How to ปรับ Canteen ให้ Healthy

27/01/2023 คลังความรู้, บทความ 1,975
Share:

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประชาชนวัยทำงานมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่จากข้อมูลสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2557 - 2558 พบว่า คนไทยวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วน ร้อยละ 37.5 และพบโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ร้อยละ 8.9 และ 24.7 นอกจากนี้ ข้อมูล Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2558 - 2562 พบว่า ประชาชนวัยทำงานอายุ 30 - 44 ปีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติ คือ ร้อยละ 52.5, 51.4, 51.8 52.8 และ 51.9 ตามลำดับ และสถานการณ์ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การมีกิจกรรมทางกายและการกินผักผลไม้ไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรค ยังคงแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

การปรับให้โรงอาหารภายในองค์กร เป็น “Healthy Canteen” ที่ใส่ใจสุขภาพของพนักงานในองค์กรซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนวัยทำงานสามารถควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับร่างกาย ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการให้ร้านค้าต่างๆ ปรุงอาหารแบบลดเค็ม ลดหวาน ลดมัน เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคอ้วน และ อื่นๆอีกมากมายที่จะตามมา

 

ทั้งนี้ กรมอนามัยได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานโรงอาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ (Healthy Canteen) ประกอบด้วย 7 ข้อ ดังนี้ (1) ผ่านเกณฑ์ด้านสุขาภิบาลอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 จำนวน 4 หมวด 35 ข้อ (2) มีเมนูชูสุขภาพ อย่างน้อยร้านละ 1 เมนู (3) มีร้านจำหน่ายผลไม้สด อย่างน้อย 1 ร้าน (4) ผู้บริโภคสามารถเลือกให้ผู้ประกอบการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มต่างๆ ได้ (5) มีป้ายบอกปริมาณโซเดียมและปริมาณน้ำตาล ต่อการตัก 1 ช้อนชา ที่โต๊ะวางเครื่องปรุง (6)

มีการติดป้ายบอกพลังงานและสารอาหารต่ออาหาร 1 จาน บริเวณโรงอาหาร และ (7) มีการสร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการ สุขาภิบาลอาหารให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว

ดังนั้นวันนี้ลองดูวิธีที่จะทำให้โรงอาหารภายในองค์กรเป็น Healthy Canteen กันค่ะ ทำได้ไม่ยากเลย

 

1. จัดทำป้ายให้ความรู้ในเรื่องอาหารโภชนาการ 

เช่น บอกพลังงานที่ควรได้รับแต่ละวัน อาหาร 5 หมู่มีอะไรบ้าง คุณค่าจากการได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน เมนูเพื่อสุขภาพ หรือ ทำป้ายบอกปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงต่างๆวางไว้ตรงมุมเครื่องปรุง เป็นการกระตุ้นเตือนให้ต้องใส่ใจดูแลอาหารแต่ละอย่างที่จะบริโภคเข้าไป ...ทั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้ควรมีการปรับเปลี่ยนตามระยะเวลาที่เหมาะสมนะคะ

 

2. รณรงค์ “หนึ่งร้าน หนึ่งเมนูสุขภาพ” 

โดยอาจจัดอบรมให้ความรู้กับให้พ่อครัว แม่ครัว ในการจัดทำเมนูเพื่อสุขภาพ เพื่อให้เป็นทางเลือกให้พนักงานที่ต้องการดูแลสุขภาพ เช่นการปรุงอาหารโดยมีส่วนประกอบของ ปลา ถั่ว เต้าหู้ ประกอบอยู่ในอาหาร 1 จานต่อ 1 คน หรือ ปรุงอาหารไม่เกิน 600 กิโลแคลอรี่ ต่อมื้อ ต่อคน

 

3. จัดอบรมให้ร้านค้าภายในโรงอาหาร 

การให้ความรู้ด้านสุขาภิบาลทางอาหารนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของการเริ่มต้นเป็นHealthy Canteen โดยการจัดให้พ่อครัว แม่ครัว ได้ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการดูแลสุขภาพ และ ให้ความรู้ด้านโภชนาการการปรุงอาหารที่เหมาะสมต่อบุคคล โดยจะต้องมีการอบรมจากผู้ที่มีความรู้ทางด้านโภชนาการโดยตรง เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้านำประยุกต์ใช้กับร้านของตนเอง

 

4. ป้ายบอกปริมาณน้ำตาลบริเวณร้านขายน้ำหรือตามจุดต่างๆ 

เนื่องจากน้ำตาลในเครื่องดื่มต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าหากเรากินเข้าไปในปริมาณที่เกินกำหนด อาจส่งผลให้เราเป็นโรคอ้วนตามมาได้ โดยใน 1 แก้วนั้น ไม่ควรกินน้ำตาลในปริมาณ 2 ช้อนชา ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าควรมีทางเลือกให้แก่ ผู้บริโภคได้ทานในปริมาณที่ลดน้ำตาลลง หรือ ทำป้ายข้อมูลโภชนาการเพื่อให้พนักงานในองค์กรได้คำนึงก่อนที่จะซื้อว่าในวันนั้นร่างกายควรได้รับน้ำตาลในปริมาณไหน มากน้อยเพียงใด

 

5. เปิดพื้นที่ขายของเพื่อสุขภาพ 

อย่างเช่น น้ำผักสกัดเย็น ผักปลอดสารพิษ อาหารพร้อมทาน ขนมเพื่อสุขภาพ หรือ ผลไม้สดพร้อมทาน อาจเป็นอีกทางเพื่อให้พนักงานได้จับจ่ายสินค้า และ ยังสามารถนำกลับไปกินที่บ้านต่อได้

 

6. จัดมุมอาหารสวัสดิการให้แก่พนักงาน 

ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม หรือ อาหารคาว เครื่องเคียง อย่างเช่น น้ำพริก ผักต้ม ให้บริการฟรีแก่พนักงาน เพื่อเพิ่มเติมปริมาณอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

 

7. จัดประกวดร้านอาหารสุขภาพดี 

เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพ่อครัว แม่ครัว และร้านค้า ในการที่จะผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพมาจำหน่ายให้กับพนักงาน

 

การที่องค์กรจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ย่อมไม่ได้หมายถึงมีความสามารถในการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่สุขภาพที่ดีของคนทำงานในองค์กรก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย จุดเริ่มต้นนั้นสามารถเริ่มจาก

โรงอาหาร โดยให้พนักงานได้ใช้โรงอาหารในองค์กรที่ดีต่อสุขภาพมีอาหารคุณภาพดี รสชาติถูกปาก เพราะ “สุขภาพของพนักงานคือพื้นฐานขององค์กรแห่งความสุข" 

 

ที่มา  www.thaihealthcenter.org