Human Library @ Happy Workplace “ผู้บุกเบิกงานโภชนาการสำหรับพระสงฆ์ ..... 10 ปี กับโครงการ สงฆ์ไทยไกลโรค” ศ.ภญ.ดร.จงจิตร อังคทะวานิช หัวหน้าโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค

28/08/2022 คลังความรู้, บทความ 1,422
Share:

“ภาพพระสงฆ์ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ต้องตัดขา ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า มันเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ไม่ใช่หรอ ทำไมพระสงฆ์ท่านซึ่งต้องออกเดินบิณฑบาตทุกเช้าแต่จะต้องตัดขา กระทบคุณภาพชีวิต กระทบการเป็นพระภิกษุของท่านด้วย ทุกครั้งที่เห็นเป็นภาพสะเทือนใจ เหมือนเป็นแรงผลักดันให้คิดว่า ปัญหานี้ใหญ่ ต้องมีคนศึกษา ในเมืองไทยไม่มีใครเล่นเรื่องโภชนาการพระสงฆ์แม้แต่คนเดียว นี่เป็นช่องว่างทางวิชาการที่ทำให้เราคิดวิธีที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน” 

Human Library @ Happy Workplace จะพาไปรู้จัก ศ.ภญ.ดร.จงจิตร อังคทะวานิช กับการทำงานที่เกี่ยวกับโภชนาการของพระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาพร่างกายที่ดี ซึ่งทำงานมาอย่างยาวนาน 10 ปี ในการขับเคลื่อนโครงการ “สงฆ์ไทยไกลโรค”

“เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 24 ปี ยาวนานมาก แล้วย้ายโอนไปอยู่ที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีก 14 ปี รวมแล้วสอนหนังสือ 38 ปี แม้จะจบปริญญาตรีเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่หัวใจของอาจารย์อยู่ที่โภชนาการ เลยไปเรียนปริญญาโท โภชนศาสตร์ที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งที่นี่ได้พบปรมจารย์ในด้านอาหาร โภชนาการ ที่โด่งดังระดับโลก เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์  เป็นบุคคลที่จุดประกายให้งานด้านโภชนาการผลิดอกออกบาน”

การร่วมงานกับ สสส. 

“โภชนาการพระสงฆ์เป็นช่องว่างทางวิชาการที่ทำให้เราคิดวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน”

“อาจารย์มณี สื่อทรงธรรมชวนไปคุยกับ สสส. ซึ่งในตอนนั้นความรู้เรื่องโภชนาการกับพระสงฆ์เป็นศูนย์ 
คุณหมอชาญวิทย์ ผอ.สำนักสุขภาวะองค์กรในขณะนั้น โยนโจทย์มาให้ศึกษาเรื่องโภชนาการพระสงฆ์เพื่อที่เราจะหาทางป้องกันสุขภาพพระสงฆ์ให้แข็งแรง ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่น่าจะศึกษาหาความรู้ เนื่องจากก่อนหน้านั้นอาจารย์เคยนำนิสิตขึ้นไปดูแลพระสงฆ์ที่ตึกวชิรญาณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นประจำ ทำให้ได้เห็นภาพพระสงฆ์ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ต้องตัดขา ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า มันเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ไม่ใช่หรอ ทำไมพระสงฆ์ท่านซึ่งต้องออกเดินบิณฑบาตทุกเช้าแต่จะต้องตัดขา กระทบคุณภาพชีวิต กระทบการเป็นพระภิกษุของท่านด้วย ทุกครั้งที่เห็นเป็นภาพสะเทือนใจ เหมือนเป็นแรงผลักดันให้คิดว่า ปัญหานี้ใหญ่ ต้องมีคนศึกษา ในเมืองไทยไม่มีใครเล่นเรื่องโภชนาการพระสงฆ์แม้แต่คนเดียว นี่เป็นช่องว่างทางวิชาการที่ทำให้เราคิดวิธีที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน” 

การทำงาน 10 ปีกับโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค

“โครงการไม่สามารถขับเคลื่อนเฉพาะพระสงฆ์ทางเดียวได้ ต้องมีภาคีหลายๆส่วนมาช่วยกัน”

เนื่องจากเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ เราต้องเอาทฤษฏีเรื่องพฤติกรรมมาจับ ฉะนั้นหัวใจของเรื่องคือ เราต้องศึกษาว่าการใช้ชีวิตของพระสงฆ์เป็นอย่างไร อาหารที่ท่านฉันมาจากไหนบ้าง ท่านคิดอะไร และ ญาติโยมที่ถวายอาหารคิดอะไร 

ดูความเป็นมาก่อนสรุปว่าท่านเป็นเบาหวานเพราะท่านฉันอาหารหวานมันเค็ม อันนี้ถือเป็นข้อสรุปทั่วๆไป 
แต่อาจารย์มองว่ายังไม่ใช่ การมองเรื่องพฤติกรรมนั้นยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถทำหรือสั่งอาหารอย่างที่อยากจะกินได้ อาหารที่พระสงฆ์บริโภคนั้นขึ้นอยู่กับคนที่มาถวาย  

เราศึกษาเชิงคุณภาพ มองตั้งแต่พระภิกษุเข้ามาอย่างไร รับบิณฑบาตอย่างไร ลักษณะอาหารเป็นอย่างไร ทำให้ได้เห็นปัญหาเบื้องต้น  จนกระทั่งสามารถกระเทาะปัญหาออกมาได้ 4 ประเด็น คือ โภชนา ปานะ กายะ และกิจกรรม 

ปัญหาทางโภชนาการของพระ ไม่ใช่แค่กินอาหารหวาน มัน เค็ม ทั่วไปแบบที่พวกเราได้รับข้อมูล แต่ของพระสงฆ์มีประเด็นปัญหามากกว่านั้น เช่น ท่านไม่ค่อยได้ฉันข้าวกล้องเลย ฉันอาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำมาก 
กากใยอาหารต่ำมาก ต่ำกว่าประชากรทั่วไป เพราะท่านเลือกไม่ได้ และที่แปลก คือ โปรตีนต่ำ เพราะเวลาใส่บาตร ถ้าเป็นอาหารที่วางขายเป็นชุดๆ คนใส่บาตรก็ไม่ได้ไปดูกันว่าจะมีเนื้อสัตว์มากน้อยแค่ไหน นี่คือประเด็นหนึ่งที่ถามไป และคำตอบที่ได้เห็นก็ตอนที่พระสงฆ์อาหารมาจัดจาน จะรู้เลยว่าจริงๆอาหารที่รับบิณฑบาตมานั้นมีโปรตีนน้อยมาก แต่มีข้าวขาวเยอะมาก แถมไม่เคยเห็นข้าวกล้องเลย 

โภชนาที่เป็นปัญหาของพระ จะไม่เหมือนคนทั่วไป เช่น กะทิมาทั้งของคาวของหวาน ข้าวเหนียวมะม่วง 
แกงเขียวหวาน มัสมั่น  พระท่านถูกกะทิกระหน่ำอย่างแรง ในขณะที่ข้าวกล้องแทบไม่มี ผักปลามีน้อย 
กะทิมากไป ดังนั้นเวลาแก้ปัญหาเราก็นำเสนอให้ทำอาหารที่มีกะทิโดยผสมนมวัวครึ่ง กะทิครึ่ง ความอร่อยไม่ลด ได้คุณค่าเพิ่ม 

ตอนนี้กรมอนามัยก็รณรงค์เรื่องการดื่มนม ต้องหมั่นดื่มนมวัว 2 แก้วต่อวัน สุขภาพเป็นเหมือนน้ำซึมบ่อทราย เราต้องทยอยสร้างสุขภาพ เรื่องนมวัวสำคัญ พระสงฆ์ดื่มนมวัวน้อยมาก ทำให้ความพรุนของกระดูกพระสงฆ์เป็นปัญหาใหญ่ อาจเป็นเพราะญาติโยมไม่ค่อยนิยมถวาย ดังนั้นต่อไปหากจะถวายเครื่องดื่ม อยากให้นึกถึงนมวัว จะเป็นรสอะไรก็ได้ แต่รสจืดดีที่สุด หรือเป็นแบบไขมันต่ำ พร่องมันเนย จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของพระท่านอย่างมาก  หากถวายไปแล้วพระสงฆ์ไม่ดื่ม อานิสงส์จะไปถึงเณร 

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นหัวใจเลย นั่นคือ ปานะ ซึ่งทำให้พระบริโภคน้ำตาลเกินกว่าที่กรมอนามัยแนะนำไว้ว่าควรกินน้ำตาลไม่เฉลี่ยไม่เกินวันละ 6 ช้อน แต่เท่าที่เก็บข้อมูลพบว่าพระสงฆ์กินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 20 ช้อน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปานะ พระสงฆ์ดื่มน้ำปานะวันละ 2 ขวดโดยเฉลี่ย บางขวดมีน้ำตาลถึง 10 ช้อน ปัญหาของพระสงฆ์คือการดื่มน้ำในช่วงบ่ายถึงค่ำซึ่งกระเพาะอาหารว่าง การดูดซึมของน้ำตาลจึงกระฉูด อินซูลินพุ่ง กลายเป็นว่าพระสงฆ์ป่วยด้วยโรคเบาหวานมากกว่าชายทั่วไปในวัยเดียวกัน 

อาจารย์ทำงานนี้มา 10 ปีเต็ม ตั้งแต่ พ.ศ.2554-2564 เรียกว่าอิ่มตัวพอสมควร แล้วเราก็ผลิตสื่อต่างๆออกมา จะเป็นสื่อชุดสนุกสนาน พอจะเป็นแหล่งที่คนทั่วไปที่สนใจเข้ามาโหลดได้เลยฟรีๆ

ถ้าถามเรื่องกลุ่มเป้าหมาย เรื่องโภชนาการพระสงฆ์เราไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนทางเดียวได้ คือจะไปในทางพระสงฆ์ทางเดียวก็ไม่รอด เพราะฉะนั้นต้องมีหลายๆ ภาคี ต้องมีพระสงฆ์ และ องค์กรสงฆ์ ฆราวาส ญาติโยมก็เป็นโจทย์ใหญ่เหมือนกัน กับอีกกลุ่มคือแม่ครัว แม่ค้าที่ทำอาหารถวายใส่บาตร และแม่ครัวที่อยู่ตามวัด 

 

 

แผนการขับเคลื่อนงานต่อไป

“สุขภาพของสามเณรเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทาย ได้ประโยชน์ครอบคลุมกว้างไกล”

 ในขณะนี้มาถึงเฟสที่สอง เพราะว่าเฟสแรก10ปีกับพระสงฆ์ก็อิ่มตัว ปรากฏว่าสิ่งที่นึกไม่ถึงคือ สุขภาพสามเณร ตอนนี้กำลังทำวิจัยสื่อให้สามเณรเป็นเรื่องใหญ่ มีความท้าทายพอสมควร ปลายปีนี้ถ้าเป็นไปตามแผน สสส. อาจจะได้แถลงข่าวเกี่ยวกับเครื่องมือดูแลสุขภาพสามเณร  

ตรงนี้เป็นความท้าทายจริงๆ ถ้าย้อนไปปี 2000-2001 อาจารย์เคยทำเรื่องโภชนาการเด็กของกรมอนามัยโลก ประเทศไทยเรานำร่องในเรื่องโรคอ้วนในเด็ก ในขณะที่องค์การอนามัยโรคพูดถึงแต่ขาดอาหาร เนื่องจากเราพบโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้น เวลาที่เราจะรณรงค์ให้เด็กลดน้ำหนักเอง อันตรายจะเกิดขึ้น การรณรงค์เรื่องดูแลน้ำหนักตัวในสามเณร จะยากกว่าในพระสงฆ์ เพราะสามเณรเป็นเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ถ้าเราไปบอกว่าความอ้วนไม่ดี แล้วเขามาอดอาหารลดความอ้วน ก็อาจจะไปกระทบพัฒนาการของเขา มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก เป็นโจทย์ยากที่ท้าทาย  โครงการนี้จะจบต้นปีหน้า ก็อยากใช้สื่อที่ทำขึ้นมาให้เกิดประโยชน์ สามารถ Going on ต่อไปได้ มีประโยชน์ต่อสามเณร และยังสามารถไปไกลถึงนักเรียนมัธยมได้อีกด้วย ประโยชน์มันกว้างไกลมาก

ติดตามข้อมูลโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคได้จาก… https://www.sonkthaiglairok.com/

เป็นเจตนารมณ์ว่า เมื่อเราทำงาน ต้องให้คนอื่นสามารถมาเรียนรู้จากเราได้ แล้วก็เอาผลผลิตจากเราไปใช้ต่อได้ นั่นก็คือเว็บไซต์ สงฆ์ไทยไกลโรค  คนที่ทำงานสามารถนำไปต่อยอด ศึกษาขยายผลทำได้เต็มที่ เราทำฐาน
ที่มั่นคงสามารถนำไปต่อยอดผลงานทางวิชาการได้ ที่สำคัญสังคมจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ไม่รู้จบ 

สื่อเวอร์ชั่นสุดท้าย ที่ทำสำหรับสามเณรที่เราจะทำ คือ แอปพลิเคชั่น คุณครูสามารถเอาไปใช้เป็นกิจกรรมนอกเวลาเรียน ที่ช่วยส่งเสริมโภชนาการได้อย่างดี มีชุดความรู้เยอะ เข้าไปทำ test ได้