“เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย” เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่องค์กร ในเดือน Pride Month พงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8)

12/06/2024 คลังความรู้, บทความ 339
Share:

เดือนมิถุนายนของทุกปีตรงกับเดือนแห่งเทศกาล ‘Pride Month’ ที่ชาว LGBTQ+ ทั่วโลกจะออกมารณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศจนเกิดกลายเป็นกระแสทอล์ฟ ออฟ เดอะ ทาวน์ แม้กระทั่งระดับองค์กรเองต่างก็เปิดกว้าง อ้าแขนรับแนวคิดดังกล่าวกันมากขึ้น บ้างกำหนดเป็นนโยบายบริษัทอย่างจริงจัง บ้างออกมาจัดการสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ให้เอื้อกับความแตกต่างหลากหลายของพนักงานทุกกลุ่ม  ถือเป็นสัญญาณที่ดีอย่างยิ่ง

 โอกาสนี้ พงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน การสร้างพื้นที่แห่งความเท่าเทียมแก่พนักงานทุกกลุ่ม เพื่อสุขภาวะที่ดีในองค์กร 


 

ถ้าพูดถึงกระแส Pride Month ในเดือนนี้  ในฐานะผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนองค์กรสุขภาวะ     (สำนัก 8) มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ?

ผมมองว่าเทรนด์ของโลกเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นนะ เช่นเดียวกับประเทศไทยในตอนนี้  ก็มีการขับเคลื่อนในหลายเรื่อง เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แม้จะมีความเห็นแตกต่างกันไปบ้าง แต่มันก็ยังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เป็นบวก 

ส่วนในระดับองค์กร ผมมองว่ากระแส Pride Month คือการที่เราออกมายอมรับและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็นับว่าเป็นการสร้างเสริมสุขภาพทางกายและใจให้กับบุคคลากรด้วย ถ้าแต่ละองค์กรมีการจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความแตกต่างหลากหลาย แล้วให้เกียรติกับความแตกต่างเหล่านั้น 

การยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศยังสามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ด้วย เนื่องจากถ้าพนักงานกลุ่ม LGBTQ+ ไม่ได้การยอมรับจากองค์กร เขาก็ต้องปิดบังตัวเอง และมักจะถูกเลือกปฏิบัติโดยคนรอบข้าง ซึ่งมันส่งผลต่อสุขภาพจิตของเขาเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ The Trevor Project  ที่ระบุว่า ถ้ากลุ่ม LGBTQ+ ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายจะน้อยลง 4 เท่า


 

ความหลากหลายทางเพศมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?


งานวิจัยจาก Mckinsey ระบุว่า องค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศมาก มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูงกว่าองค์กรที่มีความหลากหลายน้อยกว่าถึง 48 เปอร์เซนต์ เรียกว่าครึ่งต่อครึ่งเลย การที่องค์กรเหล่านี้ดูแลเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ดี ก็จะทำให้มีการสานประโยชน์ร่วมกันไปในทางบวกได้มากขึ้น  ซึ่ง Mckinsey ระบุอีกด้วยว่า บริษัทที่มีความหลากหลายทางเพศสูง มีแนวโน้มที่จะได้ผลกำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมถึง 15% ตรงนี้บอกอะไรเราได้พอสมควรเลย

นอกจากนี้ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ นอกจากจะช่วยดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาทำงานแล้วยังช่วยรักษาบุคลากรได้ดีกว่าด้วย เนื่องจากพนักงานจะรู้สึกได้รับความเคารพ ได้รับการยอมรับ เพราะฉะนั้นโอกาสที่คนเก่งจะอยู่กับองค์กรนั้นไปนานๆ ก็มีสูงขึ้นตามไปด้วย


 

ทุกวันนี้ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายขององค์กรมากแค่ไหน ?

หลายองค์กรโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ หรือองค์กรยุคใหม่ๆ ก็เห็นความสำคัญ และเริ่มนำประเด็นเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างๆ มากขึ้น เช่น บริษัทประกันภัย บริษัทท่องเที่ยว เพราะบุคลากรเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่ช่วยผลักดันผลลัพธ์ทางธุรกิจให้ออกมาได้ดี  โดยเฉพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์ กลุ่ม LGBTQ+ ถือเป็นกลุ่มที่ความคิดสร้างสรรค์โดดเด่นมาก ถ้าเรา Engage เขาในเชิงบวกได้ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่

ผมขอยกตัวอย่างบริษัทชั้นนำระดับโลก Google ที่กำหนดนโยบายนี้อย่างจริงจัง เขากำหนดแนวทางชัดเจน เขียนเป็นกฎบริษัทเลย แล้วก็มีการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเรื่องเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งยังเกื้อหนุนต่อความแตกต่างหลากหลาย ไม่เฉพาะแค่เรื่องเพศ แต่รวมถึงเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา อายุ และอื่นๆ ด้วย

สุดท้ายที่สำคัญมากคือผู้บริหารระดับสูง ก็สามารถเป็นกระบอกเสียงในการสนับสนุนเรื่องนี้ได้อย่างดี ผู้บริหารบริษัทเอกชนในเมืองไทยหลายคนก็เริ่มออกมาแสดงเจตนารมณ์กันแล้ว ผมเห็นผู้บริหารระดับสูงหลายองค์กรออกมาร่วมเดินขบวนพาเหรดในงาน Pride Month เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ดีมากๆ


 

‘Workforce Diversity’ หรือการสร้างพื้นที่แห่งความหลากหลาย พื้นที่แห่งความเท่าเทียม และพื้นที่สุขภาวะที่เหมาะสมกับทุกคน คุณมีมุมมองต่อนิยามนี้อย่างไร

คำว่า Workforce Diversity สำหรับผมคือการมองภาพว่า องค์กรควรจะเปิดกว้างในการมีสัดส่วนของแต่ละกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมกันในแบบที่ตอบโจทย์กับพันธกิจองค์กร โดยที่ต้องไม่ปิดกั้นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะว่าเราถือว่าคนทุกกลุ่มก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนองค์กรได้ด้วยเช่นกัน ตราบใดที่ไม่ได้ไปขัดกับพันธกิจองค์กร 

ผมว่าหลายองค์กรในปัจจุบันเปิดกว้างในเรื่องนี้ มีการออกแบบระบบในองค์กรให้รองรับความหลากหลายทั้ง การมีนโยบบายองค์กรที่เปิดกว้าง การคัดเลือกบุคคลากร ระบบสวัสดิการ และวัฒนธรรมองค์กร ที่รองรับความหลากหลาย ก็จะได้เห็นมิติความสำเร็จในอีกระดับ ที่ปรับไปกับกระแสโลกในยุคปัจจุบัน

คำถามสุดท้าย สำหรับสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) จะวางกรอบการทำงานในเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างไรต่อไปในอนาคต

พันธกิจของเราคือ ร่วมผลักดันให้เกิด องค์กรสุขภาวะ ในสังคมไทย ที่ทำให้คนทำงานมีสุขภาพดี 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และ ปัญญา การยอมรับความหลากหลายก็เป็นอีกหนึ่งมิติสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพทางสังคม ซึ่งถ้าบริหารได้ดีก็จะส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพด้านอื่นๆได้แก่ ทาง กาย ใจ  และ ปัญญา ดังนั้นเราสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทำความเข้าใจและพิจารณาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนในเชิงบวก อันจะส่งผลดีต่อการเป็นองค์กรสุขภาวะที่นอกจากจะดึงดูด รักษาบุคคลากร และประสิทธิผล แล้วยังน่าจะส่งผลถึง การเป็นองค์กรที่มุ่งยกระดับคุณภาพชึวิตบุคคลกรอีกด้วย