จุดอ่อนของวัฒนธรรมองค์กร “อยู่แบบครอบครัว”

29/06/2023 Happy8workplace 1,860
Share:

“ที่นี่เราอยู่กันแบบครอบครัว” หลายคนคงจะเคยได้ยินประโยคนี้จากที่ทำงาน 

ก็คงจะไม่แปลกเพราะในช่วง 1 วัน เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการทำงาน บางคนอยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่ที่บ้าน นอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานก็มีความสำคัญอย่างมาก สามารถช่วยให้เติบโตในอาชีพการงาน ช่วยสนับสนุนให้กำลังใจ เชื่อว่าหลายๆคนมีพี่เพื่อนน้องในที่ทำงานมีความสนิทสนม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนกับคนในครอบครัว ดังนั้นความสัมพันธ์ของในที่ทำงานจึงสามารถสะท้อนออกมาได้ในความสัมพันธ์แบบเดียวกับที่พบในบริบทของครอบครัว

 

“วัฒนธรรมอยู่กันแบบครอบครัว” เป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบหนึ่ง ที่เน้นให้พนักงานรวมกลุ่ม และร่วมมือกัน ในลักษณะของ “ทีมเวิร์ก” มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ยืดหยุ่นสูง ไม่เป็นทางการมากนัก พนักงานเข้าถึงผู้บริหารได้ง่าย โดยมี ข้อดีคือ พนักงานมีความใกล้ชิด เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท จงรักภักดีต่อบริษัท มีความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้การพูดคุย แก้ปัญหาเป็นไปได้ง่าย 

ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ก็มีจุดอ่อนซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจจากเว็บไซต์ Harvard Business Review ระบุว่า สิ่งที่บริษัทต้องการจากพนักงานคือ การทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีทักษะความสามารถที่ตอบโจทย์งาน และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้การใส่คำว่า “ครอบครัว” ในที่ทำงาน บริษัทอาจได้ในสิ่งที่ไม่ตรงกับความคาดหวัง และมีข้อเสีย ดังนี้

 

1. พื้นที่ส่วนบุคคลเลือนราง ความสนิทสนมคุ้นเคยกัน อาจทำให้เรื่องส่วนตัวของพนักงานถูกนำมาบอกกล่าว และถูกคาดหวังให้ต้องเปิดเผยเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ บริษัทยังมีแนวโน้มจะคาดหวังให้พนักงานรวมตัวกันในออฟฟิศ ไม่นิยมการประชุมออนไลน์หรือ Work From Home ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้พนักงานให้ ความสำคัญกับบริษัท มากกว่าเรื่องอื่น รวมถึงปัญหาส่วนตัว หรือปัญหาครอบครัวจริง ๆ ของตนเอง

2. การเรียกร้องจากคนทำงานจนเกินขอบเขต บริษัทมักจะคาดหวังให้พนักงานทุ่มเทให้องค์กร พนักงานต้องทำทุกอย่าง ทำงานเกินเวลา เกินขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเอง HBR ระบุว่าบริษัทที่ใช้คำว่า “ครอบครัว” มีแนวโน้มจะเอาเปรียบพนักงาน ละเลย Work Life Balance ของคนทำงาน

3. หมกเม็ดความผิด-ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง งานวิจัยของ HBR พบว่าพนักงานที่สนิทสนมกันมาก จะไม่รายงานความผิดของเพื่อนร่วมงานให้กับบริษัทได้รับรู้ เพราะไม่อยากทำร้ายเพื่อน 

 

ถ้า “อยู่กันแบบครอบครัว” ไม่ได้ผล เราจะอยู่กันแบบไหนดี

บทความ The Toxic Effects Of Branding Your Workplace a “Family” จากเว็บไซต์ Harvard Business Review กล่าวว่า หากเราจะเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรสักอย่างให้บริษัท ควรหลีกให้ไกลจากคำว่า ‘ครอบครัว’ และเน้นไปที่การช่วยเสริมสร้างคุณค่าและความสามารถของพนักงาน ผ่านการมีเป้าหมายเดียวกันแทนอย่างการอยู่กันแบบ ‘เผ่า’ เป็นต้น 

 

หากเราอยู่กันแบบเผ่าหรือหมู่บ้าน องค์กรของเราจะมีทั้งความเข้าอกเข้าใจ ความเป็นหนึ่งเดียว และมีเป้าหมายเดียวกัน โดยไม่ต้องรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวแบบการอยู่กันเป็นครอบครัว อย่างไรก็ตาม แล้วเราจะสร้างองค์กรที่อยู่กันแบบเผ่าได้อย่างไร

 

1. นิยามความหมายและเป้าหมายให้ชัดเจน 

เมื่อรับสมาชิกใหม่เข้ามา สิ่งแรกที่ควรทำคือนิยามให้เข้าใจชัดเจนว่าเราไม่ได้อยู่กันแบบครอบครัว เราคาดหวังอะไรในตัวพนักงานใหม่บ้าง และเรามีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการงาน นอกจากจะแจ้งตั้งแต่เริ่มงานแล้ว หากผ่านไปสักระยะ หัวหน้าควรคอยถามไถ่เรื่อง Work-life balance กับพนักงานทุกๆ ครั้งที่มีการเช็กอินหรือพูดคุยแบบ 1:1 นอกเหนือจากนั้น เราไม่ควรให้เหตุผลในการไปสู่เป้าหมายว่า เป็นเพราะเรา 
“ลงเรือลำเดียวกัน” เพราะคำพูดเช่นนี้ให้ความรู้สึกบีบบังคับและไร้ซึ่งตัวเลือก ในขณะเดียวกันการพูดให้ชัดเจนไปเลยว่า “เรามีเป้าหมายเดียวกัน” เข้าใจได้ง่ายมากกว่าแจ้งให้ชัดเจนว่าเป้าหมายของบริษัทคืออะไร และบทบาทหน้าที่ของพนักงานที่จะช่วยให้บริษัทไปถึงเป้าหมายนั้นคืออะไร ความเข้าใจร่วมกันนี้เอง 
จะพาทุกคนพายเรือไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการมัดมือชกแล้วบอกว่าเราลงเรือ
ลำเดียวกันแล้วนะ


2. ตั้งขอบเขตให้ชัดเจนเรื่องเวลางาน 

พนักงานต้องเข้าใจถึงเรื่องชั่วโมงทำงานและวันหยุด แจ้งให้พวกเขารู้ว่าสามารถใช้วันหยุดที่มีให้อย่างไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะเราทุกคนล้วนมีวันที่เหนื่อยเป็นพิเศษกันทั้งนั้น ที่สำคัญเราควรแจ้งให้พนักงานทราบด้วยว่า หากเจอปัญหาที่กระทบถึงเรื่องงาน พวกเขาสามารถพูดคุยกับใครได้บ้าง สามารถลางานได้หรือไม่ หรือมีอะไรบ้างที่จะช่วยเหลือพนักงานให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ หัวหน้าทีมอาจแสดงให้เห็นว่าองค์กรใส่ใจเรื่องวันพักผ่อนโดยการลาพักเป็นตัวอย่าง และใช้เวลานั้นไปกับการทำกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการทำงาน 


3. ยอมรับธรรมชาติของความสัมพันธ์ในการทำงาน
ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเป็นเช่นไรก็ควรปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องไปนิยามความเป็นครอบครัวเพื่อให้ได้ความภักดี ความทุ่มเท หรือผลงานที่ดีกว่า เราต่างรู้กันดีว่าในอนาคต ต่างฝ่ายต่างต้องแยกย้ายกันไปตามถนนของตัวเอง ดังนั้นเพียงแค่ทั้งสองฝ่ายเคารพ สนับสนุน และเห็นใจกันและกันก็เพียงพอแล้ว 

 

ข้อมูลจาก : 

https://www.ffwthailand.net/2023/03/24/family-workplace/?fbclid=IwAR3FUgJ3q_Irdan9A4DuWzgrvAVB2SAXIS_yHQlBw9rRQZNauzXnbFk46rQ&mibextid=Zxz2cZ

https://web.facebook.com/missiontothemoonofficial/photos/เจอแบบนี้ต้องหนีไปให้ไกล-สารพัดข้อเสียของบริษัทที่-อยู่กันแบบครอบครัว