องค์กรยุคใหม่ ช่วยดูแลใจพนักงาน “ใจพัง ก็ไม่มีพลังมาทำงาน”

28/06/2023 Happy8workplace 1,479
Share:

ปัญหา Toxic Work Environment หรือบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษในองค์กร ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงาน  มีสถิติ Mental Health ของโลก จาก WHO ระบุว่า คนในโลกนี้ทุก 8 คนจะมี 1 คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาสุขภาพจิต ทุกการเสียชีวิต 100 ครั้ง จะมี 8 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย ในประเทศไทยเอง มีผลสำรวจจาก Mental Health Check In ในปี 2565 จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวน 1,149,231 ราย พบว่า มีอัตราความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 5.47 ภาวะหมดไฟ 4.59 และมีความเครียดสูงร้อยละ 4.37 ผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2565  จึงทำให้หลายๆ องค์กรเริ่มหันมาใส่ใจปัญหา และมีสวัสดิการที่ช่วยเรื่องสุขภาพจิตของพนักงานมากยิ่งขึ้น 

 

Communication is a key… คอยสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ

การต้องอยู่ห่างกันทำให้ทุกคนไม่ค่อยมีโอกาสได้พบปะพูดคุย ไม่เพียงแค่ความไม่เข้าใจ ไม่ราบรื่นในการทำงาน แต่ยังหมายถึงความรู้สึกว้าเหว่ ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไป Local Alike สตาร์ทอัพไทย จึงจัดให้มีการประชุมออนไลน์สั้นๆ ในช่วงเช้าทุกวัน ให้ทุกคนได้มาอัปเดตงานที่ทำ พร้อมช่วยรับฟังปัญหาและเสนอแนะวิธีแก้ไข รวมถึงสารทุกข์สุขดิบ อื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องงาน

 

Employee Engagement… หากิจกรรมสนุกๆ ให้พนักงานคลายเครียด

ถ้าต้องโฟกัสแต่เนื้องานที่ทำอย่างเดียว ยิ่งทำให้คนทำงานรู้สึกเครียดเป็นพิเศษ HP บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ จึงหากิจกรรมออนไลน์พิเศษๆ มาให้คนทำงานได้เปลี่ยนบรรยากาศ หลุดออกจากโลกที่มีแต่เรื่องงาน เช่น “Family Fun Fridays” ศุกร์หรรษา ที่ให้พนักงานและคนในครอบครัวมาสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน เช่น การดูภาพยนตร์ ดู Live Music หรือพาสัตว์เลี้ยงมาอวดความน่ารักกันผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์

 

Flexible Work Timing… ให้อิสระในการจัดสรรเวลาทำงานได้เอง

ไม่ใช่แค่ต้องดูแลตัวเอง แต่พนักงานบางส่วนยังมีภาระต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยร่วมกัน ซึ่งอาจทำให้ใช้สมาธิกับการทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ Tarrakki สตาร์ทอัพอินเดีย จึงออกนโยบายเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ให้พนักงานสามารถจัดสรรเวลางานได้เองตามสภาพแวดล้อมที่บ้าน เช่น สามารถเข้างานช่วงบ่าย แล้วไปเลิกงานดึกขึ้น หรือย้ายวันทำงานจากวันธรรมดา ไปทำในวันเสาร์ – อาทิตย์ แทนได้

 

Fund for Employee… มีนโยบายช่วยเหลือด้านการเงิน

โรคระบาดอาจส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของพนักงานแบบไม่ทันตั้งตัว เช่น รายได้ที่ขาดหายไป ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออาจต้องแบกรับภาระการเงินเพราะสมาชิกในครอบครัวตกงาน Cred สตาร์ทอัพด้านการเงิน จึงมีนโยบายในการช่วยเหลือพนักงาน ให้สามารถเบิกเงินเดือนล่วงหน้ามาใช้ในกรณีฉุกเฉิน และช่วยออกค่าใช้จ่ายของใช้สิ้นเปลือง เช่น หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ

 

Mental Health Counselling… จัดโปรแกรมปรึกษาสุขภาพจิตให้ฟรี

พนักงานบางรายที่มีภาวะเครียดรุนแรงเป็นพิเศษ การให้คำปรึกษาไม่ถูกวิธี อาจส่งผลร้ายมากกว่าดี Innovaccer สตาร์ทอัพยูนิคอร์นจากอินเดีย จึงจัดสวัสดิการให้พนักงานสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงยังช่วยดูแลค่าใช้จ่ายการรักษาตรงนี้ให้อีกด้วย

 

จะเห็นว่าหนึ่งในเหตุผลที่พนักงานเลือกที่จะลาออกจากที่ทำงานมาจากความ Toxic จากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างของบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ ได้แก่ การรวมกลุ่มซุบซิบนินทา, บรรยากาศหดหู่ไม่ friendly ในที่ทำงาน, การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน, หรือความรู้สึกไม่มีคุณค่าในที่ทำงาน เป็นต้น เพื่อเป็นการรักษาพนักงานของคุณให้อยู่กับองค์กรได้นาน ๆ บริษัทควรจัดหาสวัสดิการด้านสุขภาพจิตให้พนักงานทุกคนทำงานได้อย่างแฮปปี้

 

ที่มา 

https://www.nia.or.th/EmployeesManagement

https://techsauce.co/report/futures-of-mental-health-in-thailand-2033