ทิศทางของการเรียนรู้สุขภาวะวิถีพุทธ

25/05/2022 คลังความรู้, บทความ 2,586
Share:

สำนักงานส่งเสริมความร่วมมือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ทิศทางของการเรียนรู้สุขภาวะวิถีพุทธ
โดย 
โครงการสร้างเสริมหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลเชิงพุทธในสังคมไทย 
สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
         มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนรู้และการสร้างสังคมสันติสุขโดยใช้องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาเข้ามาบูรณาการร่วมด้วยมาโดยตลอด กล่าวเฉพาะเมื่อมีการเริ่มต้นปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ที่ส่งผลให้เกิดแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และมหาเถรสมาคมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ รวมทั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานทั้ง ๖ + ๑ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายเผยแผ่ ฝ่ายศาสนศึกษา ฝ่ายศึกษาสงเคราะห์ ฝ่ายสาธารณูปการ ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และการพัฒนาพุทธมณฑลประจำจังหวัด จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการขับเคลื่อนภารกิจกิจกรรมดังกล่าว มีรูปแบบและแนวทางการขับเคลื่อนที่หนักแน่นและก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามลำดับ
         สำหรับภารกิจที่สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมมือกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คือการพัฒนาการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนาที่ส่งเสริมการสร้างองค์กรสุขภาวะองค์รวม หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการพัฒนา “สุขภาวะวิถีพุทธ” โดยในวันนี้ จะเป็นการนำเสนอกรอบทิศทางที่จะกล่าวได้ว่า สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบสำคัญของการขับเคลื่อนการเรียนรู้ให้เกิดองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธได้ต่อไปในอนาคต
         (๑) การพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลต้นแบบ กล่าวคือการพัฒนาพระสงฆ์ผู้บริหารหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ให้มีความเข้าใจทิศทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา รวมทั้งการเข้าใจบทบาทด้านการพัฒนาที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้พระสงฆ์และประชาชนในชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ตัวอย่างของการดำเนินงานลักษณะนี้คือการผลักดันให้หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เข้ามาร่วมงานกับสถาบันวิจัยพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสัมมาชีพ การพัฒนากิจกรรมสาธารณสงเคราะห์ที่เป็นรูปธรรม และเข้าถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

S__17571867.jpg         (๒) การพัฒนาเครือข่ายหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล กล่าวคือการส่งเสริมและสนับสนุนให้คณะสงฆ์เห็นประโยชน์ของการดำเนินกิจกรรมอย่างมีเครือข่าย ทั้งนี้การสนับสนุนให้มีเครือข่ายการดำเนินงานจะช่วยให้หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล มีกำลังคนและขยายมุมมองต่อการดำเนินงานได้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาเครือข่ายระดับพื้นที่ จะช่วยส่งเสริมให้การดำเนินงานระดับชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน ท้ายที่สุดการพัฒนาเครือข่ายหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจะช่วยให้คณะสงฆ์มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานลักษณะใหม่ๆ ที่จะสามารถนำมาเป็นองค์ความรู้ในการช่วยเหลือสังคมในระยะยาวได้ต่อไป

S__110354451.jpg         (๓) การบูรณาการกิจการคณะสงฆ์เพื่อการพัฒนาสุขภาวะ กล่าวคือการผลักดันให้หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลสามารถเป็นหน่วยการดำเนินงานที่สนองงานคณะสงฆ์ได้หลายโครงการ เช่น โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โครงการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคม โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขด้วย 5ส เป็นต้น ทั้งนี้การจะสามารถขับเคลื่อนให้หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลสามารถบูรณาการกิจการคณะสงฆ์และการพัฒนาสุขภาวะได้ จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้คณะสงฆ์เข้าใจการดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้และการจัดการข้อมูลร่วมด้วย เนื่องจากการจัดการระบบข้อมูลที่คณะสงฆ์ได้ดำเนินกิจกรรมไป จะช่วยสนับสนุนให้สามารถเห็นผลลัพธ์จากการดำเนินงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นกรอบการจัดการความรู้และระบบข้อมูลที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจะดำเนินการในอนาคต จึงถือว่าจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

 

ดังนั้น การดำเนินงานของ สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมมือกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จะได้กำหนดบทบาทให้หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลเป็นองค์กรต้นแบบในการขับเคลื่อนการสร้างองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธ ที่มีการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม และจะได้ระดมความร่วมมือเพื่อพัฒนาให้คณะสงฆ์มีองค์ความรู้ที่จะถอดบทเรียนการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่ สื่อสารข้อมูลและองค์ความรู้จากการดำเนินงานของคณะสงฆ์ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะทางปัญญาต่อสาธารณชนได้ต่อไป


เขียนโดย

สายชล ปัญญชิต

_DSC9991.jpg