สุขตลอดปีที่ WD บ้านเรา

10/03/2022 Happy8workplace 2,872
Share:

สุขตลอดปีที่ WD บ้านเรา (All year happiness at Western Digital Home)

          หากจะถามว่าการสร้างองค์กรสุขภาวะควรจะเริ่มจากสิ่งใดเป็นสิ่งแรก ก็คงตอบได้ว่าความเชื่อถือเชื่อมั่น (Trust) เป็นสิ่งที่สำคัญสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงและปฏิบัติ  ทุกองค์กรจะอยู่รอดได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ Trust ระหว่างกันและกันในองค์กร พฤติกรรมผู้บริหาร ระบบในองค์กรจะเป็นสิ่งที่สะท้อน Trust ขององค์กร  บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (WD) ให้ความสำคัญกับ Trust ในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง โดยเชื่อว่าเมื่อคนในองค์กรมีความสุข Trust ที่มีต่อองค์กรก็จะตามมา 

          WD เริ่มทำ Happy Workplace โดยเริ่มจาก Happy Money  เนื่องจากพบว่าพนักงานมีรายได้มากขึ้น แต่ภาระหนี้สินของพนักงานก็มิได้ลดลง  จึงเริ่มจากการให้ความรู้พนักงานในแนวทางการใช้เงิน ชี้ให้เห็นว่าอะไรสำคัญต่อชีวิต  แต่ผลที่ปรากฏคือภาระหนี้สินลดลงไม่มาก เมื่อได้รู้จักกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. จึงพบว่า Happy Money เป็นเพียง 1 ใน 8 มิติของ Happy 8  จึงให้ความสำคัญและการดำเนินกิจกรรมกับความสุขในมิติอื่นๆด้วย     

ในอดีตที่ผ่านมาองค์กรใช้กลยุทธ์ให้พนักงานทุกคนเป็นฝ่ายได้รับจากบริษัท “ I give you take” ผ่านกิจกรรมต่างๆ ใครๆก็ชอบ เมื่อจะยกเลิกกิจกรรมก็เกิดแรงต้าน องค์กรจึงต้องใช้การสื่อสารภายในและเวลาในการปรับเปลี่ยนโดยยังคงยึดแนวทาง

  1. ใช้งบประมาณตามกรอบเดิม เพื่อปรับกิจกรรมทั้งหมดที่เคยทำมา
  2. ใช้ Happinometer เป็นเครื่องมือในการวัด Happy 8 ทั้ง 8 มิติ เพื่อหาbaseline ความสุขของพนักงานแต่ละมิติ
  3. เน้นการประชุมทีมงานเพื่อกำหนดการดำเนินงานตามน้ำหนักของความสุขแต่ละมิติ โดยใช้ฐานข้อมูลของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรอื่นในแต่ละมิติ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้

4. เริ่มเห็นความแตกต่างจากในอดีต  I give you take เป็นเราร่วมกันเพื่อ Give เพราะฉะนั้นกิจกรรมจึงไปที่การสร้างความสุข โดยมีอาสาสมัครภายในบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสุขจากการให้ผู้อื่น อาสาสมัครเกิดจากการเสนอตัวว่าใครจะร่วมดำเนินการใน Happy 8 มิติใด  ภายใต้กรอบงบประมาณโดยผู้บริหารองค์กรคอยให้คำแนะนำ ส่งผลให้เกิดภาพการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรม

ในส่วนของกิจกรรม CSR เพื่อสังคม WD ประเทศไทย เสนอประเด็น CSR Strategy ต่อ Corporate Group ระหว่างประเทศ 3 ประเด็น คือ หยุดคนอดอยาก , STEM Education โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21เข้ามาช่วย  , Environment  โดย WD นำทั้ง 3 ประเด็น เข้ามาดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด Happy 8 ซึ่งพบว่าได้สอดคล้องลงตัวกันพอดี ปัจจุบัน WD ขับเคลื่อนกิจกรรม Happy Workplace ใน 2 แนวทาง คือ

1.Bottom up  ตามแนวคิด Happy 8 เช่น โครงการการดูแลพนักงานระหว่างตั้งครรภ์ (Pragnant Ladies)  มุมนมแม่  สุนทรียสนทนาในองค์กร เป็นต้น 

2.Top Down ผ่าน CSR strategy ทั้ง 3 ประเด็น เช่น ครูอาสา (Volunteer Teacher) โครงการช่วยเกษตรกร (Support Farmers) โครงการคนพิการคืนถิ่น เป็นต้น

          จากการดำเนินโครงการ Happy Workplace ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การสำรวจดัชนีแห่งความสุข Happinometer ของบุคลากรในองค์กร ซึ่งทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องทุกๆ 6 เดือน สูงขึ้นทุกปี และเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่ผลความผูกพันในองค์กร (Engagement) ของ WD ประเทศไทยสูงที่สุดในกลุ่ม WD 30 ประเทศทั่วโลก ยังให้ผลให้ Happy Workplace และ Happinometer เป็นที่รู้จักในกลุ่มของ WD Corporate

          วิกฤตน้ำท่วมปี 2554 แม้ว่า WD ประเทศไทยต้องหยุดการผลิตเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง แต่ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความผูกพัน ความไว้เนื่อเชื่อใจกันของคนในองค์กรทุกระดับ ส่งผลให้ WD ประเทศไทยสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ภายหลังวิกฤตเพียง 46 วัน โดยยังคงอัตราการจ้างงานทุกอัตรา ทั้งๆที่มีการคาดการณ์จากภายนอกว่าน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีในการฟื้นตัว 

          จากประสบการณ์ของ WD จุดเน้นในการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ ในสภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีทั้งความไม่แน่นอน และโอกาส คนรุ่นใหม่ๆมีความต่างและมีต้องการที่ต่างกัน ดังนั้นจุดเน้นที่สำคัญคือ ผู้บริหารองค์กรต้องให้อิสระทางความคิดแก่ทีมอาสาสมัครในการสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆที่เหมาะสมกับบริบทองค์กร และให้การสนับสนุนในภาพกว้างเพื่อนำมาซึ่ง “สุขตลอดปีที่ WD บ้านเรา (All year happiness at Western Digital Home)”

 

 ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ 

รองประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4

รองประธาน และผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย)จำกัด 

ฝ่ายปฏิบัติการฮารด์ดิสก์ไดรฟ์ ประเทศไทย