ดื่มชาดี มีประโยชน์ 15 ธันวาคม วันชาสากล

27/01/2023 Happy Brain 2,801
Share:

ช่วงบ่าย ๆ ของวันทำงาน หลังจากมื้อกลางวัน เครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เมนูโปรดหลายคนคงเป็นกาแฟ แต่เราเองเป็นคนที่ชอบดื่มชา และรู้ว่าในชา ก็มีคาเฟอีนไม่แพ้กาแฟ รายงานจากสถาบันอาหารนานาชาติให้ข้อมูลว่า สำหรับวัยผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรง การได้รับคาเฟอีน 300 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยทั้งเรื่องสุขภาพและความกระฉับกระเฉงระหว่างวัน และ ยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง

จากข้อมูลงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าการดื่มชามีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด ดังนี้

1. ชาช่วยต้านอนุมูลอิสระ

ในชาอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟีนอล (pholyphenol) หลายตัวช่วยต้านการอักเสบและความเสื่อมในร่างกาย มีบทบาทในการชะลอการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากอนุมูลอิสระ ซึ่งถือเป็นคุณประโยชน์ของชาที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ได้แก่

สารแคทเทชิน (catechins) ที่พบมากในชาเขียว คือ สารอีพิกัลโลแคทเทชินกัลเลต (epigallocatechin gallate) หรือ EGCG เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและป้องกันความเสียหายของเซลล์ร่างกายจากอนุมูลอิสระ

สารแทนนิน (tannins) เช่น สารธีอะฟลาวินส์มีมากที่สุดในชาดำ รองลงมาเป็นชาขาว ชาอู่หลง อู่หลง และชาเขียว ตามลำดับ มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระเป็นสารที่ทำให้รู้สึกรสชาติฝาดและขมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชา และทำให้ชามีสีเข้ม

สารต้านอนุมูลอิสระในชาสมุนไพร เช่น สารจินเจอรอล (gingerol) ในชาขิง หรือสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ในชาคาโมมายล์ เป็นต้น

2. ชาช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน หรือร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ มีการศึกษาการดื่มชาเพื่อสุขภาพของ the american journal of nutrition พบว่า สารโพลีฟีนอลและแคทเทชินในชาเขียว ช่วยเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) อีกหนึ่งการศึกษาในญี่ปุ่นศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการดื่มชาและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน กับเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่ และติดตามผล 5 ปี พบว่า ผู้ที่ดื่มชารวมถึงเครื่องดื่มคาเฟอีนเสี่ยงเป็นเบาหวานน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มชา หรือดื่มน้อยกว่า 1 แก้วต่อสัปดาห์

3. ชาช่วยเรื่องสุขภาพหัวใจ

มีการศึกษาพบประโยชน์ของชาว่า ชาเขียวและชาดำช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) และลดระดับความดันโลหิต ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และอีกงานวิจัยพบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียววันละ 4 ถ้วยขึ้นไป เป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวายลดลง 32 เปอร์เซ็นต์และระดับ LDL ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาในระยะยาว รวมถึงมีงานวิจัยที่น่าสนใจโดยศึกษาในคนญี่ปุ่น เป็นเวลา 6 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียวปริมาณ 7 ถ้วยต่อวัน มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยลง 76% เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มน้อยกว่า 1 ถ้วยต่อวัน อีกงานวิจัยเป็นการศึกษาโดยติดตามเป็นเวลา 11 ปี พบว่า ผู้ที่ดื่มชาเขียวมากกว่า 5 แก้วต่อวัน มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม

4. ชาช่วยเรื่องการทำงานของสมอง

ในชาเขียวมีคาเฟอีนแต่ปริมาณน้อยกว่ากาแฟ ซึ่งมีงานวิจัยว่าคาเฟอีนช่วยเรื่องการทำงานของสมองเพิ่มเรื่องการตื่นตัว สมาธิ และมีกรดอะมิโนแอล – ธีอะนีน (L-Theanine) ช่วยเรื่องบรรเทาความเครียด ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น มีการศึกษาของ Journal of Medical food ในคนญี่ปุ่นอายุ 50 – 69 ปี พบว่า แอล – ธีอะนีน อาจมีส่วนช่วยเรื่องสมาธิและความจำ

5. ชาช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย

ชามีสารต้านอนุมูลอิสระและกรดอะมิโน เช่น แอล – ธีอะนีน ซึ่งมีการทดลองพบว่าอาจช่วยลดผลของฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด เช่น คอร์ติซอล และสารอีพิกัลโลแคทเทชินกัลเลต เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รู้สึกสงบและผ่อนคลายขึ้น รวมถึงกลิ่นของชาสมุนไพร เช่น ชาลาเวนเดอร์ ช่วยทำให้จิตใจสงบ

 

ที่มา

https://www.nestle.co.th/th/nhw/3e/eat/tea-benefits

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/977139