การสร้างองค์กรสุขภาวะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในระบบราชการ

29/06/2023 Happy8workplace 581
Share:

แนวทางการทำงานที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบราชการ อาจยึดหลักตามแนวคิด

‘สุขภาวะ’ที่อธิบายลึกถึงระดับบุคคลว่าเป็นการรักษาระดับคุณภาพชีวิตแต่ละด้านให้สมดุลและยืดหยุ่นได้ในแต่ละคนสถานการณ์และช่วงชีวิต และแนวคิด ‘สุขภาวะองค์กร’ คือการที่ทั้งคนและองค์กรร่วมกันกระทำให้เกิดขึ้นที่มีคุณค่าและความสำเร็จซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับโดยแนวทางที่เสนอสามารถสะท้อนออกมาเป็นรูปแบบที่มีองค์ประกอบ สำคัญ 4 ส่วน ดังนี้

 

1. การสร้างกระบวนการบริหารใหม่

โดยกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ให้มีค่านิยมภายใต้สังคมสุขภาวะเชิงป้องกัน (Preventive Approach) หมายถึงการลงมือทำแบบเชิงรุกเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดด้วยการกำหนดให้คุณภาพชีวิตการทำงานเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ ‘คน’ มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างรอบคอบรวมทั้งกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานตามบริบทแห่งองค์กร ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของบุคลากรไปพร้อมกันกับคุณภาพงานต้องผลักดันและจัดสรรทรัพยากรสำหรับการสร้างคุณภาพชีวิตการทำงาน มีระบบงบประมาณและการบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อนแนวคิด

 

2. ปรับทัศนคติเปลี่ยนพฤติกรรม

โดยดำเนินงานตามกระบวนทัศน์การบริหารใหม่อย่างเป็นรูปธรรม สร้างการเรียนรู้ เสริมพลัง (Synergy) เน้นที่การปลูกฝังแนวคิดคุณภาพชีวิตการทำงานและการจัดการตนเองทั้งระดับองค์กรและบุคคล มีการทำกิจกรรมก้าวแรกที่ไม่ยากเกินไป เสริมกระบวนการการบอกเล่าเรื่องราว ถอดบทเรียน ความสำเร็จของบุคลากรและองค์กร

 

3. กิจกรรมลงลึกทุกภาคส่วน

โดยสร้างพื้นที่รองรับการดำเนินงานบนความร่วมมือและดำเนินการทั้งระดับปัจเจกและระดับองค์กร จัดให้บุคลากรทุกประเภทและระดับในส่วนราชการ ทั้งฝ่ายบริหารทุกระดับและผู้รับผิดชอบงานทรัพยากรบุคคลเข้ามาร่วมคิดและร่วมทำอย่างครบถ้วนทุกภาคส่วน มีการกำหนดวิธีการดำเนินการโดยส่งเสริมให้บุคลากรสำรวจค้นหาความต้องการของบุคลากรและองค์กรในเชิงลึก ทำงานร่วมกันเพื่อหาความหมายและสร้างคุณภาพชีวิตให้เกิดเป็นค่านิยมและความยั่งยืน ส่งเสริมการแบ่งปันการเรียนรู้ ประสบการณ์ เครื่องมือ และทรัพยากรอำนวยความสะดวกให้มีการเข้าถึงแหล่งความรู้และแหล่งทรัพยากรทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรมีการพัฒนาต่อยอดเครื่องมือที่ใช้ในองค์กรของตน ซึ่งเป็นลักษณะของการตรวจสอบตนเอง

 

4. ยกระดับวัฒนธรรมองค์กร

การผลักดันนโยบายให้เกิดเป็นพฤติกรรมองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร ให้ความสำคัญกับการสื่อสารนโยบายในทุกระดับใช้คุณภาพชีวิตการทำงานเพื่อแสดงผลจากการมีนโยบาย และโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ที่ องค์กรได้ดำเนินการไปแล้ว และมีการนำผลการดำเนินการมาวิเคราะห์เพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการสังเคราะห์รูปแบบการดำเนินการใหม่ที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการในปีต่อไปบุคลากรและองค์กรทำงานร่วมกันเพื่อหาความหมายให้เหมาะสมกับบริบท และสร้างคุณภาพชีวิตให้เกิดเป็นค่านิยมและความยั่งยืน

 

แนวคิดการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรภาครัฐเป็นนโยบายอย่างหนึ่งที่ต้องมีการขับเคลื่อน โดยเฉพาะการสร้างคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการทำงาน เพราะบางจุดของคนภาครัฐก็ถูกมองข้ามและละเลยไป

 

ข้อมูลจาก หนังสือ: คุณภาพ ชีวิตการทำงาน เรื่องเล่าจากผู้บริหารองค์กรภาครัฐ

ผู้เขียน ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน