“สุข…ไม่รู้จบ : Infinity Happy Network”
การดำเนินงานโครงการเครือข่ายแห่งความสุข (Holistic Happy Network) ภายใต้โครงการโรงพยาบาลสร้างสุขระยะที่ 2 เป็นการขยายผลและต่อยอดจากโครงการโรงพยาบาลสร้างสุข (Holistic Happy Hospital : H3) ที่ได้ค้นหาแนวทางการพัฒนาบุคลากรและการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อการทำงานอย่างมีความสุขตามบริบท “หมอยิ้มได้ คนไข้ยิ้ม ออก” โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในระดับปัจเจก ระดับหน่วยงาน ไปจนถึงระดับองค์กร ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลาย
จากการดำเนินงานได้พบแนวทางการพัฒนาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและสอดรับกับเป้าหมายของโครงการ ซึ่งสามารถสรุปเป็นแบบแผนการดำเนินงาน การพัฒนาเรียกว่า โมเดลความสุขแบบองค์รวม (Holistic Happy Model) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในวงกว้างพร้อมสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาเครือข่ายแห่งความสุข (Holistic Happy Network)ให้เกิดขึ้น ซึ่งเน้นการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวม โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน จึงได้มีการออกแบบกระบวนการพัฒนาให้สอดคล้องกับมิติสุขภาวะแบบองค์รวมตามบริบทของพื้นที่รูปแบบการดำเนินงานได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการโรงพยาบาลสร้างสุขระยะที่ 1 ที่มีการออกแบบไว้ 3 ส่วน คือ คิด สร้างสุข ซึ่งเป็นการพัฒนาระดับบุคคลและองค์กร จนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับจิตใจที่เรียกว่า Mental Model
แผนภาพ โมเดลความสุขแบบองค์รวม (Holistic Happy Model)
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและองค์กรถือเป็นภาคส่วนของผู้ให้บริการที่สามารถส่งไปยังผู้รับบริการและเครือข่ายการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวม จึงจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสังคมได้ การดำเนินงานต่อยอดในระยะที่ 2 นี้ได้ออกแบบไว้สองส่วนคือ ส่งต่อยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่มีความเชื่อมโยงโดยออกแบบการพัฒนาให้มีความต่อเนื่องทั้ง 2 ระยะ คือ คิด สร้าง สุข ส่งต่อ และยั่งยืน ดังนี้
คิด คือ หลักการแนวคิดในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยมีคำถามเริ่มต้นว่า จะพัฒนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับจิตใจได้อย่างไร
สร้าง คือ กระบวนการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีการออกแบบให้สามารถยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาในการพัฒนา
สุข คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระดับบุคคลและองค์กร ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้เครื่องมือที่เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม สามารถใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดการสร้างความสุขในระดับต่างๆ ต่อไป
ส่งต่อ คือ การขยายผลการดำเนินงานไปสู่องค์กรและพื้นที่ ที่มีส่วนในการดูแลสุขภาวะของประชาชนแบบองค์รวมในลักษณะของการสร้างเครือข่าย พร้อมการถ่ายถอดเครื่องมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนา
ยั่งยืน คือ การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบมีส่วนร่วมขององค์กรเครือข่ายและชุมชนในการสร้างความสุขอย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อให้เกิดสมดุลของการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวม ในการดำเนินงานมีการเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ที่เป็นบริบททางสังคมได้อย่างลงตัว