“หลักสูตรMIO” ....การผสมผสานการพัฒนาจิตกับการใช้ชีวิต"

26/05/2022 คลังความรู้, บทความ 3,102
Share:

 

“หลักสูตรMIO” ....การผสมผสานการพัฒนาจิตกับการใช้ชีวิต"

 

          หากการใช้ชีวิต เปรียบเสมือนการว่ายน้ำ อยากถามว่าเป้าหมายที่คุณต้องการสำหรับการฝึกหัดว่ายน้ำนั้นคืออะไร?
          สำหรับผู้ที่กำลังฝึกว่ายน้ำอยู่  เมื่อคุณตกน้ำคุณอาจไม่รอด เพราะคุณยังว่ายน้ำไม่เป็น  หากคุณว่ายน้ำเป็นแล้วคุณอาจรอด แต่คำถามที่น่าสนใจและชวนให้คิดต่อก็คือ แล้วมีความแตกต่างอย่างไร…ระหว่างว่ายน้ำเป็นกับว่ายน้ำเก่ง?  
        
        คำตอบของคำถามนี้อยู่ในคำอธิบายของย่อหน้าถัดไป….

 

         ในหลักสูตรMIO หรือโปรแกรมการสร้างสุขด้วยสตินั้น ได้มีการอธิบายความหมายของการพัฒนาจิตได้อย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า ระดับของสตินั้นมีอยู่ 3 ความหมาย  ระดับแรกคือ สติในฐานะการฝึกปฏิบัติ (Mindfulness as  PRACTICES ) ระดับถัดมาคือ สติในฐานะที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติหรือเป็นสภาวะจิต (Mindfulness as  STATE )และระดับสุดท้าย สติที่เป็นบุคลิกภาพหรือการที่ได้พัฒนาสติจนกลายเป็นคุณลักษณะทางจิตใจประจำตน (Mindfulness as  TRAIT )  ซึ่งสติทั้ง 3 ความหมายนี้ควรฝึกฝนกันอย่างต่อเนื่อง จาก PRACTICES ไปยัง STATE และจากSTATEพัฒนาต่อไปจนกระทั่งถึงขั้นสุดท้ายคือTRAITในที่สุด   เมื่อใดก็ตามที่ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องการฝึกสติจนชำนาญหรือฝึกจนอยู่ในความหมายของTRAITแล้ว  เขาเหล่านั้นก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกทั้งที่วุ่นวายและไม่วุ่นวายได้อย่างสงบ เกิดสภาวะจิตใหม่ที่มีคุณภาพขึ้นคือ  ปล่อยวางเป็น  ซึ่งหากย้อนกลับไปเชื่อมโยงกับการว่ายน้ำตามที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น  นั่นเท่ากับว่า  คุณสามารถเป็นอีกหนึ่งคน…ที่ผ่านการฝึกหัดจนสามารถว่ายน้ำเป็นและยังคงฝึกฝนตัวเองอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งคือผู้ที่ว่ายน้ำเก่งในที่สุด   ความหมายของการว่ายน้ำเก่ง…จึงหมายถึงการที่คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่ในน้ำได้เหมือนกับการอยู่บนบก เพราะคุณอยู่กับมันอย่างชำนาญและสามารถผนวกจนเป็นส่วนเดียวกับวิถีชีวิตได้นั่นเอง  

 

          มีข้อกำหนดสำคัญของโครงการพัฒนาองค์กรต้นแบบที่มีการพัฒนาจิตเป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กรภายใต้การดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตและการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ไว้ว่า  องค์กรต้นแบบที่เข้าร่วมนั้น ต้องมีการนำหลักสูตรMIOนี้เข้าไปใช้ให้เกิดเป็น”วิถีขององค์กร”จริงๆ  ซึ่งความหมายของการเป็นวิถีก็คือ การใช้สติเป็นMeta Skill หรือเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพในทุกภาคส่วนของการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกันในที่ทำงานนั้น   โดยเริ่มต้นที่ตนเอง เชื่อมโยงมายังการทำงานร่วมกันเป็นทีม   และนำไปสู่การสร้างค่านิยมในการทำงานร่วมกัน พัฒนาค่านิยมนั้นจนเป็นพันธกิจขององค์กรขึ้น……ตนเอง-ทีม-องค์กร จึงเปรียบเสมือนกับเก้าอี้ 3 ขา คํ้าจุนซึ่งกันและกัน เมื่อขาดตัวใดตัวหนึ่งไปก็ยากที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ตามเป้าหมายขององค์กรขึ้นได้
            
          และด้วยเพราะหลักสูตรMIOนี้ไม่ใช่เพียงการจัดอบรมเท่านั้น แต่เป็นการประสานการฝึกอบรมเข้ากับการจัดระบบการทำงานขององค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ ทำให้ความสุขของคนทำงานและความสำเร็จขององค์กรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน  แต่ละองค์กรที่เข้าร่วมโครงการจึงต้องมีการปรับปรุงระบบการทำงานควบคู่กันไปและต้องให้สอดคล้องกับการพัฒนาคนด้วยเช่นกัน    ตัวอย่างสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือ  การทำสมาธิก่อนและหลังเลิกงาน  การเปิดระฆังสติเพื่อส่งเสริมการทำงานอย่างมีสติ  การจัดกติกาการการประชุมใหม่ให้มีการทำสมาธิก่อนการประชุม การสนทนาอย่างมีสติและการสรุปการประชุมด้วยความคิดทางบวก  เป็นต้น
            
          โดยปกติแล้ว เมื่อเราพูดถึงการฝึกฝนจิตให้สงบด้วยสติและสมาธินั้น  หลายคนมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องยาก  แต่สิ่งที่เราลืมพิจารณาก็คือความยากที่แท้จริงนั้น… คือการทำให้สิ่งนี้‘อยู่’และ’เป็น’ในวิถีชีวิตประจำวันของเราให้ได้   เหตุผลเพราะสภาวะจิตที่มีคุณภาพนี้มักถูกรบกวนจากความเครียด  ภาระงานหรือความรับผิดชอบต่างๆตลอดจนการกระตุ้นค่านิยมทางวัตถุที่คอยชักจูงใจให้หันเหออกไปสนใจสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา  การฝึกฝนจิตในที่ทำงานจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน

 

          หลักสูตรMIO จึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์และเพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตของคนหมู่มากที่ต้องใช้เวลาชีวิตครึ่งหนึ่งในแต่ละวันกับการทำงาน และหากเวลาเหล่านั้นเป็นเวลาที่มีคุณภาพ  คือเวลาที่ทุกคนได้พัฒนาจิตไปพร้อมๆกับการทำงานในองค์กรที่ตนสังกัดอยู่ด้วยแล้ว   นั่นย่อมแปลว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตคนเหล่านั้น  คือโอกาสที่จะได้พัฒนาศักยภาพเพื่อค้นพบคุณค่า’ด้านใน’ของตนเอง  พัฒนาความสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

          …..ที่สำคัญ เป็นความสุขที่ยั่งยืนซึ่งสามารถขับเคลื่อนจากหน่วยเล็กๆคือตัวเรา องค์กรของเราแล้วแผ่ขยายเกื้อกูลออกไปสู่สังคมรอบข้างได้อย่างน่าอัศจรรย์