‘เปลี่ยนคนหลงผิดให้เป็นฮีโร่คนใหม่’ ด้วยองค์กรสงฆ์ต้นแบบ ถอดบทเรียน ‘วัดบางม่วง’ เมื่อองค์กรสงฆ์ขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน

19/06/2024 Happy8workplace 11,699
Share:

เยี่ยมชมศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ ‘วัดบางม่วง’ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา หนึ่งในต้นแบบองค์กรสงฆ์ระดับประเทศที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาวะชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. 

“Community Health คือภารกิจของทุกคน สำนัก 8 ร่วมกับวัดบางม่วง จ.อยุธยา องค์กรสุขภาวะพระสงฆ์ต้นแบบที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนงานสุขภาวะพระสงฆ์และชุมชน เพื่อให้กลุ่มอัตลักษณ์และกลุ่มเปราะบาง หรืออดีตผู้กระทำผิด ได้มีพื้นที่ มีโอกาส และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถือเป็นความสำเร็จที่หวังให้เกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ”

เป็นความรู้สึกปลาบปลื้มใจของ พงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร หรือ สำนัก 8 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หลังจากลงพื้นที่เยี่ยมเยียนศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ ภาคกลาง ณ วัดบางม่วง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบองค์กรสงฆ์ระดับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะกับชุมชน

วัดบางม่วงถือเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง 4 อำเภอ ใน 3 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ 1. วัดโบสถ์ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา 2. วัดโคกมะตูม อ.หนองแค จ.สระบุรี และ 3.วัดไร่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นไปตามโครงการการพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนของสำนัก 8 ตั้งแต่ปี 2560

จุดเด่นของศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ วัดบางม่วง คือขับเคลื่อนโดย พระอธิการสุทธิชัย อธิษฐาโน เจ้าอาวาสวัดหนุ่มไฟแรง ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีดำริที่อยากจะพัฒนาพื้นที่วัดให้เป็นพื้นที่ในการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน

โดยระยะแรกเริ่มจากรวมกลุ่มเด็กเยาวชนทำเกษตร ปลูกผักในพื้นที่ว่างของวัด เพื่อนำผักปลอดสารไปประกอบอาหารที่บ้านและนำอาหารมาถวายพระ ทำให้พฤติกรรมการถวายอาหารพระสงฆ์ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี

ต่อมาระยะสอง ได้เข้าร่วมโครงการศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ  เน้นให้ความรู้พระสงฆ์และประชาชนในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล รวมถึงการประสานส่งต่อกับหน่วยงานรัฐต่างๆด้วย สามารถช่วยดูแลกลุ่มพระสงฆ์ ผู้สูงอายุ และผู้ยากไร้ ให้รับรู้และเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งโครงการนี้มี สสส. ให้การสนับสนุนกิจกรรมขับเคลื่อนและสื่อองค์ความรู้ต่างๆ

ระยะสาม บทบาทสำคัญของวัดช่วงโควิดคือ เป็นศูนย์พักคอย รับพระสงฆ์และประชาชนในพื้นที่ โดยไม่จำกัดศาสนา ทั้งยังจัดพื้นที่สำหรับละหมาดไว้ให้ผู้ป่วยมุสลิมด้วย  การบริหารจัดการได้รับความร่วมมือจากรพ.สต.ดูแลเรื่องกาย ส่วนวัดเองดูแลเรื่องจิตใจ โดยมีกิจกรรมฟังเทศน์ฟังธรรม ให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อป่วย และคลายความวิตกกังวลเรื่องต่างๆ 

สำหรับระยะการทำงานในปัจจุบัน ศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ ภาคกลาง ณ วัดบางม่วง ร่วมกับ สำนัก 8 กรมควบคุมความประพฤติ สาธารณสุขจังหวัด  รพ.อำเภอ และภาคีเครือข่ายต่างๆ มาร่วมทำงาน โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มอัตลักษณ์และกลุ่มเปราะบาง (กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาวะ อาทิ อดีตผู้กระทำผิด)  ในพื้นที่อ.ท่าเรือ  

ขณะเดียวกัน วัดยังทำหน้าที่อบรมและเป็นที่พักรอของเด็กเยาวชนที่พ้นโทษจากสถานพินิจ ก่อนจะคืนกลับสู่ชุมชน โดยวัดมีกระบวนการพัฒนาเรื่องสุขภาวะองค์รวม ทั้งกาย จิต สังคม และปัญญา ผ่านกิจกรรมจิตอาสา ทำให้ชุมชนเกิดการยอมรับ ลดการตีตรา และให้โอกาสเด็กๆกลุ่มนี้กลับเข้าสู่สังคมและชุมชนอีกครั้ง

เรียกได้ว่า พระอธิการสุทธิชัย อธิษฐาโน ได้สร้างมายเซ็ตใหม่ให้คนในชุมชนได้เปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่มีต่อคนกลุ่มนี้ใหม่ มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ไม่ตัดสินตีตรา

ผศ.ดร.ปฏิธรรม สำเนียง รองผู้จัดการโครงการการพัฒนาศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพองค์กรสงฆ์และชุมชน โดย สำนัก 8  กล่าวถึงศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ ภาคกลาง (วัดบางม่วง) ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

“ศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ ภาคกลาง เป็นไอเดียต่อยอดมาจากโครงการแรกคือ ‘โครงการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’ ปี 2559-2560 โดย สสส. เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมทั้งทรัพยากรและเชื่อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธรรมนูญฉบับนี้  ทีมงานเราโดย พระอาจารย์ประยูรฯ ได้มีโอกาสเข้าไปทำการประเมินให้กับสปสช. ซึ่งสปสช.ก็มีนโยบายขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์ เราก็พบแก่นหนึ่งอย่างคือเรื่องของกองทุน และเรื่องศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน ประกอบกับเราสำรวจว่าพระสงฆ์จำนวนมากยังเข้าไม่ถึงกองทุน สาธารณสุขอำเภอบอกว่าพระไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองมีสิทธิสุขภาพอะไร เวลาเจ็บป่วย ต้องไปรักษาที่ไหน ยังไง 

“จึงเกิดดำริว่า ควรเปิดศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนในวัด เพื่อให้พระได้รับรู้และเข้าถึงสิทธิเรื่องสุขภาพ พอทำหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ ก็เลยรวมไปกับการเข้าถึงกองทุนที่เป็นกองทุนกปท. ที่สปสช.จะเอาเงินไปไว้ที่อบต. เทศบาลต่างๆ  แล้วให้ชุมชนรวมตัวกันเขียนโครงการเข้าไปขอ วัดก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็สามารถไปขอทำประเด็นสร้างสุขภาวะในชุมชนของเขาได้”

“ในส่วนของโครงการ โดย สสส. เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมทั้งทรัพยากรและเชื่อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำไปทำมาเราก็เห็นว่าทิศทางยังค่อนข้างแคบ เพราะทำแค่เรื่องการเข้าถึงสิทธิ์ แต่ยังขาดการสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ  เพราะมันนอกขอบข่ายศูนย์ จึงขยายมาเป็นศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ คราวนี้ไม่ได้ทำแค่เรื่องสิทธิการเข้าถึงแล้ว แต่ทำทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ”

ผศ.ดร.ปฏิธรรม กล่าวต่อว่า ด้วยศักยภาพและความตั้งใจของพระอธิการสุทธิชัย อธิษฐาโน ทำให้วัดบางม่วงได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์ประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธ โดยมีหน้าที่หลักดังนี้

1. จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ในระดับตำบล 

2. คืนข้อมูลด้านสุขภาพพระสงฆ์ให้แก่องค์กรสงฆ์และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมวางแผนในการกำหนดประเด็นการแก้ปัญหาและพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์ 

3. ร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพในพื้นที่ 

4. สื่อสารและขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะในพื้นที่ 

5. ขยายประสานงานสุขภาวะวิถีพุทธออกไปทั่วประเทศ ปัจจุบันมีศูนย์หลักทั้ง 24 ศูนย์ ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ 18 ศูนย์ ใน 18 ภาคการปกครองของคณะสงฆ์

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้อำนวยการสำนัก 8 ที่อยากให้มี Community Health เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ

“การเชื่อมงานหลากหลายหน่วยงานในพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ของ Resouce ต่างๆในพื้นที่ สำหรับผมอยากเห็นการขยายผลพื้นที่ลักษณะแบบนี้ นั่นคือองค์กรสงฆ์ที่ขับเคลื่อนงานเพื่อชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ถูกตีตราโดยสังคม ให้เป็นโมเดลระดับโลกขยายไปถึงต่างประเทศ และอยากเห็นรูปแบบงานลักษณะนี้ถูกสื่อสารออกไปให้มากขึ้น รวมถึงเกิดงานวิชาการที่สนับสนุนโครงการให้เข้มแข็งและมีมาตรฐานที่สามารถนำไปเป็นต้นแบบให้กับองค์กรสงฆ์อื่นๆ ได้ต่อไป”