5 เรื่องอันตรายที่ควรรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

29/06/2023 Happy Body 36,391
Share:

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา เพื่อกระตุ้นให้ทุกๆ ประเทศ จัดกิจกรรมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่องค์ความรู้และส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงโทษ พิษภัย ผลกระทบและความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในการลด ละ เลิกบุหรี่

และในปี 2566 ประเทศไทย ได้กำหนดประเด็นรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกว่า "บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย" เพื่อใช้เป็นแนวทางการสื่อสารรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพราะในช่วงที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้ามีความนิยมขึ้นมาก โดยเฉพาะกับเยาวชนเอง มีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากการสำรวจในปี 2564 มีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 24,050 คน ขณะที่ผลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียนไทยเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็น ร้อยละ 8.1

มีเยาวชนหลายคนที่เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายเท่าบุหรี่มวน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ลองมาดูอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

 

1. ทำลายหัวใจ และปอด

จากหลักฐานของสมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกาพบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดถึง 1.8 เท่า และทำให้ปอดอักเสบ มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้นร้อยละ 49 โรคหอบหืดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39

 

2. บุหรี่ฟ้ายังมีสารเคมีอันตรายจำนวนมาก

ไม่ใช่แค่ไอน้ำธรรมดา แต่จะเป็นไอสเปรย์ที่เป็นสารเคมี โลหะหนัก รวมไปถึงPM2.5 หรือขนาดเล็กกว่านั้นก็จะอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทบอกว่าสารเคมีบางชนิดผสมอาหารได้ แต่จริงๆ ที่กินได้ แต่เอามาสูดดมไม่ใช่ว่าปลอดภัย อย่างสารทำป๊อปคอร์น ทำรสเนย กินได้ แต่เมื่อเอามาสูดเข้าปอด ทำให้ปอดอักเสบรุนแรงได้ เป็นมากๆ เสียชีวิตได้ สารเติมแต่งบางชนิดทานได้ แต่เมื่อนำมาสูดดม ยังไม่มีการรับรองว่าปลอดภัย

 

3. บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่

หากช่วยได้จริงก็ต้องเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย เพราะมีสารนิโคตินเหมือนกัน และองค์การอนามัยโลกก็ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ อีกทั้ง มีงานวิจัยรีวิวทั่วโลก 44 ชิ้น สรุปบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่กรณีใช้เอง

 

4. หาซื้อง่ายเข้าถึงเด็กและเยาวชน

ผลสำรวจ “ทัศนคติของเด็กและเยาวชนไทยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้าและสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยกับการรับข้อมูลและวาทกรรมสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า” ในกลุ่มตัวอย่าง 400 คน อายุระหว่าง 13-25 ปี ทั่วประเทศ พบว่า เด็กและเยาวชนได้รับข้อมูลเท็จเกี่ยวกับบุหรี่เป็นประจำและบ่อยครั้ง เด็กและเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในระดับปานกลาง และไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

 

5. บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศไทย

บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ตามกฎหมายควบคุม เช่น

//ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

//คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า”

//พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมายตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ

แต่ที่ผ่านมายังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน

 

ในปัจจุบันหน่วยงานรัฐเองก็พยายามรณรงค์ให้ประชาชนเลิกบุหรี่ ป้องกันนักสูบใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยมีองค์กรต่างๆ ที่ค่อยช่วยเหลือ อาทิ สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ที่โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง หรือมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ http://www.smokefreezone.or.th/news.php ที่เป็นตัวช่วยให้กับคนที่อยากเลิกสูบ เลิกบุหรี่อยู่ที่ใจ

 

อ้างอิง

https://www.hfocus.org/content/2023/05/27614

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/บุหรี่ไฟฟ้า-ตัวเลือกหรือตัวร้ายของสายควัน?view-item=view_recommend

.