“วงจรแห่งความสุข” เบื้องหลังแพชชั่นความอร่อยของฟู้ดแพชชั่นที่ส่งต่อความสุขโดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง

06/04/2022 คลังความรู้, บทความ 3,540
Share:

ประเด็นสำคัญจากคุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด หัวข้อ "The CEO’s Leadership Role in Optimizing Well-being” CEO บทบาทสำคัญในการสร้าง Organization Well-being งานได้ผล คนเป็นสุข

 “วงจรแห่งความสุข” เบื้องหลังแพชชั่นความอร่อยของฟู้ดแพชชั่นที่ส่งต่อความสุขโดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง

ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้องค์กรเติบโตและดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง หลายคนน่าจะตอบตรงกันว่า ผลประกอบการที่ดีมีผลกำไร ซึ่งผู้บริหารแต่ละองค์กรต่างมีวิธีการทำให้องค์กรของตนเองมีการดำเนินการที่ดีแตกต่างกันออกไป หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ CEO ของ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด (Food Passion) ที่ใช้ความสุขเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า 

โดยคุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ได้มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวนี้ในงาน “Happy Workplace Forum 2022: The Future of workplace well-being” ในหัวข้อ "The CEO’s leadership role in optimizing well being” CEO บทบาทสำคัญในการสร้าง Organization well-being งานได้ผล คนเป็นสุข ซึ่งบริษัทฟู้ดแพชชั่นที่คุณชาตยา ดูแลนั้นเป็นเชนร้านอาหารแบรนด์ดังไม่ว่าจะเป็น บาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซ่บฮัท ฌานา และ เรดซัน เป็นจุดเริ่มให้เธอนำแนวคิดการสร้างความสุขให้กับผู้คนผ่านการกินที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจอาหาร

 

กินอยู่ดี ชีวิตดี มีความสุข 

เราตั้งใจดูแลทุกคนให้มีความสุข โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง” คุณชาตยา ได้พูดถึงสิ่งที่ฟู้ดแพชชั่นเชื่อและยึดถือเป็นแพชชั่นในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด ซึ่งการจะทำให้ทุกคนในองค์กรกว่า 4,000 ชีวิต เห็นภาพและมีเป้าหมายร่วมกันตามที่ตั้งเอาไว้ได้นั้น เธอบอกว่าต้องทำให้องค์กรมีสุขภาวะที่ดีด้วยการทำให้เกิด Organization well-being 

“Organization well-being คือความสามารถขององค์กรในการสร้างและคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่จะทำให้พนักงานทำงานแล้วสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ในขณะเดียวกันองค์กรเองก็สามารถเติบโตมีผลกำไรได้ด้วยเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ขององค์กรเช่นกัน”

คุณชาตยาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า well-being หรือการที่เรามีสุขภาวะที่ดีเป็นจุดตั้งต้นของ engagement หรือความผูกพันที่ดีกับองค์กร โดยฟู้ดแพชชั่นได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง engagement มาก สังเกตได้จากการที่ตัวคุณชาตยา ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร (CEO) เรียกตัวเองว่าเป็น Chief Engagement Officer

Well-being และ engagement ไม่ใช่ทำเพื่อความสุขขององค์กรเท่านั้น แต่เพื่อความอยู่รอดขององค์กร เพื่อการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กรอีกด้วย”

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารความสุข

คุณชาตยา ได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าหน้าที่ของผู้บริหารไม่ใช่ว่าต้องไปทำงานให้เก่งเท่ากับคนเก่ง ๆ ที่อยู่ในองค์กร แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนเหล่านี้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ และตามเป้าหมายขององค์กร หนึ่งในนั้นคือการทำให้พนักงานในองค์กรรู้สึกผูกพันกับองค์กร ซึ่งการมี engagement จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ เพราะทุกคนในองค์กรจะเกิดความรู้สึกร่วมกันใน 5 เรื่อง ได้แก่

1. Say พนักงานจะพูดดีกับองค์กร เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับองค์กรทุกคนจะช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง เป็นกระบอกเสียงที่ดีให้กับองค์กร และมีการชักชวนให้คนรู้จักมาทำงานด้วย ซึ่งบางองค์กรที่ไม่มี engagement พนักงานอาจนำองค์กรไปพูดในทางเสียหายได้

2. Stay พนักงานจะอยู่กับองค์กรนานขึ้น และตลอดเวลาที่ทำงานในองค์กรก็จะทำงานด้วยกันอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งยิ่งคนอยู่กับองค์กรนานก็ยิ่งมีความรู้ความเข้าใจกับธุรกิจมากขึ้น

3. Strive มีความทุ่มเทให้กับองค์กร ทั้งนี้ตัวองค์กรเองก็ต้องทำให้เห็นว่าได้ทุ่มเทให้กับพนักงานด้วยเช่นกัน 

4. Agility ช่วยให้พนักงานปรับตัวได้เร็วเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

5. Resilience พนักงานจะมีความอดทน ล้มแล้วลุกได้อย่างรวดเร็ว มีความเข้มแข็งทางจิตใจและอารมณ์ ซึ่งจำเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา

ในฐานะเป็นผู้นำการทำให้พนักงานในองค์กรรู้สึกผูกพันกับองค์กร คุณชาตยาได้บอกว่า องค์กรต้องมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้าง engagement ตัวอย่างที่ฟู้ดแพชชั่นมีการทำ voice of employee ปีละสองครั้งเพื่อสำรวจความคิดเห็นพนักงานในองค์กร และนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงให้ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานมากขึ้น รวมไปถึงการทำ issue specific survey ที่เก็บข้อมูลประเด็นที่สำคัญแบบละเอียด แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปสู่การปฏิบัติจริงในองค์กร

วงจรแห่งความสุข

“เราเชื่อในเรื่องวงจรความสุข ที่ฟู้ดแพชชั่นวงจรนี้เริ่มต้นที่พนักงาน ถ้าเราดูแลพนักงานให้มีความสุขเต็มอิ่มแล้ว เขาก็จะไปดูแลลูกค้าให้มีความสุขอย่างเต็มที่ พอลูกค้ามีความสุขและความประทับใจในอาหารและบริการของเรา ก็จะกลับมาหาเราอีก หรือชวนเพื่อนให้มาใช้บริการเรา ทำให้ธุรกิจเราแข็งแรงมากขึ้น เมื่อธุรกิจเราแข็งแรง เราก็สามารถกลับไปดูแลพนักงานให้มีความสุขยิ่งขึ้นไปเป็นวงจรแห่งความสุขต่อไปไม่รู้จบ”

จุดเริ่มต้นของวงจรแห่งความสุขนอกจากจะดูแลให้พนักงานมีความสุขแล้วยังต้องทำให้พนักงานเชื่อแล้วลงมือทำงานไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงจะต้อง align ความเชื่อนั้นเข้ากับคุณค่าและวิชั่นขององค์กรให้ได้ เหมือนอย่างที่ฟู้ดแพชชั่นมีแพชชั่นที่จะดูแลให้ทุกคนมีความสุขโดยมีมื้ออาหารเป็นสื่อกลาง

ฟู้ดแพชชั่นเลยใช้วงจรแห่งความสุข เป็นภาพตั้งต้นของการทำงานในแต่ละแผนก ก่อนจะขยายผลเป็น Happy 4 Plus 4 ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรให้กับพนักงาน เพื่อให้คนในองค์กรกว่า 4,000 ชีวิต มีความสุขและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Happy 4 Plus 4 ของฟู้ดแพชชั่น ประกอบไปด้วยการพัฒนาทั้งร่างกาย และจิตใจ ได้แก่ กินดี, พักสบาย, กายแข็งแรง, แบ่งปันความรู้, จิตดี, ครอบครัวดี, มีเงินใช้ และให้สังคม 

โครงการนี้ช่วยพนักงานฟู้ดแพชชั่นทั้งในเรื่อง กินดี มีสวัสดิการด้านอาหารวันละ 2 มื้อ ช่วยให้พนักงานไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร และยังทำให้อิ่มท้องสามารถบริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมาทำงานเช้าขึ้น 

กายแข็งแรง มีกิจกรรมสนับสนุนให้พนักงานได้ออกกำลังกายอย่างการวิ่งที่มีผู้บริหารระดับสูงเริ่มต้นทำเป็นตัวอย่าง

แบ่งปันความรู้ มีกิจกรรม ‘สุข'ศึกษา’ ให้ทุนการศึกษาบุตร และทุนสำหรับเสริมวุฒิการศึกษาให้กับพนักงาน ไปจนถึงการเปิดหลักสูตรศูนย์การเรียน ฟู้ดแพชชั่น (Food Passion Education Centre) ที่สร้างบุคลากรทางด้านบริการอาหารที่มีศักพภาพออกไปสู่ธุรกิจบริการจำนวนมาก 

ส่วนครอบครัวดี ทางฟู้ดแพชชั่นมี ‘ค่ายเพาะสุข’ ให้บุตรหลายของพนักงานได้ลองมาทำงานที่ฟู้ดแพชชั่นเพื่อจะได้เห็นงานที่พ่อแม่ของเขาทำว่ามีคุณค่า มีความหมาย เป็นงานสุจริตที่สร้างอาชีพอย่างไร และยังมีวันครอบครัวให้วันหยุดพนักงานเพิ่มเติมเพื่อใช้เวลากับครอบครัวอีกด้วย

อีกเรื่องที่สำคัญของ Happy 4 Plus 4 คือให้สังคม อย่างกิจกรรม ‘7 Days ทำดีรอบบ้าน’ ที่ชวนพนักงานออกมาทำความดี ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อคือกำไรให้กับสังคม และ มีเงินใช้ ที่ฟู้ดแพชชั่นได้ร่วมกับ startup ด้านการเงิน ให้ความรู้ด้านการเงินกับพนักงาน เพื่อช่วยปลดหนี้ มีความรู้ มีวินัยทางการเงินที่ดี และช่วยในเรื่องการอออม และการวางแผนเพื่อเกษียณต่อไป

 

จุดเริ่มแพชชั่นแห่งความสุข

ในช่วงสุดท้ายคุณชาตยา ได้สรุปบทบาทของผู้บริหารระดับสูงเพื่อให้เกิด Organization well-being และ engagement ภายในองค์กรว่า ต้องให้ความสำคัญแล้วลงมือปฏิบัติใน 5 เรื่อง ดังนี้

1. มีเป้าหมายร่วมขององค์กรแล้วต้องทำให้คนในองค์กรทุกคนเชื่อในเรื่องเดียวกันให้ได้

2. ทำให้งานที่ทำอยู่มีความหมาย ด้วยการให้โอกาส ให้เวที ให้คนในองค์กรทุกคนได้มีโอกาสเสนองาน และลงมือทำงานนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เขารู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีความหมายมากขึ้น ทั้งนี้งานที่ทำนั้นต้องเข้ากับเป้าหมายขององค์กร 

3. ผู้บริหารมีหน้าที่สร้างสภาวะที่ดีเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ผ่านการใช้ soft skill ต่าง ๆ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดี จากการแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารเชื่อแล้วผลักดันสิ่งนั้นอย่างจริงจัง 

4. ต้องให้ผู้นำทีมให้ความสำคัญกับเรื่องคน เพราะผู้นำทีมจะเก่งแต่การทำงานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเก่งเรื่องการบริหารคนด้วย โดยผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่อยู่ข้าง ๆ คอยสนับสนุน

5. ผู้บริหารที่ดีต้องมีสติและสามารถบริหารจัดการวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นเวลาไหนก็ได้

 

โดยคุณชาตยา ยังได้ย้ำอีกครั้งว่าจุดเริ่มต้นของวงจรแห่งความสุขที่จะทำให้องค์กรมี well-being และ engagement นั้น ทุกคนในองค์กรโดยเฉพาะผู้บริหาร สามารถเป็นส่วนสำคัญในการเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรนี้ได้ ด้วยการเป็นคนเริ่มสร้างสุขภาวะให้กับพนักงานและคนรอบตัว ซึ่งผู้ที่ได้รับความสุขก็จะเป็นคนส่งต่อความสุขนี้ต่อไปอย่างไม่รู้จบ 

 

#####