“4 กิจกรรมสร้างบุญสำหรับผู้คนยุค Next Normal” (Happy Workplace Talk #6)

22/06/2022 Happy Soul 2,956
Share:

“4 กิจกรรมสร้างบุญสำหรับผู้คนยุค Next Normal”

ตัวอย่างจากวัดชลประทานรังสฤษดิ์

         เนื่องในโอกาสที่เดือนพฤษภาคมของทุกปี มีวันสำคัญทางศาสนา คือ วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญของโลกสำหรับพุทธศาสนา สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สสส. จึงจัดให้มีเวทีเสวนาออนไลน์ ในชื่อ “ทำบุญให้สุขยุค Next Normal” โดยในเวทีดังกล่าว พระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ได้มาแบ่งปันประสบการณืการออกแบบนวตกรรมโดยใช้วัดเป็นพื้นที่กลางเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ามาร่วมกันทำบุญและเกิดเป็น “บุญยุค Next  Normal” ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ผูกพันกับเทคโนโลยี

บุญคืออะไร

            พระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ได้กล่าวถึงความหมายของ “บุญ” ว่า ในทางพุทธศาสนา หมายถึงการทำความดี ความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ หรือเรียกอีกอย่าง กุศล   และเราควรทำความเข้าใจเรื่องบุญให้ชัดเจน เพื่อให้การเดินสู่ความก้าวหน้าไปได้ถูกทาง 

            บุญคือความดี ตรงข้ามบาปคือความชั่ว เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็จะไปเรียนรู้เรื่องบาปง่ายขึ้น สำหรับหลักการทำความดีที่ก่อให้เกิดบุญ ประกอบด้วยคำสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่  1 เป็นระเบียบ 2 เรียบง่าย 3 ประโยชน์สูง 4 ประหยัดสุด และ 5 ถูกต้องตามธรรมวินัย หากทำอยู่ภายในกรอบทั้ง 5 ข้อนี้ การกระทำใดๆ ก็ตามถือเป็นบุญ แต่หากทำเกินกรอบนี้ก็ถือเป็นบาป ตามคำกล่าวของเจ้าอาวาส

 

จัดพื้นที่ในวัดเช่นไร เอื้อให้เกิดการทำบุญยุค Next Normal

            ในเวที Happy Talk ครั้งที่ 6  “ทำบุญให้สุขยุค Next Normal”  เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ หนึ่งในวิทยากร ท่านได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากการจัดพื้นที่ในวัดโดยใช้ผืนดินในที่โล่งแจ้ง ล้อมรอบด้วยต้นไม้ เป็นที่รองรับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งวัดชลประทานรังสฤษดิ์ตั้งชื่อว่า ลานหินโค้ง โดยไม่ต้องพึ่งเก้าอี้ แต่ออกแบบพื้นที่ให้เหมือนป่า เพื่อให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าในยุคที่พระองค์ออกเผยแพร่คำสอน

            นอกจากนั้น ยังมีการจัดอาคารต่างๆ ให้สะดวกและเอื้อต่อการเข้ามาทำบุญของพุทธศาสนิกชน เช่น อาคารจอดรถ อาคารสำหรับศึกษาที่ชื่อว่า อินเดียศึกษา อาคารสำหรับใช้ได้ทั้งสามฤดู เป็นต้น

             Next Normal  ด้วย 4 กิจกรรมสำหรับพื้นที่ของวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ประกอบด้วย

            1. บุญเวชศาสตร์ชะลอวัย  

            2. บุญเรียนรู้ระบบดิจิทัล 4,0 

            3. บุญธรรมสมรส 

            4. บุญดิจิทัลอัฐิ

 

บุญเวชศาสตร์ชะลอวัย เป็นการจัดหลักสูตรให้กับผู้ทุกวัยได้มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง โดยวัดเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้หลักสูตรดังกล่าวซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะมีการให้ความรู้ทั้งด้านกายและสุขภาพจิต  4 ด้านประกอบด้วยความรู้เรื่องโภชนาการ เป็นการให้ความรู้ว่าควรกินอาหารอย่างไรเพื่อป้องกันโรคที่ไม่เกิดจากการติดต่อ การใช้ศิลปะบำบัด เป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่ประชาชนที่มาเข้าอบรมหลักสูตรจะได้เรียนรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่มีการสอนในหลักสูตรนี้คือ ศาสตร์แห่งชีวิต เป็นการให้ความรู้ในเรื่องความงามทุกวัยว่าเป็นอย่างไร และด้านที่สี่คือ ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

บุญเรียนรู้ระบบดิจิทัล 4,0  เป็นการใช้สื่อดิจิทัลสมัยใหม่เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพ่อแม่ให้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดความสุข เกิดมิตรไมตรี โดยทางวัดมีการจัดอบรมในเรื่องการใช้ดิจิทัลเพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น หลักสูตรการใช้ Line เป็นเครื่องสื่อสารอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์  การออกแบบและการนำเสนอโดยใช้อินโฟกราฟฟิก และการรู้จักวิธีการใช้ Google Drive เป็นต้น  โดยการอบรมจะมีจิตอาสามาให้ความรู้

บุญธรรมสมรส   เป็นการให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตคู่ประกอบการจัดพิธีแต่งงาน นอกจากการจัดพิธีสมรสตามขั้นตอนของพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วยการทำบุญเลี้ยงพระ การหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ การทำบุญตักบาตรแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เพื่อจุดประกายให้คู่สมรสเกิดความคิดในการทำหน้าที่สามีและภรรยาให้สามารถครองคู่ชีวิตโดยไม่แยกแตกกัน

            บุญดิจิทัลอัฐิ   เป็นการจัดพื้นที่บูชาอัฐิบรรพบุรุษและบุคคลที่ควรบูชาภายในหอมนุษยชาติ เพื่อให้ผู้คนคลี่คลายความหวาดกลัวเกี่ยวกับการตาย โดยจำลองที่ปรินิพพานจากอินเดีย มาไว้ในสถานที่แห่งนี้ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าและพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วผ่านออนไลน์ โดยนำรูปผู้วายชนม์มาไว้ในระบบดิจิทัล และทำให้เกิดการจำลองสมดั่งคำที่ว่า “ขอให้พ่อแม่ได้ไปสวรรค์” พร้อมทั้งมีเสียงสวดมนต์ครบตามหลักของพุทธศาสนา เป็นนวตกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกผู้คนที่ต้องการทำบุญระลึกถึงบรรพบุรุษโดยสามารถรำลึกได้ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด ไร้ข้อจำกดเรื่องพื้นที่และเวลา