น้ำท่วม : บทเรียนสำคัญกับการจัดการ "มิติสุขภาพจิต"

16/09/2024 Happy8workplace 169
Share:

จากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตใหญ่ทางธรรมชาติของประเทศไทย ข้อค้นพบจากบทเรียนที่สำคัญ กับการจัดการในมิติทางด้านสุขภาพจิต พบว่า

1)จากสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ยังมีบุคคลเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษก่อนที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว สูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายและมีผลกระทบต่อประกอบอาชีพในอนาคต เหล่านี้มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น บาดแผลทางจิตใจหลังเกิดภาวะวิกฤติ, โรคซึมเศร้า และวิตกกังวล รวมถึงปัญหาการใช้สุราและยาเสพติดได้ในภายหลัง

 ครอบครัว ญาติพี่น้อง และระบบบริการที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยใช้หลัก 3 ส หรือ 3L ในการปฐมพยาบาลทางใจ ได้แก่

ส 1 สอดส่องมองหา (Look) โดยค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช

ส 2 ใส่ใจรับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือโอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ  

ส 3 ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) โดยให้ความช่วยเหลือ ตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น น้ำ อาหาร และยา หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตก่อนที่จะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

2) การจัดการด้านสุขภาพจิตในภาวะภัยพิบัตินั้น ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากทั่วโลกว่า จะเป็นการสายเกินไปถ้าเน้นแต่การให้บริการผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต แต่ต้องดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะที่ศูนย์อพยพ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังวิกฤติ ด้วยหลักการของ Public Mental Health ในภาวะวิกฤติ 5 ประการ ได้แก่

1. สร้างความรู้สึกปลอดภัย ทั้งในสถานที่พักพิงและหลังจากที่กลับไปฟื้นฟูในชุมชน  

2. ลดความว้าวุ่นใจ ด้วยกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ

3. สร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน

4. อาศัยความผูกพันที่มีอยู่ในระบบครอบครัวและชุมชน เช่น การให้เด็กได้อยู่กับครอบครัว หรือใช้พลัง อสม. และผู้นำชุมชนในการดูแลและจัดการกับปัญหาต่าง ๆ

5. ก้าวข้ามอุปสรรคอย่างมีความหวัง เช่น การให้กำลังใจ ซึ่งกันและกันชุมชนและการจัดระบบความช่วยเหลือที่มาจากภายนอกให้ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมพลังในการฟื้นฟูสภาพบ้านและชุมชน

หากทำได้ทั้ง 2 ข้อ จะทำให้ผ่านวิกฤตด้วยความเข้มแข็งมากขึ้นสามารถลดปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสังคมที่จะตามได้

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์