เปิดตัว TU Great - Future Wellness App เครื่องมือประเมินสุขภาพของชาวธรรมศาสตร์ ปูทางสู่ ‘มหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต’

08/10/2024 Happy8workplace 227
Share:

‘เครียด’ 

‘วิตกกังวล’ 

‘นอนไม่หลับ’ 

‘หมดไฟ 

‘ซังกะตาย’ 

‘คล้ายจะเป็นโรคซึมเศร้า’ ฯลฯ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะข้างต้นล้วนเป็นปัญหายอดฮิตที่นักศึกษา ครูอาจารย์ รวมถึงบุคลากรในมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ อีกมากมาย

ด้วยความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเปรียบเสมือน ‘บ้านหลังที่สอง’ ที่ทุกคนต่างใช้ชีวิตทั้งเรียนและทำงานตลอดทั้งวันยาวนานต่อเนื่องเป็นปี จึงเกิดคำถามตามมาว่า ‘ทำไมถึงควรทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการสร้างเสริมและสนับสนุนสุขภาวะของผู้คนที่อยู่ร่วมกัน’ ประหนึ่งบ้านอันแสนอบอุ่น ปลอดภัย และมีความสุขอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวโครงการ ‘มหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต’ (Future Wellness University) พร้อมแอปพลิเคชัน ‘TU Great - Future Wellness App’ เครื่องมือสำคัญในการประเมินสุขภาวะของนักศึกษาและบุคลากร ช่วยให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่ตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคล 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพจาก 7 บูธพิเศษ ได้แก่  #NoSmokeLife ชีวิตปลอดบุหรี่ , ตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจมวลกล้ามเนื้อ-ไขมัน และวัดความดันโลหิต , วิทยาศาสตร์การกีฬา ให้คำปรึกษาเรื่องการออกกำลังกาย , ตรวจสุขภาพจิต MENTAL HEALTH CHECK-IN และระบบประเมินสุขภาพใจ , I WITHIN ปลอดภัยในความปั่นป่วน ฝึกความเข้าใจด้านจิตใจ , รักตัวเองไม่เจ็บเลยสักวัน แนะนำเรื่อง BMI และการดูแลสุขภาพตนเอง และ Happy Workplace องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ อีกด้วย

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีบุคลากรทั้งสิ้นกว่า 9,300 คน ที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กว่า 42,000 คน พูดง่ายๆ ว่า โดยภาพรวมแล้วธรรมศาสตร์ต้องดูแลผู้คนราว 51,300 คนในแต่ละปี 

“มหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคตจึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องการผลักดันให้มหาวิทยาลัยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาวะของเยาวชนและประชากรวัยทำงานของประเทศ โดยเรามุ่งหวังทั้งในเชิงการป้องกัน การคัดกรอง และการส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่เพียงเพื่อตอบโจทย์การดูแลนักศึกษาและบุคลากรของเราเท่านั้น แต่หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยเพิ่มพลังบวกให้แก่ระบบสุขภาพของประเทศโดยรวมได้”

ขณะที่ รศ. นพ.พฤหัส ต่ออุดม  รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์สุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต มีพันธกิจสำคัญในการวางรากฐานนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่ชัดเจน และมุ่งแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะทางใจ ผ่าน 4 กลไกสำคัญ ได้แก่ 

1. Future Wellness Policy and Data ขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาวะของมหาวิทยาลัยให้มีความก้าวหน้า ชัดเจน เฉียบคม และครอบคุลม ด้วยฐานข้อมูลที่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ

2. Future Wellness Workplace ให้ความสำคัญกับการยกระดับการให้บริการทางด้านสุขภาวะ ด้วยการใช้นวัตกรรมที่ส่งเสริมการให้บริการด้านสุขภาวะให้มีความรวดเร็ว สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาวะได้สะดวกมากยิ่งขึ้น 

3. Future Wellness Hub ผสานความเป็นเลิศขององค์กรภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำให้การกิจกรรมในด้านการส่งเสริมสุขภาวะเชิงรุกที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามหลักการ 

4. Future Wellness Flagship ผลักดันให้เกิดกลยุทธ์จากองค์ความรู้ซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ในการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติใหม่ และยกระดับการมีสุขภาวะดีขึ้น 

“นอกจากทักษะด้านวิชาชีพแล้ว ผมอยากให้นักศึกษามีความรู้เรื่อง Health Literacy หรือ ‘ความรอบรู้ด้านสุขภาพ’ ด้วย ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตยุคปัจจุบัน ผมเชื่อว่าความรู้ในการดูแลสุขภาพจะเป็นประโยชน์ทั้งการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย จนถึงเป็นประโยชน์ต่อไปสำหรับการทำงานในอนาคต ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดใช้กับการดูแลครอบครัว เพื่อเป็นประชากรที่มีสุขภาวะที่ดีของสังคมได้อย่างยั่งยืน”รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

ผศ.ดร.ธันยพร สุนทรธรรม หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต  กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในระยะที่ 2 ของการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการยกระดับการให้บริหารทางด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยด้วยนวัตกรรม นั่นคือ แอปพลิเคชัน TU Greats Future Wellness และ TU Staff Future Wellness ซึ่งเป็นช่องทางในการคัดกรองและประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาวะที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ผ่านเทคโนโลยี AI จาก D – mind เชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญจากหมออาสา ศูนย์ Viva City และแพทย์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรธรรมศาสตร์มีสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและใจ

“เป้าหมายของโครงการ Future Wellness University คือเราต้องการดูแลสุขภาวะของนักศึกษาและบุคลากรของธรรมศาสตร์ นับตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาจนถึงเรียนจบออกไป เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด โดยเฉ​พาะแอปพลิเคชัน TU Greats Future Wellness และ TU Staff Future Wellness จะเป็นเครื่องมือสำคัญ พูดง่ายๆ คุณไม่ต้องเดินทางมามหาวิทยาลัย ก็สามารถรับบริการตรวจเช็กสุขภาพ ปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญได้ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานพยาบาล และสถานปฏิบัติการเภสัชชุมชน หรือโอสถโดม เพื่อไปซื้อยาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว”

ด้าน นายธีรดนย์ พงษ์ดนตรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์  และนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกายใจของนักศึกษา โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เป็นเรื่องน่าห่วงที่สุดในตอนนี้

“เรื่อง meta health สำคัญมากครับ ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคม ความคาดหวังต่างๆ ทำให้ทุกคนเคร่งเครียด กดดัน เหน็ดเหนื่้อยจนถึงขั้นหมดไฟ และอาจตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ รวมถึงปัญหาเหล้า บุหรี่ ผมคิดว่าการมีแอปพลิชันที่ช่วยดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ จะทำให้นักศึกษาเข้าถึงได้ง่าย เหมาะอย่างยิ่งไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่”

ปิดท้ายที่ นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร หรือสำนัก 8 สสส. กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคตกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งได้เห็นผลสำเร็จอันน่าชื่นชมในระยะแรกของการดำเนินงาน หลังจากนี้เชื่อมั่นว่าจะได้เห็นการเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า นั่นคือการเป็นต้นแบบแก่มหาวิทยาลัยในไทยและภูมิภาคอาเซียนด้านการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ดีทั้งทาง กาย ใจ ปัญญา และสังคมต่อไป

“สสส. ได้ร่วมขับเคลื่อนแนวทางมหาวิทยาลัยสุขภาพดีภายใต้เครือข่าย ASEAN University Network - Health Promotion Network (AUN-HPN) โดยใช้กรอบแนวคิดมหาวิทยาลัยสุขภาพตามกรอบ Healthy University Framework ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมสุขภาวะในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน โดยนำแนวทางนี้มาใช้เป็นกรอบในการออกแบบโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม และมุ่งเป้าขยายผลให้ครบ 4 ศูนย์ ภายในปี 2568 ครอบคลุมบุคลากร นักศึกษา 51,300 คน” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว