ออกแบบองค์กรให้เป็น family-friendly workplace

27/01/2023 Happy8workplace Happy Family 1,621
Share:

?? ทำอย่างไร...ให้คนทำงานไม่ต้องกังวลกับการดูแลครอบครัว

?? ทำอย่างไร...ให้คนทำงานไม่ต้องกดดันว่าจะเลือกงานหรือครอบครัว

?? ทำอย่างไร...ให้ครอบครัวมีความสุขไปพร้อมกับการทำงานที่มีคุณภาพ

 

ปัญหาของคนวัยทำงานจำนวนไม่น้อย คือมีความกังวลในการดูแลครอบครัว ทั้งเรื่องลูก และพ่อแม่ที่อยู่ในวัยสูงอายุ ซึ่งต้องการการดูแล กลายเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานไม่น้อย เมื่อไม่มีคนดูแลลูก พ่อแม่ที่สูงอายุต้องอยู่ตามลำพัง การหาทางออกของแต่ละคนก็แตกต่างกันไปตามบริบทแวดล้อมและความพร้อมของครอบครัว บางคนต้องส่งลูกไปให้พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดเลี้ยงดู บางคนต้องส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่ ส่วนบ้านที่มีผู้สูงอายุก็จำต้องปล่อยให้อยู่ตามลำพัง

 

สถานการณ์เหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อทั้งการทำงาน และ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว แต่ปัญหา Work Life Balance เหล่านี้ คนทำงานในฐานะปัจเจกบุคคลไม่อาจจัดการปัญหาได้ ต้องอาศัยการปรับตัวขององค์กรเพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้การทำงานสามารถดำเนินไปได้พร้อมกับการดูแลครอบครัวอย่างราบรื่น

 

จากรายงานเรื่อง Work and Family : Creating a family-friendly workplace ที่จัดทำโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุถึงสิ่งที่ที่ทำงานจะได้รับ ถ้ามีนโยบายหรือแนวทางที่เป็นมิตรกับครอบครัวของพนักงาน ดังนี้

 

1. การพัฒนาด้านความผูกพันกับองค์กร พนักงานมีความเครียดลดลง มีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น การที่องค์กรช่วยลดความตึงเครียดในการต้องดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ จะช่วยให้พนักงานลดการขาด ลา มาสาย และมี ประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น มีการศึกษาที่พบว่า บริษัทในอังกฤษที่เปิดให้พนักงานมีเวลาทำงานที่ ยืดหยุ่น สามารถรักษาพนักงานไว้ได้ร้อยละ 76 เพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน ร้อยละ 73 และพนักงานมีความ ผูกพันกับองค์กรเพิ่มขึ้นร้อยละ 72

 

2. การรักษาพนักงานไว้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานผู้หญิง มีผลการศึกษาที่พบว่า องค์กรที่มีการทำงาน ที่ยืดหยุ่น ส่งผลให้ผู้หญิงมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 ซึ่งท้าทายต่อสมมติฐาน ที่ว่า ผู้หญิงเมื่อมีครอบครัวแล้วจะทุ่มเทให้กับงานลดลง การทำงานที่ยืดหยุ่นทำให้องค์กรรักษาพนักงานหญิง ไม่ให้ลาออกได้มากกว่าร้อยละ 40 รวมทั้งองค์กรที่มีการส่งเสริมบทบาทของผู้ชายให้มีส่วนในการรับผิดชอบงานบ้านและการดูแลสมาชิกครอบครัว ก็ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อผู้หญิง ทำให้สามารถจัดการเรื่องงานและ ครอบครัวได้ดีขึ้นด้วย

 

3. ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การมีนโยบายและมาตรการที่เป็นมิตรกับครอบครัวพนักงาน อย่างการยืดหยุ่นการทำงาน ช่วยให้องค์กรสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการมีบุคลากรลาออก ต้องหาคนใหม่ มาทดแทน ฝึกอบรมกันใหม่ ขณะที่บุคลากรเดิมมีความรู้และประสบการณ์ที่สามารถสร้างมูลค่าให้แก่องค์กร ผลการศึกษาในสหรัฐฯ ประเมินว่า องค์กรสามารถลดรายจ่ายมากกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อปี สำหรับการให้ พนักงานทุกคนทำงานทางไกลครึ่งหนึ่งของเวลางาน

 

4. ลดช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้หญิง-ผู้ชาย ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัว โดยการมีวันลาเพื่อดูแลลูกหลังคลอด สำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะเป็นการลดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ รวมทั้ง

ลดช่องว่างรายได้ระหว่างเพศลงด้วย ในประเทศเดนมาร์ก ที่ลูกจ้างสามารถลาคลอดได้หนึ่งปี และมีการจัดศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงาน พบว่าสามารถลดช่องว่างระหว่างรายได้ของสองเพศให้แคบลง และรักษา อัตราการจ้างงานผู้หญิงไว้ในระดับสูง

 

ฟินแลนด์ : พ่อ แม่สูงวัย-ลูกป่วย บริษัทช่วยดูแล : บริษัทโทรคมนาคม DNA Plc

.

ประเทศฟินแลนด์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสวัสดิการด้านสังคมที่ดีแก่ประชาชน

บริษัทนี้เคยสำรวจพบว่าปัญหาอย่างหนึ่งของพนักงานที่มีครอบครัวคือจำเป็นต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในชีวิตเพื่อการดูแลเด็ก ทำให้ไม่สามารถทำงานตรงตามเวลาได้ เพื่อให้พนักงานมี work Life Balance บริษัทจึงจัดให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่น ทุกที ทุกเวลา

 

  • พนักงานที่ลูกป่วยไข้ บริษัทจะเสนอทางเลือกถ้าไม่ต้องการลางานไปดูแลลูกด้วยตัวเอง บริษัทก็จะจ้างผู้เชี่ยวชาญบริการถึงบ้านเป็นเวลา 3 วันต่อการเจ็บป่วย 1 ครั้ง สำหรับลูกที่มีอายุ 0-9 ขวบ
  • ถ้าพนักงานไม่มีลูกเล็กแต่ต้องลูกแลพ่อ แม่ ที่สูงวัย ทางบริษัทจึงจัดงบประมาณจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์ ๆละ 2 ชั่วโมง
  • มีสวัสดิการที่เรียกว่า Grandparental Leave ที่อนุญาตให้พนักงานสูงอายุ ที่มีหลาน เหลน สามารถลาหยุด 1 ปี โดยยังได้รับค่าตอบแทนเพื่อใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ซึ่งสามารถเลือกช่วงเวลาการลาได้ตั้งแต่คลอดไปจนถึงอายุ 10 ขวบ

 

การมีครอบครัวที่มีคุณภาพคือสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับบุคลากรทุกช่วงวัยของสังคม ถ้าองค์กรมีการสนับสนุนการดูแลครอบครัวของพนักงานก็จะสร้างความรู้สึกถึงความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีกับพนักงานได้ สิ่งที่องค์กรได้รับกลับมาคือ เมื่อพนักงานไม่มีปัญหาให้ต้องวิตกกังวล เพราะองค์กรใส่ใจพนักงานและเอื้อไปถึงครอบครัว ทำให้ลดการลาออก ของพนักงาน และสามารถทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ นำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจทำให้องค์กรเติบโต และประสบความสำเร็จ

 

ที่มา คู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับองค์กร/สถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว