สติกับงานสร้างสุขในโรงพยาบาล

10/03/2022 Happy8workplace 2,741
Share:

สติกับงานสร้างสุขในโรงพยาบาล

          บทเรียนการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลสร้างสุขที่ทำให้ทั้งฝ่ายบุคลากรและผู้รับบริการมีความสุข นับว่าเป็นการเรียนรู้สำคัญสำหรับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่สำคัญและเป็นโซ่ข้อกลางของระบบบริการสุขภาพ จุดสำคัญ คือ เป็นการเรียนรู้จริงผ่านการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดผล แล้วถอดบทเรียนเพื่อให้ผู้อื่นสามารถทำได้ “เร็วกว่า ง่ายกว่า ถูกกว่า” 

                การค้นพบว่าสติในการทำงานทั้งระดับบุคคล ทีม และองค์กร เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความสุขให้บุคลากร ทำให้องค์กรบรรลุพันธกิจ ที่มีต่อผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งชุมชนและสังคม เป็นการเปิดแนวทางใหม่ของการใช้สติ ในทางที่ไม่ใช่ศาสนา (secular, nonreligious approach) ได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้แนวคิดเรื่องสติ ในฐานะของสภาวะจิตที่ทำงานโดยไม่วอกแวก ไม่ถูกสอดแทรกด้วยอารมณ์ จะมีรากฐานมาจากการฝึกจิตในพุทธธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธรรมในระดับต่างๆ แต่เรื่องของสติก็มีคุณค่าเกินกว่าที่จะจำกัดอยู่แต่ศาสนาในทางสากล ขณะนี้มีการนำสติไปใช้ในทางโลก เพื่อจัดกาความเครียด สร้างความสุขที่ยั่งยืน พัฒนาผู้นำและพัฒนาองค์กรอย่างคึกคัก รวมทั้งการทำวิจัยว่าสติมีผลต่อสมองและการทำงานของสมอง ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนและมีการพัฒนาความรู้ไปอย่างไม่ขาดสาย การสร้างสุขในโรงพยาบาลจึงเป็นการค้นพบที่สำคัญในบริบทโรงพยาบาลและบริบทของสังคมไทย

          ปัจจัยสำคัญของการสร้างสุขในองค์กร โดยเฉพาะการนำสติไปใช้ทั่วทั้งองค์กรนั้น ต้องอาศัยนวัตกรรมการพัฒนาสติที่มีพลังควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพภายใต้การนำองค์กรที่เข้มแข็ง  บทเรียนจากกบริหารจัดการและการนำองค์กรจึงมีค่ายิ่งไม่ว่าจะเป็นการสร้างทีม การมีส่วนร่วม การบริการการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ จนทำให้สติเป็นวิธีคิดและระบบในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของบุคลากร ตลอดจนการประชุมของทีมในสายงานและข้ามสายงาน

“เมื่อบุคลากรมีความสุขจากสติในองค์กรแล้ว ภารกิจที่มีต่อผู้ป่วยและญาติจะเปลี่ยนมิติไปอย่างชัดเจน จากความรู้สึกเป็นภาระ กลับทำงานอย่างมีพลัง ด้วยความรัก ความเมตตา และให้อภัย รวมทั้งนำเรื่องสติใช้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติ บางแห่งเริ่มขยายไปสู่ชุมชน ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อสังคม”

          สังคมไทยนับวันแต่จะพัฒนาเป็นสังคมเมือง และผู้คนส่วนใหญ่ก็จะทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆ องค์กรก็ถูกบีบคั้นให้ทำงานอย่างมีผลิตภาพและมีคุณภาพ ซึ่งก็ส่งผลให้ทั้งคนและองค์กรมีความเครียด การหลุดออกจากสภาพดังกล่าวของโรงพยาบาลที่ทำให้คนทำงานและผู้รับบริการ รวมทั้งชุมชนมีความสุข จึงเป็นสิ่งท้าทายที่องค์กรต่างๆไม่ใช่แต่โรงพยาบาลเท่านั้น น่าจะได้เรียนรู้และนำไปขับเคลื่อนองค์กรและสังคมของเราต่อไป

  นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

 ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต