดคล้องกับรายงานผลตรวจสุขภาพบุคลากรรัฐสภา ปี 2567 พบว่า มีบุคลากรป่วยเป็นโรค NCDs โดยมีไขมันในเลือดสูง 61.85% ภาวะโภชนาการ 61.96% ความสมบูรณ์เม็ดเลือดไม่ปกติ 39.32%

“สสส. สานพลังกับ วุฒิสภา ขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เกิดระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพและระบบที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ ชมรมออกกำลังกาย กิจกรรมให้คำปรึกษาบริการทางใจ รวมถึงจัดตั้งทีม ‘ฝ่ามือจันทรา CPR พาชีวิตรอด’ มุ่งส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจ ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง และ       เกิดต้นแบบนักสร้างสุของค์กรผู้นำสุขภาพ 103 คน ทั้งนี้ ในปี 2568 สสส. และวุฒิสภา ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร โดยหวังให้วุฒิสภาเป็นโมเดลองค์กรสุขภาวะต้นแบบยั่งยืน พร้อมขยายความร่วมมือกับองค์กรรัฐและเอกชน ส่งต่อชุดองค์ความรู้ นวัตกรรม และกระบวนการสร้างสุขภาวะ ที่ทุกองค์กรสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีและยั่งยืนต่อไป” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว