ประเด็นสำคัญจากผู้เสวนาหัวข้อ Well-being and The Future of Work : Strategies to Improve Happiness and Health of Employees
ปรับตัวด้วยความเข้าใจ เพื่อการทำงานยุคใหม่อย่างมีสุขภาวะที่ดี
ตอนนี้กระแสการเปลี่ยนแปลงมากมายเข้ามากระทบองค์กรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง digital disruption, generation gap, ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และวิกฤตโควิด-19, การเกิด great resignation ไปจนถึงรูปแบบการทำงานใหม่แบบ hybrid workplace
การปรับตัวขององค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดเลยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยากกว่านั้นคือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้โดยมีผลประกอบการที่ดี พร้อมกับทำให้คนในองค์กรมีความสุขไปพร้อมกัน เป็นที่มาของงานเสวนาหัวข้อ “Well-being and The Future of Work : Strategies to Improve Happiness and Health of Employees” ภายในงาน Happy Workplace Forum 2022 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา
งานเสวนานี้ได้วิทยากรที่มีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องผลการดำเนินการและการสร้างความสุขให้คนในองค์กรไม่ว่าจะเป็น หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สํานักงาน ก.พ.ร. และอดีตเลขาธิการ ก.พ., ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) และคุณศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มทรู โดยมีคุณพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวพองค์กร สสส. เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในครั้งนี้ ที่มาช่วยตั้งคำถามเพื่อไขเคล็ดลับขององค์กรชั้นนำในการปรับตัวให้เป็นองค์กรแห่งความสุขท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน
สร้างกำลังคนรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง
หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สํานักงาน ก.พ.ร. และ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ได้ให้ความเห็นว่า การปรับตัวขององค์กรในปัจจุบันโดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ต้องเร่งสร้างคนรุ่นใหม่ เพราะพวกเขาเป็นกำลังสำคัญที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
“เราทำแบบสำรวจกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเติบโตมาเป็นผู้บริหารในแต่ละองค์กร ได้ข้อสรุปว่า ตอนนี้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ห้าที่สำคัญคือ หนึ่งความขัดแย้งทางความคิด และช่องว่างระหว่างวัยของผู้คนในสังคมที่ถ่างห่างกันมากขึ้น สองพัฒนาการเทคโนโลยีที่เปลี่ยนรูปแบบความคิดและการทำงาน สามความกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สี่ความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจที่จะส่งผลให้อาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น และห้าความเชื่อมั่นในรัฐที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากการบริหารจัดการของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ”
ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สํานักงาน ก.พ.ร. ยังได้ย้ำอีกว่าการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจะใช้เครื่องมือและรูปแบบวิธีคิดแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ต้องพัฒนาไปสู่คุณค่าใหม่ที่สร้างความสุขให้กับชีวิตตัวเองและผู้ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น
1. ต้องเปลี่ยนมาเพิ่มผลผลิตด้วยการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี และเพิ่มการสร้างพัฒนาสมรรถนะใหม่ของผู้คนในองค์กรมากยิ่งขึ้น
2. ต้องเลิกรวมศูนย์อำนาจ และสร้างคุณค่าประชาธิปไตย ด้วยการมอบอำนาจการบริหารไปสู่กลุ่มหรือบุคคลให้มากที่สุด
“การทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะใช้กลยุทธ์ วิธีคิด และเป้าหมายแบบเดิมไม่ได้ผลอีกต่อไป ต้องปรับจาก operative organization เป็น innovative organization โดยในช่วงปีที่แล้ว เราได้คุยกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมมือกัน จับมือกันเพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และมองในระยะสั้นสองสามปีข้างหน้าว่าจะพัฒนาศักยภาพของคนอย่างไร ซึ่งเรากำลังจะทำเป็นคู่มือเพื่อเผยแพร่ให้องค์กรต่าง ๆ นำไปใช้”
นอกจากวิธีคิดในการทำงานที่ต้องเปลี่ยนไปแล้วหม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการสร้าง happy workplace จำเป็นต้องนิยามความหมายของความสุข หรือ well-being แบบใหม่อีกด้วย
“นิยามความสุขในยุค new normal จะใช้ไม้บรรทัดเดียวกันไม่ได้ เพราะสังคมหลากหลายขึ้น มีความต้องการที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนกัน มันต้อง customize ตามกลุ่มหรือตามความคาดหวังเป็นรายบุคคล ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและออกแบบกลไกรวมกัน” หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล กล่าวทิ้งท้าย
องค์กรแห่งความสุขสร้างได้ด้วยเทคโนโลยี
ถ้าพูดถึงองค์กรที่มีนวัตกรรมทันสมัยอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยต้องยกให้กับกลุ่มทรู ซึ่งการเป็นบริษัทที่โดดเด่นในด้านเทคโนโลยี ทำให้กลุ่มทรูนำเอาจุดแข็งนี้มาปรับใช้กับการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์จน จนล่าสุดกวาดรางวัล “HR Excellence 2021” จากสถาบัน Human Resources Online ประเทศสิงคโปร์ มามากถึง 9 สาขา โดยได้รางวัลระดับโกลด์มา 2 รางวัลคือ สาขาความเป็นเลิศด้านการนำนวัตกรรมมาใช้ในเทคโนโลยีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Excellence in Innovative Use of HR Tech) และ สาขาความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการกลุ่มพนักงานศักยภาพสูง (Excellence in Talent Management)
คุณศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “องค์กรของเรามีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการบุคคล ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งการใช้ติดต่อระหว่างพนักงานกับฝ่ายบุคคล นอกจากนี้เรายังมีนโยบายในการดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน ที่เอาความต้องการของคนในองค์กรเป็นที่ตั้ง เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ให้ทุกคนได้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน”
คุณศรินทร์รา ได้เพิ่มเติมว่ากลุ่มทรูได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้พอมีวิกฤตสามารถนำมาปรับใช้ได้ทันที ซึ่งเหมาะกับโลกในวันนี้ที่ต้องเร็วและมีความยืดหยุ่น (Speed and flexibility) เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง automation, โรคระบาด และ ช่องว่างระหว่างวัย
ทั้งนี้หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้ให้ข้อเสนอแนะ 5 ข้อที่องค์กรจำเป็นต้องทำเพื่อให้คนในองค์กรโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความสุข คือ
1. เปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายขององค์กรเป็น purpose driven leadership
2. เปลี่ยนจากสร้างทีม เป็นสร้างวัฒนธรรม แล้วนำวัฒนธรรมของแต่ละคนมาประกอบเป็นภาพใหญ่ให้ได้
3. เปลี่ยนจาก command and control เป็น orchestrating value co-creation ที่องค์กรเป็นคอนดักเตอร์ empower ให้คนทำงานอย่างมีความสุข
4. Co-create innovation นำนวัตกรรมที่คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขามาปรับใช้เพื่อให้ทุกคนในองค์กรอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
5. Ecosystem มีการอกแบบสภาพแวดล้อมภายในให้คนในองค์กรมี well-being ที่จะช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขและองค์กรได้ประสิทธิภาพสูงสุด
โลกแบบ VUCA ต้องปรับตัวอย่างเข้าใจ
โลกที่กำลังเผชิญเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างในตอนนี้ เรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ VUCA ที่มีทั้ง ความผันผวน (Volatility), ความไม่แน่นอน (Uncertainty), ความซับซ้อน (Complexity) และ ความคลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมา บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทหนึ่งที่ต้องผ่านเหตุการณ์แบบนี้มานับครั้งไม่ถ้วน แล้วปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดทุกครั้ง
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) ได้แบ่งปันแนวคิดที่ช่วยให้องค์กรสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างต่อเนื่องว่า “องค์กรเรามีการเปลี่ยนผ่านตลอดเวลา ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม 2.0 มาเป็น 3.0 ที่นำระบบ automation มาทำงาน จนถึงยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เราเลยต้องมีการ reskill upskill คนในองค์กรอยู่ตลอด รวมไปถึงการทำเรื่อง happy workplace ควบคู่กันไปด้วย โดยเราได้ร่วมกับ สสส. เมื่อสิบปีที่แล้ว ทำให้ตอนนี้เราเป็นองค์กรที่มีผลความผูกพันในองค์กร (engagement) ของ Western Digitalประเทศไทยสูงที่สุดในกลุ่ม Western Digital 30 ประเทศทั่วโลก”
การใส่ใจเรื่อง happy workplace อย่างจริงจังที่ว่านี้ มีทั้งการขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงาน เพิ่มสิทธิในการลาคลอดเป็น 5 เดือน หรือการทำมุมนมแม่ ที่ให้พนักงานหญิงสามารถส่งนมไปให้ลูกผ่านระบบขนส่งต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่ง ดร.สัมพันธ์ บอกอีกว่า การทำให้สถานประกอบการเป็นองค์กรแห่งความสุข เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับตัวขององค์กรในยุค VUCA ที่องค์กรต้องให้ความสำคัญกับคนมากยิ่งขึ้น ต้องทำให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าและความหมายให้มากกว่าแค่เรื่องธุรกิจ ที่สำคัญต้องดูแลผลตอบแทนพนักงานให้เพียงพอในขณะเดียวกันต้องบริหารต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ตอนนี้เราต้องเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสามระดับ หนึ่งในระดับโลกมี multi disruption เกิดการเปลี่ยนแปลงพร้อมกันหลาย ๆ อย่าง สองระดับประเทศเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยคนเกิดน้อยผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น เราต้องเพิ่มศักยภาพให้คนทำน้อยลงแต่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในระดับองค์กรต้องใช้ความ resilience ปรับตัวอย่างเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้องเข้าใจองค์กรและองค์กรก็ต้องเข้าใจพนักงาน เพราะทุกวันนี้ความคาดหวังและความต้องการแบบเดิม ๆ จะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปในยุค VUCA นี้”
เมื่อความสุขในที่ทำงาน และบ้าน เป็นเรื่องเดียวกัน
ช่วงสุดท้ายของการเสวนาผู้บริหารจากทั้งสามองค์กรได้แลกเปลี่ยนกันในประเด็นการรับมือกับปรากฏการณ์การลาออกระลอกใหญ่ (The great resignation) ที่เชื่อมโยงกับการปรับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
โดยหม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล ได้ให้ความเห็นว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ ต่อไปคนต้องมีการ upskill reskill ฝึกทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และการจ้างงานแบบประจำจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไปใช้การทำงานแบบ co-creation มากขึ้น องค์กรเลยต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ให้มีทั้ง
1. การยืดหยุ่นของเวลา ให้คนทำงานแบบ work-life integration
2. การยืดหยุ่นของสถานที่ทำงาน ให้ทำงานจากไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศตลอดเวลา
3. การยืดหยุ่นของค่าตอบแทน ให้ได้ค่าตอบแทนตามงานที่ทำ
4. การยืดหยุ่นทางความคิด สร้างเงื่อนไขแล้วโอกาสให้คนได้เรียนรู้ ใช้ lesson learn เรียนรู้จากความล้มเหลว มีการปรับเปลี่ยนตัวเองล้มแล้วลุกใหม่ให้เร็วที่สุด
ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนในระดับนโยบายในเรื่อง work-life integration เพราะตอนนี้ความสุขในที่ทำงาน และที่บ้าน กลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว องค์กรต้องเข้าใจว่าความต้องการและนิยามความสุขของคนที่เปลี่ยนไปมีความหลากหลายในระดับบุคคลมากขึ้น ต้องออกแบบเครื่องมือที่พร้อมสนับสนุนให้ทุกคนมีความสุข อย่างเช่น ระบบการทำงานยืดหยุ่น คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ เพื่อปรับตัวรองรับสิ่งใหม่ ๆ
ทางด้านคุณศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ เสริมว่าต่อไปนี้การจ้างตลอดชีพ (Lifetime employment) จะเป็นเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learner) ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อให้มีความสามารถที่เหมาะกับทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนวิธีคิดให้มี mindset ที่เปิดกว้างพร้อมที่จะปรับตัวทุกเวลา
ในส่วนขององค์กรต้องหาวิธีที่จะบริหารคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเหล่านี้ด้วย เพราะรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นทำให้ engagement หายไป องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรผ่าน hybrid workplace โดยต้องทำให้คนทำงานมีสุขภาวะที่ดีเพื่อที่พวกเขาจะได้มีความสุข จากการเข้าใจฟังพนักงานเป็นหลัก เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พนักงาน
ที่ผ่านมากลุ่มทรู มีทั้งการออกแบบคอร์สออนไลน์ให้พนักงานได้พัฒนาทักษะ การมีที่ปรึกษา และการพบหมอผ่านออนไลน์กับพนักงานที่ต้องการ มีห้องกายภาพบำบัด มุมนมแม่ ห้องอนุบาลไว้ฝากบุตรของพนักงาน รวมถึงการนำระบบ gamification มาช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข
รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ให้รางวัลและโอกาส การสร้างความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ การทำให้งานที่ทำมีความหมายและคุณค่าไปกับเป้าหมายขององค์กร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับการทำงาน มีการดูแลเรื่อง well-being ให้กับพนักงานอย่างจริงจัง
ส่วน ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ได้ชี้ให้เห็นว่าบางอุตสาหกรรมยังจำเป็นต้องให้คนไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน ความท้าทายขององค์กรเลยอยู่ที่วิธีการสร้างแรงจูงใจ และการออกแบบวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ตอบโจทย์มากขึ้น รวมไปถึงการนำเอาแนวคิด happy workplace มาปรับปรุงใหม่โดยนำเอาวิจัยและข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพิ่มเติม
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ได้ทิ้งท้ายว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสมดุลระหว่างคนกับองค์กร ผู้ที่เป็นผู้นำองค์กรจะคิดแค่ผลกำไรสูงสุดไม่ได้ ต้องทำให้คนในองค์กรมีความสุขไปพร้อมกัน เพราะสุดท้ายความสมดุลจะทำให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนของทุกคน