การพัฒนาครัวต้นแบบ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

08/06/2022 Happy8workplace Happy Body Happy Soul Happy Relax Happy Brain Happy Society 3,659
Share:

    โครงการการขับเคลื่อนมุ่งเป้าเพื่อสื่อสารโภชนปัญญา “สงฆ์ไทยไกลโรค” สู่พระสงฆ์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช เป็นหัวหน้าโครงการ ได้จัดทำรายงานการปรับปรุงครัวต้นแบบ เพื่อสงฆ์โภชนาดี เนื่องจากการพัฒนาระบบโรงครัวในสถาบันการศึกษาของสงฆ์ให้เป็นต้นแบบครัวสุขภาพสงฆ์ไทยไกลโรค เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะแก้ไขทั้งปัญหาโภชนาการและความปลอดภัยอาหาร ดังนั้น เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์โครงการ คือ พัฒนาโครงสร้างครัวและกระบวนการผลิตอาหารในครัวที่เตรียมอาหารเพื่อถวายพระสงฆ์ในสถาบันการศึกษาของสงฆ์ในมหานิกายและธรรมยุตินิกาย เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่ถวายพระสงฆ์ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบอาหารถึงความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการในอาหารที่นำมาถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อพัฒนา “ครัวสงฆ์ไทยไกลโรคต้นแบบ” แก่สถาบันการศึกษาของสงฆ์ในมหานิกายและธรรมยุตินิกาย  โครงการได้ดำเนินการพัฒนา และปรับปรุงระบบครัวเป็นครัวต้นแบบ ได้แก่ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)  ครัวโรงพยาบาลสงฆ์ และครัววัดบูรพ์ จังหวัด นครราชสีมา     สำหรับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้มีการลงพื้นที่ และการปรึกษาหารือกับ คณะผู้บริหาร มจร. ผู้ปฏิบัติงานครัว และ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านกายภาพความปลอดภัยอาหาร โดยเน้นตามมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้สัมผัสอาหาร ชี้แนะจุดที่ควรปรับปรุง เช่น การจัดการวัตถุดิบ ความสะอาด และเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเรื่องความมปลอดภัยอาหาร โครงการมีการดำเนิน การเพื่อเสริมความรู้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน โดยการพาเยี่ยมชมระบบครัวที่มีมาตรฐาน ได้แก่ ครัวโรงพยาบาลพระมงกุฎ และครัวโรงพยาบาลราชวิถี และเตรียมครัว มจร.ก่อนเข้ารับการ ตรวจประเมินสุขาภิบาล จาก สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการตรวจ สุขาภิบาลอาหารเบื้องต้น ซึ่งผลการตรวจประเมินตามมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารสาหรับโรงอาหาร จำนวน 75 ข้อ ถูกต้องครบถ้วน เป็นไปตามข้อกำหนดสุขลักษณะ จำนวน 28 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 37.3 ต้องปรับปรุง ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสุขลักษณะ จำนวน 38 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 50.7  ไม่มีกิจกรรมที่ระบุไว้ในข้อกำหนดและไม่เป็นปัญหาด้านสุขาภิบาลอาหาร จำนวน 5 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 6.7 ไม่ได้ตรวจประเมินกิจกรรมที่ระบุไว้ในข้อกำหนด จำนวน 4 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 5.3 หลังจากนั้น  ครัว มจร.พยายามปรับปรุงแก้ไขในประเด็นต่างๆ   ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีการตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหารที่ครัว มจร. โดย สสจ.อยุธยา  เป็นการตรวจประเมินเบื้องต้นก่อนตรวจประเมินให้การรับรองจริง  มีประเด็นหลักที่ต้องปรับปรุงแก้ไข  ได้แก่ เพิ่มเติมการตรวจสุขภาพและการอบรมสุขาภิบาลแก่ผู้สัมผัสอาหาร และการล้างภาชนะ  ทีมตรวจประเมินจาก สสจ.พระนครศรีอยุธยาได้ให้คำแนะนำพร้อมแนวทางปฏิบัติแก่ทีม ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในครัว มจร. เพื่อนำไปปฏิบัติและแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆ  หลังจากนั้น สามารถ ขอรับการตรวจเต็มรูปแบบได้  โครงการและผู้ตรวจประเมินโรงครัวและหอฉันของ มจร.มีขีดความสามารถเพียงพอ ที่จะผ่านการตรวจประเมินเพื่อพัฒนาไปสู่ครัวต้นแบบได้อย่างยั่งยืน เป็นครัวต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นๆได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้สืบไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้พระสงฆ์และสามเณร ห่างไกลโรค   ถือได้ว่า ครัวมจร.เป็นครัวสถาบันสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทยที่ก้าวสู่มาตรฐาน คุณภาพอย่างน่าภาคภูมิใจ

สำหรับด้านโภชนาการ โครงการวิเคราะห์รายการอาหาร โครงการได้ทำการวิเคราะห์รายการอาหาร
ของครัว มจร. และจัดทำรายการอาหารหมุนเวียน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ฝ่ายครัว มจร. นำไปปรับใช้ รวมถึงจัดทำสื่อความรู้เกี่ยวกับโภชนาการสำหรับฝ่ายปฏิบัติงานครัวและฆราวาสผู้ถวายอาหาร
พระสงฆ์

สำหรับครัว โรงพยาบาลสงฆ์ มีเครือข่ายสำคัญ คือ คุณสุธีรา บัวศรี และทีมโภชนาการ โรงพยาบาลสงฆ์ โครงการเน้นการพัฒนา 2 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพและความปลอดภัยอาหาร สิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่ การป้องกันสัตว์และแมลง การเก็บอาหารทางสาย ควรมีระบบควบคุม
อุณหภูมิให้เหมาะสม อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุด ระบบความปลอดภัยถังแก๊ส และการจัดสรรพื้นที่ เนื่องจาก
บริเวณประกอบอาหารอยู่ชั้นใต้สุด ทำให้อากาศถ่ายเท ไม่ดี มีความชื้น ส่งผลต่อสุขภาพของแม่ครัว และพนักงาน ด้านโภชนาการ ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช หัวหน้าโครงการจัดการอบรมออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมนักโภชนาการโรงพยาบาลสงฆ์ สำหรับให้
คำแนะนำแก่พระสงฆ์อาพาธ และการจัดทำสื่อความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจให้ฆราวาส
ผู้ถวายอาหารพระสงฆ์

ครัววัดบูรพ์ จังหวัดนครราชสีมา มีเครือข่ายสำคัญ คือ นางจิรัฐติกาล ดวงสา กรรมการบริหาร
โครงการพร้อมด้วยทีมงานจากฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ดำเนินการวางระบบสุขาภิบาลอาหาร การลงพื้นที่รณรงค์เรื่องอาหารใส่บาตรสุขภาพ ณ ตลาดเช้าวัดบูรพ์ การออกแบบ และจัดทำแสตนดี้รูปพระสงฆ์รูปร่างอ้วน และรูปร่างผอม ตั้งบริเวณ ตลาดวัดบูรพ์ เพื่อสื่อสารสร้างความตระหนัก เตือนใจ แก่ฆราวาสผู้ถวายอาหารพระสงฆ์ และการตรวจเชื้อโคลิฟอร์มให้กับพระสงฆ์และทีมแม่ครัว และการตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร
ที่ครัววัดบูรพ์ โครงการเห็นสมควรแก่เวลา จึงเตรียมครัววัดบูรพ์เข้าสู่การประเมินด้าน
สุขาภิบาลอาหารจาก เจ้าหน้าที่ ศูนย์อนามัยที่ 9 (เขต นครชัยบุรินทร์) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564 ผลการประเมิน รอบแรก จากตัวชี้วัด 30 ตัวชี้วัด คะแนนผ่านที่ 90% แต่มีประเด็นที่ต้องแก้ไข
เพิ่มเติมคือ ต้องจัดอบรมสุขาภิบาลอาหาร และตรวจสุขภาพพระที่รับผิดชอบครัวและแม่ครัว ซึ่งวัดบูรพ์เป็นวัดแห่งแรกของจังหวัดนครราชสีมา และวัดแห่งแรกของภาคอีสาน ที่เข้ารับการตรวจ
ประเมินด้านสุขาภิบาลอาหาร ทีมประเมินจึงจะจัดอบรมพระที่รับผิดชอบครัววัดและทีมแม่ครัวในวัด 11 วัดของจังหวัดนครราชสีมา และให้วัดบูรพ์เป็นที่ศึกษาดูงานให้แก่วัดอื่นๆ

โครงการจัดทำโปสเตอร์อินโฟกราฟิกครัวสงฆ์มั่นใจ ต้านภัยโควิด จำนวน 14 ภาพ เป็นชุดสื่อให้ความรู้
แก่ผู้จัดเตรียมอาหาร เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19แก่พระสงฆ์ และผู้จัดเตรียมอาหาร มอบให้กับภาคีเครือข่ายสำคัญของโครงการ ได้แก่ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ประธานฝ่านสาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม พระเทพสุวรรณเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพมหานครและเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม มอบให้แก่
นายแพทย์ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการ กองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้มอบให้แก่ ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย และจัดส่งให้กับภาคีเครือข่ายที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลหนองแค โรงพยาบาลลำพูน รวมถึงครัวต้นแบบ โรงพยาบาลสงฆ์ และ ครัวมหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผศ.ดร.ทิพยเนตร อริยปิติพันธ์

รองหัวหน้าโครงการ และหัวหน้าภาควิชาโภชนาการและ การกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย