“A-L-E-R-T” สิ่งที่องค์กรควรทำในการ Reskill และ Upskill

27/01/2023 Happy8workplace 1,399
Share:

ภายหลังจากเกิดสถานการณ์โรคโควิด 19 ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ปัญหาการว่างงานที่สูงขึ้น คนจำนวนมากสูญเสียรายได้ไป โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีทักษะน้อย ทางออกสำคัญคือต้องเร่งพัฒนาทักษะของแรงงานอย่างทั่วถึง ทั้งการปรับทักษะ (Reskilling)และเพิ่มทักษะ(Upskilling)

 

จากผลการสำรวจของ EIC Labor Survey 2021 ได้ข้อสรุปว่าการพัฒนาทักษะแรงงานไทยที่ต้องการสนับสนุนอย่างรอบด้านและทั่วถึงซึ่งองค์กร หรือ ผู้บริหารควรต้องให้ความสำคัญ มีอยู่ 5 ด้านด้วยกันคือ “A-L-E-R-T”

 

 “A”Advice and guidance for skill development

การให้ข้อมูลและคำแนะนำ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับความจำเป็นของการพัฒนาทักษะในทุกสาขาอาชีพตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และการให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งความรู้ความเข้าใจในความต้องการของตนเองและปัจจัยแวดล้อมเกี่ยวกับการทำงาน จะช่วยให้แรงงานเห็นแนวทางและเป้าหมายซึ่งถือเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการพัฒนาตนเอง

 

 “L” - Lifelong-learning environment

การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ที่การพัฒนาทักษะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยควรเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้และสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย ต้นทุนต่ำ มีทางเลือกที่หลากหลาย เหมาะสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยช่องทางออนไลน์ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งถือเป็นช่องทางที่คนทำงานส่วนใหญ่ให้ความนิยมสูงสุดจากผลสำรวจ ดังนั้นสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องจำเป็น

 

 “E”-Experience improvement

การสร้างประสบการณ์ที่ดี โดยจากข้อมูลผลสำรวจพบว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้เรียนยังต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะที่ผ่านมา การให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเรียนรู้จึงน่าจะช่วยลดอุปสรรคไปพร้อม ๆ กับเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนให้แก่คนจำนวนไม่น้อย ผ่านการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เรียน ออกแบบคอร์สที่ตรงตามความต้องการของผู้เรียน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้น

 

 “R” - Recognition of skill development

การให้การยอมรับกับการพัฒนาทักษะของแรงงาน โดยจากผลสำรวจพบว่าแรงงานมีการระบุถึงสิ่งที่ต้องการที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับ เช่น ความต้องการใบประกาศนียบัตรรับรอง ความต้องการหลักสูตรที่ออกแบบจากภาคธุรกิจหรือองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นต้น การได้การยอมรับจากนายจ้างและสังคมจะช่วยให้ผลลัพธ์ของการพัฒนาทักษะถูกนำไปใช้งานจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งแรงงานและภาคธุรกิจ รวมถึงจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจในภาพรวม

 

 “T” - Targeted measures for underprivileged groups

การสนับสนุนกลุ่มขาดโอกาส ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาทักษะในชวงที่ผ่านมายังมีกลุ่มที่ขาดโอกาสอยู่ การสนับสนุนการพัฒนาทักษะอย่างทั่วถึงจึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงแก่แรงงานที่ขาดโอกาสซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ต้องการการพัฒนาทักษะมากที่สุด เพื่อให้แรงงานทุกคนรอดจากวิกฤตและปรับตัวได้ไปพร้อมกัน

 

ที่มา 

รายงานผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะและการทำงานปี 2021 (EIC Labor Survey 2021) “Reskill Upskill ทางรอดแรงงานไทยที่ยังไปไม่พร้อมกัน”