7 เคล็ดลับสอนลูกให้รู้จัก “ปรับอารมณ์”

27/01/2023 Happy Family 2,564
Share:

เมื่ออยู่ที่ทำงานแล้วเจอเพื่อนร่วมงาน หรือ เจ้านายเจ้าอารมณ์ ก็เหนื่อยแล้ว กลับมาถึงบ้านเจอลูกใช้อารมณ์ฟุ่มเฟือย แยกแยะอารมณ์ไม่ค่อยได้ โกรธ หิว ไม่พอใจปนเปกันไปหมด เวลาวีนแต่ละทีคุณแม่คุณพ่อก็หัวปั่นเหมือนกันเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร

วันนี้เลยอยากจะแชร์เคล็ดลับที่จะสอนเจ้าตัวเล็ก เจ้าชายเจ้าหญิงของบ้านให้รู้จักแยกแยะอารมณ์ของเขาซึ่งไม่ได้แค่ช่วยให้เขามีอารมณ์การแสดงออกที่ดีขึ้นเท่านั้นแต่ยังมีผลต่อการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมของเขาด้วย

 

1. ถ้าเขาโตพอที่จะจดบันทึกได้ให้เขาจดบันทึกความรู้สึกตัวเอง อาจจะเป็นการวาดรูปหรือการเขียนก็ได้เช่น เวลามีความสุข เวลาทุกข์ เวลาโกรธ ให้เขาจำและเขียนไว้และส่งเสริมให้เขาเขียน ขอโทษ ขอบคุณ โดยที่มีคนในครอบครัว คุณพ่อแม่เป็นต้นแบบเป็นสิ่งที่ครอบครัวทำกันเป็นเรื่องปกติ ทำให้เขารู้สึกว่าทุกอย่างสามารถที่จะพลาดได้ ผิดได้ และเริ่มต้นใหม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดา

 

2. เรียนรู้ถึงผลกระทบของอารมณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเขามีความสุขจะเกิดอะไร ถ้าเขาโกรธ จะเกิดอะไรกับเขา เมื่อเขาโกรธแล้วทำให้เขาขาดสติ และไประบายอารมณ์กับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือเมื่อโกรธแล้วเขาทำของเสียหาย ทุกอย่างเป็นผลมาจากความโกรธของเขาผลที่ตามมาต่อเนื่องมากมายเกิดผลกระทบกับคนรอบข้างและตัวเขาเอง

 

3. ถ้าเขายังไม่หายจากอารมณ์ที่เป็นอยู่ ฝึกให้เขานับหนึ่งถึงสิบ หายใจลึกๆให้เขาได้สังเกตตัวเองว่ามีอาการอย่างไร กำมือ หน้าผากย่น กรีดร้อง เพื่อที่จะดึงสติและลดอาการเหล่านั้นลง จากนั้นลองหากิจกรรมดีๆเพื่อเปลี่ยนอารมณ์เช่น ร้องเพลง เล่นกีฬา หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำ งดการใช้โซเชียลที่ตอกย้ำความเศร้า ความโกรธความรู้สึกผิดหวัง อิจฉาริษยาของเขา

 

4. อย่าเพิ่งสรุปเมื่อเราเห็นเขากรีดร้อง โกรธ หรือนิ่งเงียบ ประท้วงให้ถามเขาว่าเขาเป็นอะไร แล้วลองถามต่อว่าเขารู้สึกอย่างไรเกิดเรื่องอะไร และทำไมถึงรู้สึกเช่นนั้น ลองฝึกให้เขาแยะแยกความรู้สึก เช่น ทำไมเขาต้องโกรธเมื่อแม่ไม่ให้ทานขนมก่อนนอน ทำไมเขาถึงแย่งของเล่นของน้องในเมื่อของเขาก็มีอยู่แล้ว

 

5. ชวนกันทำสมาธิ คุณแม่ผู้ปกครอง คนในครอบครัวต้องเป็นตัวอย่างและเป็นหัวหน้าทีมในการนำน้องฝึกฝนความคิดและสมาธิด้วยเทคนิคต่างๆ เช่นการกำหนดลมหายใจเข้าออกช้าๆให้เขาได้อยู่กับตัวเองแยกแยะอารมณ์ความรู้สึกต่างๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

6. กินอิ่มนอนหลับสุขภาพจิตดี เพราะถ้าเขารับประทานอาหารครบ5 หมู่ ร่างกายสมดุล มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอและการพักผ่อนอย่างพอเพียงนอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยให้สุขภาพจิตดีอีกด้วย

 

7. เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเขาเริ่มโกรธ ผิดหวัง ถามว่าเขารู้สึกอย่างไร แลกเปลี่ยนความรู้สึกแสดงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกของคนอื่นว่าเขาคิดอย่างไรเป็นอย่างไร หรือเราสามารถหยิบยกเอาเหตุการณ์จากข่าวในทีวี เหตุการณ์ต่างๆมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสอนเขาไปพร้อมกัน

 

นอกจากที่จะสอนให้น้อง ๆหนูๆรู้จักที่จะแยกแยะอารมณ์ตนเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองครูคนแรกควรต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารอารมณ์ตนเองให้ดีเด็ก ๆก็จะสังเกตซึมซับและนำไปปรับใช้กับชีวิตของเขาได้ด้วยตัวเอง

 

ที่มา กรมสุขภาพจิต https://www.dmh.go.th/

https://www.parentsone.com/