นวัตกรรมสุขภาพ “สายวัดเอวรอบรู้”

08/06/2022 Happy8workplace Happy Body Happy Soul Happy Relax Happy Society 3,770
Share:

  ถ้าวันหนึ่ง เราพบกับสถานการณ์ที่ “คาดไม่ถึง” คือ อยู่ดี ๆ เข็มขัดที่เคย “คาดถึง” รอบเอวทุกวัน กลับ “คาดไม่ถึง” รอบเอวของเราแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่า รอบเอวของเราเริ่มขยายและมวลกายของเราน่าจะเพิ่มขึ้น    สำหรับฆราวาสแล้ว เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นประจำอย่างกางเกงกระโปรงและเข็มขัดคือสิ่งที่ช่วยทำให้เรารู้ตัวได้ว่า รอบเอวและมวลกายของเราเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้างอย่างไร แต่สำหรับพระสงฆ์และสามเณรแล้วนั้น การแต่งกายนุ่งห่มของท่านมีความแตกต่างกับฆราวาสอย่างเรามาก ด้วยไม่มีเข็มขัดหรือขอบกางเกงเป็นตัวกำหนดที่จะทำให้ท่านตระหนักได้ว่า “น้ำหนักของท่านเพิ่มขึ้นแล้วนะ” การพิจารณามวลกายและกายะของพระสงฆ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลยถ้าเทียบกับของฆราวาส     ด้วยพระสงฆ์มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ต้องดำเนินภายใต้หลักพระธรรมวินัย ดังนั้นแล้ว สุขภาพของพระสงฆ์จึงมีความละเอียดอ่อนแตกต่างจากไปจากฆราวาส นักวิจัยของโครงการสงฆ์ไกลโรคมีความตระหนักถึงข้อจำกัดข้างต้น จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยและทำงานอย่างใกล้ชิดกับพระสงฆ์ ทำให้เกิดความเข้าใจถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจและการตระหนักรู้ต่อสุขภาพตนเองของพระสงฆ์และสามเณร อันนำมาสู่การคิดค้นนวัตกรรมสุขภาพ สายวัดเอวรอบรู้ ที่เป็นตัวช่วยให้พระสงฆ์ได้ใช้ในการพิจารณากายะและสุขภาพของท่านเองได้

    อาจารย์มาณี สื่อทรงธรรม ที่ปรึกษาโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคและอดีตผู้ช่วยหัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพพระสงฆ์และออกแบบคิดค้นนวัตกรรมสุขภาพ “สายวัดเอวรอบรู้” ขึ้นมา เพื่อให้พระสงฆ์และสามเณรสามารถนำสิ่งที่มีอยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้ในการประเมินสุขภาพของตนเอง ดูแลรอบเอวไม่ให้ขยายเกินและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำหนักกาย ช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง

“เรามาคิดว่า มีอะไรที่อยู่ใกล้ตัวท่านบ้างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้ท่านสามารถดูแลตัวเองได้ในทุกๆ วัน อย่างเรายังมีเข็มขัดรัดคาดแล้วติดพุงหน่อยก็จะรู้ว่าช่วงนี้เรามีน้ำหนักเพิ่ม ก็เลยมาดูอุปกรณ์ที่พระใช้อยู่ในการห่มจีวรก็มีเป็นรัดประคดที่เราพบ”

หลักการง่าย ๆ ในการใช้รัดประคดเป็นเครื่องมือพิจารณารอบเอวที่อาจารย์มาณีได้อธิบายไว้คือ

“รัดประคด 1 เส้นนั้น เมื่อเรานำมาพับครึ่งเพื่อหาจุดกึ่งกลางของรัดประคด ตรงจุดกึ่งกลางเราจะทำสัญลักษณ์ไว้เพื่อให้รู้ว่าตำแหน่งนี้คือ “จุดกึ่งกลางของสายรัดประคด” ซึ่งจุดกึ่งกลางนี้เราจะนำมาวางไว้ให้ตรงสะดือของเรา จากนั้นเราจะใช้หลักเกณฑ์ในการวัดคือ ส่วนสูงหารสอง สมมติว่าท่านสูง 160 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อนำมาหารสองก็เท่ากับ 80 เซนติเมตร เมื่อหารแล้วให้วัดจากจุดกึ่งกลางของสายรัดประคดไปทางด้านซ้าย 80 เซนติเมตร และด้านขวา 80 เซนติเมตร ทำสัญลักษณ์ไว้ทั้ง 2 ฝั่ง เมื่อท่านนำสายรัดประคดมาวัดพันรอบเอวตามปกติ โดยให้จุดกึ่งกลางของสายรัดประคดอยู่ตรงสะดือแล้ว ก็ให้สังเกตจุดที่ทำสัญลักษณ์ไว้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา โดยหากสัญลักษณ์มาชนกัน ก็แสดงว่า “น้ำหนักของท่านยังอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้” และถ้าสัญลักษณ์ที่ทำไว้มาเกยกันแสดงว่า “ท่านผอม” แต่ถ้าสัญลักษณ์นั้นอยู่ห่างกันมาก แสดงว่า “ท่านมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน” ซึ่งรัดประคดนี้จะเป็นของท่านใดท่านนั้นไปเลย เพราะส่วนสูงของแต่ละท่านไม่เท่ากัน”

    เมื่อรู้หลักการแล้วก็ต้องมีการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้จริง โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค โดยอาจารย์มาณี จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการแด่พระสงฆ์และสามเณรที่วัดยานนาวา พระอารามหลวง เพื่อสร้างความเข้าใจและให้พระสงฆ์และสามเณรสามารถนำนวัตกรรมสุขภาพ “สายวัดเอวรอบรู้” มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง    การจัดการอบรมครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากพระสงฆ์และสามเณรที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัดยานนาวาอย่างมาก โดยมีผู้เชี่ยวชาญอย่างอาจารย์มาณีและทีมงานคอยสาธิตและให้คำแนะนำ อีกทั้งยังทำให้พระสงฆ์และสามเณรรู้สึกมีส่วนร่วมในกิจกรรม ได้ช่วยกันผลิตสายวัดเอวจากอุปกรณ์ง่าย ๆ อย่างเชือกฟางและได้ทดลองใช้สายวัดเอวในการประเมินรอบเอวของตนเองจริง ๆ โดยสามเณรที่เข้าร่วมการอบรมกล่าวว่า การได้ลงมือทำจริงทำให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการเรียนรู้ด้วยการบอกเล่า และเมื่อทำสายวัดเอวเสร็จแล้วได้นำมาทดลองใช้ ทำให้ตระหนักได้ว่า รอบเอวและมวลกายของตนเองอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องให้ความใส่ใจมากขึ้นด้วย

“การวัดรอบพุงไม่แต่เพียงสามเณรที่นำไปใช้ คนทั่วไปก็นำไปใช้ได้ ถ้าคนทั่วไปคาดเข็มขัดผ่านสะดือก็สามารถที่จะกำหนดตัวเองได้ว่าวันนี้เราจะอ้วนไปแล้วหรือเปล่า หรือน้ำหนักเท่าไหร่ แต่สำหรับพระสงฆ์จะให้มีสายวัดหรือจะให้มีที่ชั่งน้ำหนักก็คงจะเป็นไปได้ยาก ก็เลยคิดว่ามีวัสดุอะไรที่อยู่รอบตัวเช่น เชือกฟาง ริบบิ้น หรืออะไรที่มันเป็นเส้นยาว ๆ มาเป็นตัวกำหนดว่าเราจะมีรอบพุงเกินตามหลักที่ว่าส่วนสูงหารสองอย่างไรบ้าง ก็สอนให้ง่าย ๆ สนุกสนานต่อเด็ก ๆ”

    อาจารย์มาณีกล่าวเสริมว่า เมื่อได้รู้ถึงภาวะสุขภาพของตนเองแล้ว ก็ต้องมีความรู้ในเรื่องการป้องกันและแก้ไข การให้องค์ความรู้เพิ่มเติมทั้งเรื่องโภชนาการ เรื่องปานะ ให้เลี่ยงน้ำหวานและไม่ลืมโปรตีน เรื่องกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสมกับสมณสารูป อย่างการเดินจงกรมหรือการกวาดลานวัด และสุดท้ายเรื่องกายะหรือการใช้สายรัดประคดในการประเมินรอบเอวของตนเอง จะยิ่งทำให้พระสงฆ์และสามเณรสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

“อาหารที่ชอบมักจะเป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพ ของอร่อยย่อมมีพิษมีภัยมากกว่าของที่รับประทานแล้วรู้สึกว่าถูกปาก เหมือนยาที่มีรสขมมากกว่าของหวานที่เป็นสารอาหารที่ทำลายสุขภาพ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือไม่ว่าจะเป็นพระก็ควรจะยึดหลักในการดูแลสุขภาพ ญาติโยมที่ใส่บาตรมาถ้าเผื่อว่าเป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพ เราก็อาจจะฉันเพื่อฉลองศรัทธาของญาติโยมบ้างเล็กน้อยแต่โดยหลักจริง ๆ แล้วเนี่ย ควรจะหลีกเลี่ยงมากกว่า” อาจารย์มาณีกล่าวทิ้งท้าย

    ในการขับเคลื่อนสุขภาพของพระสงฆ์นั้น นอกจากว่าพระสงฆ์จะต้องมีความตระหนักในเรื่องสุขภาพของท่านเองแล้ว ฆราวาสเองก็ต้องรู้จักใส่ใจต่อสุขภาพพระสงฆ์และสามเณรด้วยเช่นกัน ด้วยพระสงฆ์ต้องพึ่งพาอาหารที่ญาติโยมนำมาถวายใส่บาตร ดังนั้นฆราวาสจึงควรถวายอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและคำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์เป็นสำคัญ เพื่อเป็นการช่วยกันขับเคลื่อนทำให้ “สงฆ์ไทยไกลโรค” ไปด้วยกัน

ทิ้งท้าย กับ How to ทำ: มาทำสายวัดเอวรอบรู้จากของที่มีอยู่รอบตัวเรากันเถอะ

1. ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้ว่า เรามีส่วนสูงและน้ำหนักเท่าไหร่ หลังจากนั้นให้หาอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นเส้นอย่างเช่น ริบบิ้น เชือกฟาง หรืออะไรก็ได้ที่มีลักษณะเป็นเส้นยาวๆ

2. ให้ใช้หลักการส่วนสูงหารสอง สมมติว่าเราสูง 160 เซนติเมตร หารสองเท่ากับ 80 เซนติเมตร ย้ำว่าใช้หน่วยเป็น “เซนติเมตร”

3. นำริบบิ้น หรือเชือกฟางมาพับครึ่ง เพื่อหาจุดกึ่งกลางและทำสัญลักษณ์ให้รู้ว่าเป็น “จุดกึ่งกลางของสาย”

4. พอทำสัญลักษณ์แล้ว ให้วัดจาก “จุดกึ่งกลางของสาย” ออกมาทางซ้ายและขวาด้านละ 80 เซนติเมตร (ตามหลักการส่วนสูงหารสอง) จากนั้นทำสัญลักษณ์ไว้ทั้ง 2 ฝั่ง

5. ตอนวัดรอบเอวให้ “จุดกึ่งกลางของสาย” อยู่ตรงสะดือ จากนั้นก็พันรอบตัวตามปกติแล้วให้สังเกตจุดที่ทำสัญลักษณ์ไว้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา

6. หากสัญลักษณ์มาชนกันแสดงว่า “น้ำหนักของท่านยังอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้”

    ถ้าสัญลักษณ์ที่ทำไว้มาเกยกันแสดงว่า “ท่านผอม”

    แต่ถ้าสัญลักษณ์นั้นอยู่ห่างกันมากแสดงว่า “ท่านมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตราฐาน”

เรื่องโดย เปมิกา เสือแย้ม

ภาพประกอบ รายการสงฆ์ไทยไกลโรค

อาจารย์มาณี สื่อทรงธรรม

ที่ปรึกษาโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคและอดีตผู้ช่วยหัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย