‘เทศกาลเข้าพรรษา’ โอกาสทองของการดูแล ‘สุขภาพกาย-ใจ’ เพื่อสังคมที่ยั่งยืนในทุกมิติ

31/07/2024 Happy8workplace 525
Share:

‘วันเข้าพรรษา’ คืออีกหนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องพักจำพรรษาอยู่ในวัด งดเดินทางจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นระยะเวลาสามเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับพุทธศาสนิกชนจะพากันทำความดี ละเว้นความชั่ว ถือศีลภาวนาเพื่อให้จิตใจสงบ โดยเฉพาะการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ภายใต้สโลแกน ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ ที่สำนักงานกองกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อนมานานนับสิบปี

“นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์แล้ว เรื่องอยากให้รณรงค์กันมากขึ้นคือ ‘การถวายอาหารสุขภาพแก่พระสงฆ์’ เพราะทุกวันนี้พระสงฆ์ไทยมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาก ไม่ว่าจะเป็นไขมันในเลือด เบาหวาน ความดัน โดยสาเหตุสำคัญมาจากพระภิกษุท่านเลือกฉันไม่ได้ ท่านต้องฉันอาหารที่ญาติโยมถวายเท่านั้น ปัญหาคือคนจำนวนมากมองพระเป็นดั่งไปรษณีย์ที่เราจะถวายอาหารผ่านไปให้บรรพบุรุษ ซึ่งอาจจะเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น หวาน มัน หรือเค็มเกินไป”

ประโยคอันเปี่ยมด้วยความห่วงใยของ นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร หรือ สำนัก 8 (สสส.) ต่อปัญหาเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์ในปัจจุบัน

“ช่วงเข้าพรรษาแบบนี้ จึงอยากชวนให้ทุกคนทำความเข้าใจใหม่ในการถวายอาหารต่อพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้พระท่านได้ทำหน้าที่ทำนุบำรุงศาสนาและเป็นที่พึ่งของสาธุชนไปนานๆ ด้วยการเลือกถวายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ปลาหรือเนื้อสัตว์ ผัก ข้าวกล้อง และนมวัว สำหรับเป็นน้ำปานะ เพียงเท่านี้เราก็ทำบุญให้ได้บุญจริงๆ แล้ว”

ผอ.พงษ์ศักดิ์ เปิดเผยว่า บทบาทของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร หรือสำนัก 8 ในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ จะเน้นเรื่องโภชนาการและกิจกรรมทางกายของพระสงฆ์เป็นหลัก 

“การควบคุมดูแลเรื่องสุขภาพโภชนาการของพระสงฆ์ต้องอาศัยหลายปัจจัยสนันสนุน ได้แก่ ตัวพระท่านเอง ฆราวาส และเหล่าแม่ค้าขายอาหาร ซึ่งสำนัก 8 เรารณรงค์ผ่านโครงการ ‘สงฆ์ไทยไกลโรค’ ที่มุ่งเน้นความรู้ทางโภชนาการและการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่ผิดพระธรรมวินัย โดยมีการขับเคลื่อนมากว่า 13 ปี ร่วมกับหลากหลายภาคี และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)”

“ช่วงสองปีที่ผ่านมาเรายังขยายผลในกลุ่มสามเณรซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพมากกว่าเด็กทั่วไปถึงสองเท่า ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศ และมีผลลัพธ์การขับเคลื่อนเป็นที่น่าพอใจ โดยในปี 2566 เราได้มีการจัดงานวันเด็กให้สามเณร และใช้ชุดความรู้ในเรื่อง ‘เณรกล้าโภชนาดี’ มาเป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรม ผลตอบรับที่ออกมาทำให้เราอยากจะร่วมจัดแบบนี้อีกทุกปี เพื่อให้สุขภาพเป็นหนึ่งในสิ่งที่สนับสนุนการเติบโตที่ดีของสามเณรด้วยเช่นกัน” 

สำหรับเป้าหมายหลักในปีนี้ ผอ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า จะมุ่งเน้นไปยัง 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. สร้างแกนนำขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่อง เนื่องจากที่ผ่านมาสำนัก 8 ขับเคลื่อนจากส่วนกลางเป็นหลัก ซึ่งการจะสร้างความต่อเนื่องยั่งยืนได้ต้องทำให้คนในพื้นที่ตามภูมิภาคมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนและขยายผลต่อในพื้นที่ต่อไปได้  และ 2. ฝังเข้าระบบปกติ โดยการขับเคลื่อนงานสุขภาพพระสงฆ์ก็มีชุดความรู้ เครื่องมือ และนวัตกรรมอยู่แล้วในระดับหนึ่ง สำนัก 8 วางแผนที่จะรวบรวมชุดความรู้เหล่านี้เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรให้มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่จะเป็นวิทยาลัยสร้างผู้นำมาช่วยขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเข้าพรรษา นอกจากการดูแลสุขภาพและโภชนาการของพระสงฆ์ในวัด ทางสสส. และสำนัก 8 ยังได้จับมือกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของคนทำงานในองค์กรด้วย

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ร่วมกับ สสส. จัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ‘ให้ตับ ได้พักบ้าง’ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (SMEs Happy and Productive Workplace: SHAP) ในช่วงระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม – 17 ตุลาคม 2567 

โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดกิจกรรมนี้มาต่อเนื่องกว่า 7 ปีแล้ว มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 16,187 คน และสามารถลดค่าใช้จ่ายการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเงินจำนวน 31.79 ล้านบาท

“กิจกรรมในช่วงเข้าพรรษายังสามารถทำกิจกรรมอื่นได้นอกจากการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน ออกกำลังกาย ใส่ใจเรื่องการทานอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม เลิกบุหรี่ งดอบายมุขต่าง ๆ เพิ่มเวลาไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ รักษาศีล และมีเวลาให้ครอบครัวมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการสร้างสุขให้แก่ตนเองและองค์กรต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.วิภาภรณ์ เกียรติอำนวย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.เอช. อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบ Happy Workplace  พูดถึงการเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของพนักงานในองค์กร ร่วมกับสสส. และ สำนัก 8 ไว้อย่างน่าประทับใจ

“บริษัท เจ.เอช. อุตสาหกรรม จำกัด มีพนักงานทั้งหมด 450 คน ที่ผ่านมาเราทำกิจกรรมร่วมกับ สสส. และสำนัก 8 มาแล้วหลายโครงการ โครงการที่ประสบความสำเร็จ มีตั้งแต่   โครงการลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ไม่เฉพาะช่วงเข้าพรรษา แต่ลดแล้วลดเลย ต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี และโครงการลดพฤติกรรมที่เกี่ยวกับอบายมุข เช่น บุหรี่ เริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน จากการเก็บสถิติเราพบว่าสามารถลดไปได้มากกว่า 3 ล้านบาท”

“เมื่อสามารถลด ละ เลิกอบายมุขได้ เราก็ขับเคลื่อนเรื่องการออมเงินต่อ โดยให้พนักงานที่มีหนี้สินมาเข้าร่วมโครงการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน ปัจจุบันสามารถปลดหนี้ได้ แถมมีเงินออมมากกว่า 6 ล้านบาท นอกจากเรื่องลด ละ เลิกอบายมุข และการออมเงินแล้ว เรายังดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ ด้วยการกระตุ้นให้พนักงานหันมาออกกำลังกาย ลดกินหวาน มัน เค็ม มีการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงการมีคอร์สฝึกสติ นั่งสมาธิ เพราะถ้าคุณมีสติ ก็จะทำงานได้ดี มีเป้าหมายชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุดท้ายก็จะสามารถสร้างบรรยากาศที่ทำงานให้เป็น Happy Workplace ได้” ดร.วิภาภรณ์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ


ช่วงเข้าพรรษาแบบนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการหันมาพัฒนาตัวเอง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ทำจิตใจให้ผ่องใส และเมื่อต้องเข้าวัดไปทำบุญตักบาตร ก็อย่าลืมถวายอาหารที่ดีต่อสุขภาพแด่พระภิกษุสงฆ์ด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของตนและคนรอบข้าง สังคมถึงจะก้าวไปพร้อมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนในทุกมิติ