Quiet Quitting เบื่องาน แต่ก็ไม่อยากลาออก

27/01/2023 Happy8workplace Happy Brain 3,315
Share:

Quiet Quitting เบื่องาน แต่ก็ไม่อยากลาออก สภาวการณ์ใหม่จากการทำงาน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจาก ‘The Great Resignation’ หรือการลาออกระลอกใหญ่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเมื่อมาถึงตอนนี้ เส้นแบ่งชีวิตกับการทำงานก็ดูเหมือนจะเบลอจนแยกจากกันไม่ได้ ขณะที่การลาออกก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

Quiet Quitting คืออะไร

Quiet Quitting ไม่ได้หมายถึงการลาออกจากงาน แต่หมายถึงการทำงานเฉพาะหน้าที่ที่กำหนดไว้ในคำบรรยายลักษณะงาน ไม่มีการทุ่มเททำงานเป็นพิเศษเพื่อสร้างความประทับใจให้เจ้านาย

อาจพูดได้ว่า Quiet Quitting คือการเลิกทำงานเกินหน้าที่ คุณยังคงไปทำงานตามปกติ แต่ทำงานเฉพาะที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบในตำแหน่งงานของตัวเองเท่านั้น โดยไม่รับ "อาสา" ช่วยงานพิเศษที่เพิ่มขึ้นมา หรืออ่านอีเมลนอกเวลาทำงาน

นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดใหญ่ มีคนรุ่นใหม่มากขึ้นที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการทำงานเกินเวลาโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือการเล็งเห็นคุณค่าจากผู้บังคับบัญชาหรือองค์กร

พวกเขาจึงไม่ยอมเผชิญกับภาวะหมดไฟจากการทำงานหนักเกินไป แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตที่สมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว

 

Quiet Quitting อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่

รศ.แอนโทนี คล็อตซ์ อาจารย์ที่วิทยาลัยการจัดการ University Collage London ชี้ว่า บริบทของพฤติกรรม quiet quitting อาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่แนวคิดเบื้องหลังนั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว

"แม้ว่านี่จะมีที่มาจากคนรุ่นหนุ่มสาวในหีบห่อใหม่ เทรนด์นี้ถูกศึกษามาหลายทศวรรษภายใต้ชื่ออื่น ๆ เช่น ความไม่ผูกพันกับงานและองค์กร (disengagement) การละเลย (neglect) และการถอนตัวจากงาน (withdrawal)"

พนักงานมักจะทำงานด้วยเหตุผลหลายประการ รศ.คล็อตซ์ กล่าวว่า มีหลายเหตุผลที่พนักงานไม่ได้อยู่ในสถานะที่ออกจากงานได้ ทักษะของพนักงานบางกลุ่มอาจจะไม่สามารถถ่ายโอนได้ ความยืดหยุ่นและผลประโยชน์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น หรือไม่ก็อาศัยอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ ที่ขาดแคลนโอกาส

 

เขากล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจในยุคปัจจุบันยังมีบทบาทสำคัญที่ทำงานให้พนักงานที่ไม่มีความสุขกับงาน ยังคงอยู่ในบริษัท เพราะการออกจากงานนั้นมีต้นทุนและความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม Quiet Quitting มีข้อแตกต่างกับพฤติกรรมทำภารกิจอื่นในเวลางาน แต่การงานไม่เสียหาย เพราะคนที่มีพฤติกรรม Quiet Quitting อาจไม่ได้ย่อหย่อนต่อการงาน แต่มีแนวโน้มลดการทำนอกเหนือความรับผิดชอบหรือเกินเวลาเหลือเพียงการทำงานแต่เพียงในเวลา 9-5 โมงเท่านั้น

ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับเทรนด์นี้คนรุ่นก่อนอาจจะมองว่า การทำงานแบบนี้คือคนขี้เกียจ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แต่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันกลับมองว่าการทำงานของตัวเองให้มีประสิทธิภาพในช่วงเวลางาน แล้วเอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นที่มีความหมายต่อชีวิตของเขา อาจจะดีกว่าการทุ่มเททำงานแล้วเกิดปัญหาสุขภาพตามมาอย่างเช่น การหมดไฟในการทำงานที่หลายคนอาจกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

 

ที่มา

https://www.bbc.com/thai/articles/cv214yyp481o

https://www.bbc.com/thai/international-62783704

https://thematter.co/brief/183372/183372