สำนักงานส่งเสริมความร่วมมือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร). .
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
มองความคิดนอกกรอบ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” แบบอย่างของพระภิกษุกับงานสาธารณสงเคราะห์...
ประเทศไทยเรามีคณะสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นเถรวาท แบ่งออกเป็น 2 นิกายใหญ่ๆ คือ ฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต คณะสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นมหานิกาย มีระบบการปกครองเป็นลำดับชั้นๆ องค์กรสูงสุดคือ มหาเถรสมาคม
บทบาทคณะสงฆ์ไทยที่ผ่านมามักอิงและอาศัยการทำงานร่วมกับฝ่ายบ้านเมือง ประเภท ฝ่ายบ้านเมืองไปทางทิศไหน คณะสงฆ์ก็ตามไปทางทิศนั้น ประเภทถ้อยทีถ้อยอาศัย ความคิดโดดๆ ที่คณะสงฆ์จะมีความปรีชาสามารถ “คิดนอกกรอบ” น้อยมาก อาจเป็นเพราะคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ล้วนถูกระบบแบบราชการกลืนคือ ไม่กล้า เพราะกลัวตำแหน่งหลุดบ้าง กลัวนายหาว่าล้ำเล้นบ้าง
หลายปีมานี้หลายนโยบาย หลายโครงการ หากชาวพุทธติดตามบทบาทของพระสงฆ์จะเห็นบทบาท “เปล่งๆนอกกรอบ” หลายโครงการ บางโครงการล้ำหน้ากว่าฝ่ายบ้านเมือง หลายโครงการคณะสงฆ์ตื่นตัวกล้าทำ หลายโครงการคณะสงฆ์ไม่รอ “งบประมาณ” จากรัฐบาล หมายความว่างานหลายอย่างที่เป็น “สังคมสงเคราะห์” พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทมากขึ้น
เพื่อความเข้าใจบทบาทพื้นฐานกลุ่มของพระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ขออธิบายเล็กน้อย คณะสงฆ์ไทยทั้งมหานิกายและธรรมยุตทั้งหมดมีประมาณ 3 แสนรูป แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ตามความสมัครใจของตัวเองว่า หลังบวชแล้ว จะปฎิบัติศาสนกิจอะไรบ้าง
กลุ่มที่หนึ่ง พระป่า พระสงฆ์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสาย พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นพระป่าขนานแท้ ชอบอยู่ตามป่า ในถ้ำ ในเขา อีกสายหนึ่งก็ หลวงพ่อชา สุภทฺโท เป็นพระป่าเหมือนกัน ปัจจุบันสายนี้มีพระนานาชาติมาบวชและเผยแผ่ศาสนาได้ผลดีมาก
กลุ่มที่สอง พระบ้าน หมายความว่า เป็นพระชนบททั่วไป เป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดตามหมู่บ้าน ในตำบล ตามอำเภอทั่วประเทศ เป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด พระสงฆ์กลุ่มนี้บางรูปเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน เป็นแกนนำในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เป็นแกนนำในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ
กลุ่มที่สาม พระเมือง พระสงฆ์กลุ่มนี้คือ พระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ เป็นพระสงฆ์เรียนหนังสือหรือไม่ก็เป็นพระสงฆ์ระดับ “ปฎิบัติการ” นโยบายของคณะสงฆ์ส่วนกลาง เป็นมดงานในการสนองงานคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมือง เป็นพระสงฆ์ที่มีความรู้ ความสามารถโดยผ่านการอบรมและจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย
ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ พระเมืองกรุง พระสงฆ์กลุ่มนี้คือ “ระดับสั่งการ” เป็นกลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถและมีศักยภาพ แต่ข้อเสียไม่มีข้อมูลในพื้นที่ เพราะไม่ได้คลุกคลีกับคณะสงฆ์และชาวบ้าน จึงขาดข้อมูลที่แม่นนำ
การคิดนอกกรอบของคณะสงฆ์ ที่เห็นได้ชัด หลายปีมานี้คือ บทบาทของ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดยานนาวา เด่นมาก ทั้งเรื่องช่วยเหลือภัยพิบัติ ทั้งเรื่องการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ทั้งเรื่อง “พระคิลานุปัฏฐาก” พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด ทั้งเรื่องการเยี่ยมผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ล้วนมีฐานมาจากบทบทบาทด้านสาธารณสงเคราะห์ ที่มหาเถรสมาคมมอบหมายให้ท่านทำงาน
สาเหตุหนึ่งที่ท่าน “กล้าคิดนอกกรอบ” อาจเพราะท่านมีองค์ความรู้พร้อม อยู่ต่างประเทศมานาน สั่งสมประสบการณ์มามาก ทั้งมีบารมีเส้นสายในหมู่ฝ่ายบ้านเมืองยุคสมัยหนึ่งมีการกล่าวขานว่า “เสกให้คนเป็นปลัด เป็นอธิบดีเป็นนายพลได้” แต่นั่นคือ เรื่องเล่าขาน ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว เท่าที่ทราบและมีข้อมูลก็คือ นอกจากท่านมีวิสัยทัศน์ที่ดีแล้ว ท่านมีคณะทำงานที่แข็งแกร่งทนแดนทนฝนต่างหาก
ในฐานะคนนอกและติดตามการทำงานของฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมมาต่อเนื่อง สิ่งที่อยากเห็นบทบาทของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ในฐานะประธานฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ก็คือ จัดทำโครงการระดมพระสายสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศ มาระดมสมองทำงาน มีแผนยุทธศาสตร์ จัดสรรงบประมาณ กำลังคน มีสำนักงาน ที่ชัดเจน เพื่อคณะสงฆ์และประชาชน อย่างเช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ เครือข่ายพระคิลานุปัฎฐาก เครื่อข่ายพระผู้ป่วยติดเตียง หรือแม้กระทั้งบางโครงการที่ทำให้วัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้อย่างแท้....ผมคิดว่าคณะสงฆ์และประชาชนอยากเห็น.
..................................
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com
อ่านต่อที่ : https://dailynews.co.th/article/734451