5 สไตล์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังโควิด

27/01/2023 Happy Relax 6,065
Share:

 

เมื่อเราเริ่มปรับตัวได้กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พื้นที่การท่องเที่ยวเปิดตัว ผู้คนที่ต้องอัดอั้นอยู่ในมาตรการป้องกันโควิดมาเป็นเวลา 2 ปีกว่า ต่างวางแผนการเดินทางออกไปท่องเที่ยว ราวกับผึ้งแตกรัง ...แต่ไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวในวันนี้มีความแตกต่างไปจากเมื่อ 2-3 ปีก่อน

 

Booking.com ได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของผู้เดินทางกว่า 30,000 คน ใน 32 ประเทศ ซึ่งเผยให้เห็นว่าหลังวิกฤตโรคระบาดคลี่คลาย เมื่อต้องพิจารณาถึงการออกเดินทาง ผู้เดินทางยังคงให้ความสำคัญกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากทริปของพวกเขามาเป็นอันดับแรก ส่งผลให้ตัวเลือกการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนจะขยับขึ้นมาเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากกว่าเรื่องความสะดวกสบาย เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความตระหนักต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นมีเพิ่มมากขึ้น

 

5 สไตล์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังโควิด

 

1. ตามหา ‘ที่พักรักษ์โลก’

เมื่อนักเดินทางสนใจเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากรายงานพบว่า 95% ของนักเดินทางมีความตั้งใจจะใช้บริการที่พักรักษ์โลกหรือกลุ่ม ‘โรงแรมสีเขียว’ อย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีหน้า ด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่ 1) ความต้องการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของตนเอง 2) ความต้องการสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน

และ 3) ความเชื่อที่ว่าที่พักกลุ่มดังกล่าวจะสามารถดูแลผู้คนและชุมชนได้ดีกว่า

นักเดินทาง 26% มองว่าที่พักรักษ์โลกมีสไตล์ที่น่าสนใจและอินเทรนด์ ในขณะที่ 24% มองว่าที่พักรักษ์โลกจะมีมุมถ่ายรูปสวย ๆ สำหรับการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย และช่วยเติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยว เช่นลดการสร้างขยะ การใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็นเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และทำให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกเพราะได้ทำสิ่งดี ๆ เพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม

 

2. เปิดใจ ‘ท่องเที่ยวเมืองรอง’

นักเดินทางมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เป็นกระแส ไปสู่เมืองรองมากขึ้น โดยนักเดินทาง 35% จะเปลี่ยนไปท่องเที่ยวเมืองรองก่อนในอันดับต้น ๆ เนื่องจากพวกเขามองว่าการเปลี่ยนจากเที่ยวเมืองหลักมาสู่เมืองรอง จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนในมิติการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ท้องถิ่น และสร้างผลลัพธ์การเดินทางของพวกเขาให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

มีนักเดินทางกว่า 84% จะหลีกเลี่ยงแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นกระแส และ 42% มีจุดหมายสำรองและพร้อมเปลี่ยนแผนการเดินทาง หากพบว่าแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางไปมีปัญหานักท่องเที่ยวล้น โดยหากมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป อาจทำให้ความต้องการที่จะสร้างความยั่งยืนทำได้ยากขึ้นเท่ากับจะมีอัตราการใช้ทรัพยาการสูงมากขึ้น และอาจทำให้การบริหารจัดการซับซ้อนกว่าเดิม

 

3. หลีกเลี่ยง ‘High Season’

ช่วง High Season มักมีนักท่องเที่ยวหนาแน่น ยิ่งมีจำนวนคนมากก็มักทำให้การบริหารจัดการอย่างยืนทำได้ยากมากขึ้น และที่สำคัญทำให้ความรู้สึกอยากท่องเที่ยวลดลงอีกด้วย นักเดินทางในยุคหลังโรคระบาดจึงมีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงเดินทางในฤดูกาลท่องเที่ยว โดย 46% กล่าวว่าในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปท่องเที่ยวนอกฤดูกาลแทน

 

4. สัมผัส ‘วิถีชีวิตชุมชน’

โรคระบาดส่งผลให้ผู้คนโหยหาการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น จากรายงานพบว่า 79% ของแผนการท่องเที่ยวในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวชุมชน สิ่งนักเดินทางคาดหวังมากที่สุดคือการได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะถือเป็นการได้ออกเดินทางท่องโลก เปิดมุมมองแปลกใหม่ และสัมผัสวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น เพื่อค้นหาความหมายและคุณค่าของชีวิต

นักเดินทางมองว่าการลงไปใกล้ชิดกับความเป็นชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนผ่านการอนุรักษ์และนำพารายได้เข้าสู่ท้องถิ่น พวกเขาอยากเห็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ที่เดินทางไปผ่านการสร้างความคุ้นเคยและความรู้สึกมีส่วนร่วม ซึ่งทำให้เหล่านักเดินทางกว่า 38% ยินดีที่จะใช้จ่ายอย่างเต็มที่หรือมากขึ้นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน หากมั่นใจว่าชุมชนจะได้รับผลตอนแทน

 

5. เปลี่ยนแปลง ‘วิธีการเดินทาง’

นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มให้ความสำคัญต่อรูปแบบการเดินทางขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ นักเดินทางที่มีเป้าหมายส่งเสริมความยั่งยืนจะลดปริมาณการใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงลง ในที่นี้มี 43% มองว่าการเปลี่ยนวิธีเดินทาง คือ ‘หัวใจของความยั่งยืน" มีนักเดินทางกว่า 54% ตอบว่ารู้สึกละอาย หากวิธีการเดินทางปล่อยมลพิษมากเกินไป เช่น การเดินทางโดยเครื่องบิน หรือรถยนต์หลายคัน

ผู้เดินทางมีความพร้อมที่จะลงมือทำด้วยตนเองมากขึ้น และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของตนเอง แม้บางสิ่งบางอย่างอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงไป แต่การมีตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากกว่าจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น

 

นี่คือผลสำรวจความคิดเห็นของนักเดินทางจากทั่วโลกเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่ให้ความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของชุมชน เป็นการเดินทางเพื่อการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ บางเรื่องอาจยังไม่ค่อยสอดคล้องกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวคนไทยเรา แต่ก็เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ที่มา

 https://tatacademy.com/th/