เรี่องเล่าพลังบวร

25/05/2022 คลังความรู้, บทความ 2,617
Share:

สำนักงานส่งเสริมความร่วมมือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)

และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เรี่องเล่าพลังบวร

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ได้สนับสนุนให้เกิดโครงการสร้างชุมชนพลังบวรรักษ์ถิ่นเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา จังหวัดศรีสะเกษ เป้าหมายสำคัญของการสร้างเครือข่ายพลังบวรในพื้นที่ตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางกู่ จังหวัดศรีสะเกษครั้งนี้ คือการยกระดับการดูแลสุขภาพของสมาชิกในชุมชน โดยการวางเครือข่ายเเละกิจกรรมสนับสนุนตั้งเเต่ระดับโรงเรียน (โรงเรียนบ้านเหล็ก) คณะสงฆ์  ซึ่งมีพระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกา เจ้าคณะตำบลพิมาย เขต 2 พระมหาวินัย จิตฺตามโย เจ้าอาวาสวัดศรีปรางค์กู่ ร่วมเป็นคณะร่วมดำเนินกิจกรรม เเละฝ่ายปกครอง ซึ่งแต่ละภาคฝ่ายได้ให้การสนับสนุนเเละตื่นตัวเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้โครงสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนในพื้นที่แห่งนี้ ยังมีความผูกพันผ่านกลไกระบบเครือญาติเป็นพื้นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเเละการสร้างกิจกรรมความสามัคคีอยู่ ดังนั้นเมื่อมีการระดมเครือข่ายการดำเนินการที่จะกำหนดทิศทางการสร้างเครือข่ายพลังบวรวิถีพุทธ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของการลดปัจจัยเสี่ยง (ยาสูบ เเละเครื่องดื่มแอลกฮอล์) ผลที่ตามมาคือได้รับความร่วมมือทั้งจากคณะสงฆ์ ผู้นำชุมชนตามบารมี ผู้นำชุมชนฝ่ายปกครอง และสมาชิกจากชุมชนเป็นอย่างดี

          สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไป ทางโครงการการสร้างชุมชนพลังบวรรักษ์ถิ่นเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา จะดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ 3 มิติ กล่าวคือ 
          มิติที่ 1 พลังโรงเรียน คือการยกระดับการเรียนรู้เเละการสร้างกลไกพัฒนาความสัมพันธ์แบบความไว้วางใจทางสังคม (trust society) คือสร้างกลุ่มเเละกิจกรรมที่ลดช่องว่างความสัมพันธ์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ เเละ คนรุ่นเก่าได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งผ่านประสบการณ์ที่จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อชุมชน และช่วยสร้างการตระหนักรู้เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพได้อย่างชัดเจน

          มิติที่ 2 พลังวิถีพุทธ คือการขับเคลื่อนกิจกรรมของคณะสงฆ์ ที่ดำเนินการได้ทั้งจากงานบุญประเพณีภายในวัด ที่จะสร้างสัญญาประชาคมระหว่างกันในการสร้างงานบุญปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ อีกทั้ง
การสนองการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ด้วยการร่วมเคลื่อนโรงเรียนเเละหมู่บ้านรักษาศีล5 ในการใช้กลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้ามาร่วมปลูกฝังค่านิยมการรักษาสุขภาพควบคู่กับการรักษาศีลให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

           มิติที่ 3 พลังชุมชน คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้นำชุมชน ผู้นำครอบครัว เเละเยาวชนได้มีกิจกรรมเเละพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสุขภาพร่วมกัน เช่น การสร้างลานกีฬา กิจกรรมดูหนังตามหาแก่นธรรม และสมาธิเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้หากสามารถสร้างความสัมพันธ์และผลักดันการพัฒนากิจกรรมเครือข่ายชุมชนสุขภาวะวิถีพุทธร่วมกันได้ จะสามารถยกระดับเครือข่ายการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

38721E68-9831-4AAA-99AC-1EDB6D1B437C.jpg

          ตามที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการบูรณาการไตรภาคีการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้การขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงเดินหน้าไปได้อย่างเข้มเเข็ง ในระยะต่อไปจะมีการขับเคลื่อนการก่อร่างพัฒนาเครือข่ายโดยมุ่งหน้าสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการกำหนดกิจกรรมในการลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพวิถีพุทธเป็นกิจกรรมที่มีการเข้ามามีส่วนร่วมและระบบกลไกที่ครอบคลุมทั้งบ้าน วัด โรงเรียน(ราชการ) ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

เนื้อหาโดย

prayoon.png

 พระมหาประยูร โชติวโร

ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย