จัดสวัสดิการแรงงานแบบไหนได้บ้างเพื่อเสริมสร้างความสุขในครอบครัว
เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นการดำเนินร่วมกันระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) มีรัชดา ธราภาค ผู้ประสานงานเครือข่าย เป็นผู้นำเสนอผลการสำรวจสวัสดิการที่องค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมได้จัดให้กับพนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยนำเสนอผ่านเวที Happy Workplace Talk ครั้งที่ 5 ในชื่อ “7 ขั้นตอนสร้างสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว” ซึ่งสะท้อนถึงตัวอย่างการจัดสวสดิการแรงงานที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของพนักงานและส่งผลให้ครอบครัวของพนักงานมีความสุขเพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก
ความหมายของการจัดสวัสดิการแรงงาน
สวัสดิการแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของลูกจ้างรวมถึงครอบครัวดีขึ้น ความเอื้ออาทรของนายจ้างโดยการจัดสวัสดิการแรงงานให้แก่ลูกจ้าง ย่อมทำให้ลูกจ้างมีความรัก ความผูกพันต่อนายจ้าง ทำให้ลูกจ้าง
เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงานซึ่งทำให้ผลผลิตของลูกจ้างมีปริมาณสูงขึ้น และคุณภาพสูงขึ้นในขณะเดียวกันการจัดสวัสดิการแรงงานให้แก่ลูกจ้างยังช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างช่วยลดปัญหาและข้อขัดแย้งใ
สถานประกอบกิจการทำให้การประกอบกิจการของนายจ้างดำเนินไปอย่างราบรื่น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ปฏิบัติภารกิจด้านสวัสดิการแรงงาน โดยการส่งเสริมให้มีการจัดสวัสดิการขึ้นในสถานประกอบกิจการ โดยเห็นว่าการที่ลูกจ้างได้รับสวัสดิการที่ดี นอกจากทำให้ลูกจ้างเกิดขวัญและกำลังใจที่ดีแล้ว ยังส่งผลให้ลูกจ้างลดการขาดงาน ลางานและเปลี่ยนงานบ่อย ในที่สุดจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและผลิตภาพในการทำงาน ภายใต้กรอบภารกิจดังกล่าว สวัสดิการแรงงานได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. สวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย
2. สวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมาย
ตัวอย่างการจัดสวัสดิการแรงงานกับการพัฒนาสถาบันครอบครัวของลูกจ้าง จากเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว
สวัสดิการด้านการพัฒนาสถาบันครอบครัวของลูกจ้าง ถือเป็นสวัสดิการนอกกฎหมาย เช่น การจัดสถานเลี้ยงดูบุตรของลูกจ้าง การช่วยค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว การช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตรของลูกจ้าง การประกันชีวิตให้กับลูกจ้าง
เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นการดำเนินร่วมกันระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) มีคุณรัชดา ธราภาค ผู้ประสานงานเครือข่าย เป็นผู้นำเสนอผลการสำรวจสวัสดิการที่องค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมได้จัดให้กับพนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยนำเสนอผ่านเวที Happy Workplace Talk ครั้งที่ 5 ในชื่อ “7 ขั้นตอนสร้างสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว”
จากการสำรวจของเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว ตั้งแต่ปี 2563 และมีการวิเคราะห์ประมวลผลจนนำมาสู่การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ทำได้จริงเพื่อนำไปทดลองใช้ในสถานประกอบการที่เป็นเครือข่ายฯ โดยในการสำรวจเก็บข้อมูล เครือข่ายฯ มีการแบ่งประเภทของสถานประกอบการออกเป็นโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มงานบริการในที่ตั้ง เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ธนาคาร คลินิกทำฟัน และกลุ่มงานบริการนอกที่ตั้ง ซึ่งเป็นบริการที่พนักงานออกไปให้บริการนอกสถานที่เช่น บริษัทด้านไอที หรือ สสส. เป็นต้น
จากการสำรวจเก็บข้อมูลผ่านการพูดคุย พบว่าการจัดสวัสดิการให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครอบครัวลูกจ้างนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้านที่เห็นได้ชัดเจนว่างส่งผลต่อคุณภาพการทำงานและชีวิตครอบครัวของลูกจ้าง คือ
การบริหารจัดการเวลา
การมีวันลาคลอด ลาดูแลสมาชิก การยืดหยุ่นเวลาทำงาน และการบีบอัดชั่วโมงทำงาน เหล่านี้คือตัวอย่างของการบริหารเวลาที่รัชดา ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ได้ขยายความถึงการจัดการเวลาของสถานประกอบการที่เครือข่ายฯ ได้สำรวจพบว่า มีการให้เวลาคลอดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมีการให้วันลาที่ปรับเข้ากับไลฟ์สไตล์ของพนักงานเช่น คนที่มีพ่อแม่แก่เฒ่า ที่ต้องไปหาหมอเป็นประจำ ซึ่งจัดอยู่ในวันลาเพื่อดูแลสมาชิก การยืดหยุ่นเวลา หรือบีบอัดเวลา คือการทำงานจนครบเวลาที่ทำโดยไม่หยุดพักจนครบชั่วโมงที่กำหนด และได้วันหยุดเพิ่มมาหนึ่งวัน หรือสามารถเลือกวันหยุดในแต่ละสัปดาห์ได้เอง เป็นต้น
หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการเวลาอยู่ที่การบริหารจัดการให้สอดคล้องกับชีวิตของพนักงาน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องมีงบประมาณในการจัดทำ แต่สามารถให้ผลในเชิงประสิทธิภาพการทำงานได้ดี
สถานที่ทำงาน
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น และส่งผลให้หลายองค์กรปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าทำงาน รวมถึงการใช้สถานที่ในการทำงานที่ไม่ใช่ที่ทำงาน แต่เป็น working space บ้าง หรือเป็นการทำงานผ่านออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้พนักงานที่มีครอบครัวได้ปรับเปลี่ยนเวลาในการดูแลครอบครัวอย่างใกล้ชิดขึ้นตามไปด้วย
การสนับสนุนครอบครัวโดยตรง
รูปแบบในการให้สวสดิการเพื่อสนับสนุนครอบครัวพนักงานมีตั้งแต่การจัดมุมให้นมแม่ในที่ทำงาน การจัดให้มีศูนย์เด็กเล็กเพื่อให้พนักงานนำลูกที่อยู่ในวัยปฐมวัยมาเลี้ยงในที่ทำงาน เพื่อคลี่คลายความกังวลใจของผู้ปกครอง และช่วยให้มีสมาธิในการทำงานได้ดีขึ้น รวมไปถึงการเสริมความรู้ด้านจิตวิทยา โดยเชิญวิทยาการมาให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงดูลูกให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูลูกโดยใช้ทักษะด้านต่างๆ เช่น การสื่อสารเชิงบวก การมีความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย การดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ และการสนับสนุนด้านเงินทุนซึ่งขึ้นกับการจัดสวสดิการของแต่ละสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อการกู้ยืมในเรื่องการซ่อมแซมบ้าน การให้ค่าเล่าเรียนบุตร การให้กู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย เป็นต้น
การเสริมสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน
เช่น การจัดเลี้ยงเนื่องในโอกาสต่างๆ ที่อนุญาตให้นำครอบครัวมาร่วมด้วย หรือการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ทำงานโดยไปทำจิตอาสาในที่ต่างๆ การปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงโควิดระบาด โดยเป็นการจัดปาร์ตี้ครอบครัวพนักงานออนไลน์
สำหรับพนักงานที่ครอบครัวมีลูก ที่ผ่านมามักได้รับสวัสดิการที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่คนมีลูกน้อยลง ทำให้ศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็กมีความสำคัญลดลง ขณะที่พนักงานจำนวนหนึ่งต้องออกจากองค์กรเพื่อไปดูแลพ่อแม่สูงวัย อันเนื่องจากสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้หลายองค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนสวัสดิการหันมาเน้นการสนับสนุนอุปกรณ์และเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับพนักงานที่มีครอบครัวสูงอายุ ซึ่งถือเป็นการจัดสวัสดิการที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และถือเป็นแรงจูงใจที่ดีที่ทำให้พนักงานยังคงอยู่กับองค์กรได้อย่างมีความสุข