เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามากระทบมนุษย์เราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่สองรูปแบบ คือ การตอบสนองแบบอัตโนมัติหรือที่เรียกว่าสัญชาตญาณ และ การตอบสนองที่ผ่านการประมวลผลคิดวิเคราะห์ที่เรียกรวม ๆ ได้ว่าเป็นการใช้สติ
ในช่วงที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้เพียงสัญชาตญาณในการดำเนินชีวิตโดยปล่อยให้ไหลไปตามคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ตระหนักรู้ อาจยิ่งทำให้ชีวิตสับสนจนควบคุมไม่ได้
การหันมาใช้สติเป็นหางเสือคอยควบคุมทิศทางรับมือกับความผันผวนเลยเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า เพื่อช่วยให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่นและสมดุล โดยเฉพาะอย่างกับการทำงานซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้เวลามากถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวัน
ยิ่งในตอนนี้ที่สถานที่ทำงานหลายแห่งกลายเป็นศูนย์รวมอารมณ์เครียดและสะสมความกดดันต่าง ๆ จากผู้คนมากมาย เมื่อพวกเรายังจำเป็นต้องทำงาน การใช้สติจึงเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ สามารถใช้ชีวิตวิถีใหม่ในสถานที่ทำงานได้อย่างมีความสุข
เป็นที่มาของเวทีเสวนาออนไลน์เรื่อง การใช้สติของมนุษย์เงินเดือนกับชีวิตวิถีใหม่ ครั้งที่ 2 ประจำเดือน มกราคม 2565 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 17 มกราคม 2565
ดำเนินรายการโดย ดร. นรกมล ทองเปลี่ยน จากสำนักวิชาการสุขภาพจิต ที่เชิญสองผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้จะมาให้คำตอบถึงรูปธรรมของสติที่สามารถนำไปใช้ในที่ทำงาน และ นายแพทย์ ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ผู้จะมาให้แนวคิดบทบาทขององค์กรต่อการสร้างเสริมสุขภาพคนทำงาน และการใช้แนวคิด Happy 8 Workplace เพื่อให้พวกเราเริ่มต้นชีวิตการทำงานใหม่อย่างมีสติกัน
เข้าใจสติช่วยเพิ่มความสุขภายในองค์กร
“การฝึกจิตขั้นสูง คือ สมาธิ และ สติ จะช่วยให้เรารู้สึกสงบ มั่นคง สมดุล และ ปล่อยวาง ซึ่งสติเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของแนวคิด HAPPY 8 ความสุขแปดประการ แต่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นแค่เรื่องสติต้องเกี่ยวข้องกับ Happy Soul เท่านั้น”
นายแพทย์ ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ได้กล่าวถึงการฝึกจิตขั้นสูงอย่างการทำสมาธิและการตั้งสติ ว่าเป็นวิธีการหนึ่งในทางจิตวิทยา ที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในหลักศาสนา ทำให้ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรและในชีวิตประจำวันได้ โดยการใช้ชีวิตอย่างมีสตินี้ยังเป็นพื้นฐานของความสุขในด้านต่าง ๆ อีกด้วย
การใช้ชีวิตอย่างมีสติ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันผ่านการฝึกฝนง่าย ๆ อย่างการกำหนดลมหายใจ หรือใช้โปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (Mindfulness in organization : Mio) ที่จะช่วยฝึกสติอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสงบ ด้วยการรับฟังอย่างมีสติ มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้เรามีความรับผิดชอบ คิดบวก ซึ่งจะส่งผลกับภาพรวมขององค์กรทั้งการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการสื่อสารที่เข้าใจกัน และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ดีขึ้น
“เวลาเกิดความเครียดหลายคนเลือกไปเดินเล่นพักผ่อน หรือไปซื้อของ ในทางจิตวิทยาแล้ว นั่นเป็นแค่การเบี่ยงเบนความเครียดเท่านั้น ซึ่งความเครียดยังไม่หายไปไหนสุดท้ายก็กลับมาเหมือนเดิม ต่างกับการฝึกสมาธิที่ทำให้ความเครียดหมดไป โดยการฝึกสมาธิทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเองด้วยการฝึกกำหนดลมหายใจ ลองรับรู้ลมหายใจเข้าออก ถ้ามีความคิดแทรกเข้ามาก็เตือนตัวเองทุกครั้ง หายใจต่อเนื่อง ทำจิตใจให้สงบ จัดการกับจิตใต้สำนึกด้วยการเตือนตัวเอง”
การมีสติรับรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา จะทำให้จิตเราสงบมั่นคงสมดุล มีคุณภาพกับชีวิตเรามากขึ้น นอกจากการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังนำมาใช้กับการทำงานในองค์กร ด้วยการทำสมาธิก่อนเริ่มงาน ให้ทำงานอย่างมีสติ ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีพลังและความสุข ซึ่งนายแพทย์ ยงยุทธ เชื่อว่าเมื่อตัวเราและองค์กรมีความสุขก็จะขยายความสุขไปยังสังคมและคนรอบข้างต่อไปอย่างไม่รู้จ
การฝึกสติเป็นเรื่องง่าย แค่คิดว่าไม่ยาก
ด้าน ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ ได้กล่าวว่าการพัฒนาสติความรู้สึกตัว (self-awareness) ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ยากเพราะเป็นคุณสมบัติที่มีติดตัวมนุษย์ทุกคน เพียงแค่เราต้องลองลงมือทำ เริ่มจากการฝึกสังเกตความรู้สึกตัวว่าตอนนี้กำลังทำอะไร แล้วรู้สึกถึงอะไร
“ผมอยากให้ฝึกง่าย ๆ ด้วยการหาน้ำมาหนึ่งแก้ว แล้วสังเกตเวลาที่เราดื่มน้ำ ลองสัมผัสถึงการเคลื่อนที่ของน้ำที่ผ่านลำคอว่าอุณหภูมิ รสชาติ เป็นอย่างไร แล้วค่อยไปฝึกสังเกตกับเรื่องอื่น ๆ อย่างเช่น การอาบน้ำ การแปรงฟัน การรับประทานอาหาร หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่ก้าวเดินในแต่ละวัน ว่าสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของเราเป็นอย่างไรในตอนนั้น”
ดร. สรยุทธ ให้ความเห็นว่าเมื่อใส่ใจและตั้งใจฝึกฝนบ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอจะทำให้เรารู้สึกตัวว่าอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ การรู้สึกตัวนอกจากจะช่วยให้เรากลับมาเข้าใจตัวเองแล้ว ยังช่วยให้เราสามารถเข้าใจผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในที่ทำงานที่ต้องอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก การบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งอาจต้องรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่หลากหลาย การที่เรามีความมั่นคงภายใจจิตใจมีสติอยู่ตลอดเวลาช่วยให้เราวางตัวแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม โดยใช้เครื่องต่าง ๆ อย่างเช่น การพูดคุยสนทนาสร้างความเข้าใจ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Happy Workplace การสร้างองค์กรแห่งความสุขทำหรับทุกคน
“เรื่องภายนอกเราแก้ไขไม่ได้ เราต้องกลับมาควบคุมภายในใจของตัวเราเอง” ดร. สรยุทธ ย้ำอีกครั้ง
จิตสำราญ งานสำเร็จ
ในระหว่างเวทีเสวนามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากภาคเอกชนอย่างคุณพัฒนชัย กุลสิริสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ชัยบูรณ์บราเดอร์ส จำกัด ที่ได้นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับองค์กรของตัวเองจนเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และภาครัฐอย่าง คุณมงคล สิริถิรวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ ซึ่งได้นำเสนอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการนำเอาการสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (MIO) มาใช้ในสำนักงานเลขาธิการสถาผู้แทนราษฏร ผ่านการจัดกิจกรรม “จิตสำราญ งานสำเร็จ”
คุณมงคล ได้ให้ข้อมูลว่ากิจกรรมนี้เป็นการให้ความรู้และการสื่อสาร รณรงค์การสร้างสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมความพร้อมในการทำงานของบุคลากรในวงงานรัฐสภา โดยมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเกิดการสื่อสารงานด้านสุขภาพจิตอย่างกว้างขวาง เกิดบุคคลต้นแบบที่สามารถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่นได้ รวมทั้งมีการถอดบทเรียนเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นวิถีขององค์กร
จากตัวอย่างที่ผู้ร่วมเวทีเสวนาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ สรุปได้ว่าสุขภาวะทางปัญญาจากการฝึกสมาธิและสติ เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ง่าย ๆ ได้ในชีวิตประจำวันถ้าหากตั้งใจศึกษาหาข้อมูลและลงมือทำอย่างใส่ใจ ประโยชน์ที่ได้นอกจากจะช่วยให้ตัวเราเองและองค์กรมีความสุขแล้ว ยังสามารถดูแลชีวิตตัวเองและครอบครัวให้ดียิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง
ไม่แปลกที่จะเห็นว่าองค์กรที่มีวิสัยทัศน์หลายองค์กร หันมาสนับสนุนการฝึกสติเพื่อเริ่มต้นชีวิตการทำงานวิถีใหม่อย่างมีความสุข ที่จะช่วยในเรื่องความสำเร็จขององค์กร และทำให้ชุมชนและสังคมได้ประโยชน์ไปพร้อมกันอีกด้วย
#####