3 บทเรียนแนวทางการพัฒนาคนจาก ‘สยามพิวรรธน์’ Best Companies to Work for in Asia 2022

27/01/2023 Happy8workplace Happy Brain 2,306
Share:

จากช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จนกระทั่งตอนนี้ เราเชื่อว่าหลายองค์กรได้เรียนรู้ว่าความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ขณะเดียวกันบุคคลากรในองค์กรซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญ พวกเขาต้องพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนนี้ด้วย ดังนั้น การเตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในยุคนี้

สยามพิวรรธน์เองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่น่าสนใจ เพราะเพิ่งได้รับการการันตีด้วย 3 รางวัล จากเวทีระดับสากล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศระดับโกลด์สาขา Excellence in Crisis Management and Recovery รางวัลระดับบรอนซ์ สาขา Excellence in Women Empowerment Strategy จากเวที HR Excellence Awards 2022 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และยังมีรางวัล Best Companies to Work for in Asia 2022 โดยนิตยสารเอชอาร์ เอเชีย (HR Asia) ที่จัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 67 บริษัทไทย ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย

ด้วยศักยภาพของบุคลากรที่วางกลยุทธ์และบริหารจัดการภาวะวิกฤตอย่างมีระบบ ทำให้เห็นได้ชัดว่า บุคลากรที่แข็งแกร่งจะนำไปสู่การเป็นองค์กรที่แข็งแรง มี 3 ข้อที่ สยามพิวรรธน์ ใช้เพื่อพัฒนาคนมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

 

1. ความคล่องตัวและความหลากหลายคือหัวใจของการก้าวข้ามวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง

เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น วิธีการทำงานจำเป็นต้องถูกปรับให้เร็วขึ้นตามไปด้วย ที่สยามพิวรรธน์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการทำงานแบบ ‘Agile’ ที่เน้นความคล่องตัว รวดเร็ว และให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจและวางกลยุทธ์ร่วมกัน นอกจากนี้อีกหนึ่งหัวใจของการปรับเปลี่ยนคือเรื่อง ‘โอกาส’ โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วม อีกทั้งยังส่งเสริมเรื่อง ‘ความเท่าเทียม’ ด้วยการสร้างโอกาสในการเติบโตให้ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการปรับตัวให้ตอบโจทย์ยุคสมัยเพื่อความพร้อมในการเติบโตไปสู่อนาคต

 

2. ความร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน คือสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร

‘ความร่วมแรงร่วมใจ’ เป็นอีกหนึ่งหัวใจที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับการทำงาน และที่สยามพิวรรธน์เองก็ให้ความสำคัญและมีแนวทางการช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานด้วยเช่นกัน

แนวทางที่พวกเขายึดถือคือ ‘Work as One’ ที่สนับสนุนให้พนักงานก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน เช่น การส่งเสริมให้เกิดการทำงานข้ามสายงาน สิ่งนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะระหว่างกัน และจะช่วยให้พนักงานเข้าใจถึงคุณค่าของการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ด้วยตัวเอง

 

3. การลงมือทำ คือการสร้างเสริมให้พนักงานพร้อมก้าวไปข้างหน้าเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายที่ไกลยิ่งขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนพนักงานในองค์กรได้เป็นอย่างดีคือ ‘การลงมือทำ’ อย่างแนวทางก่อนหน้าที่เล่าไป จะเห็นได้ว่า สยามพิวรรธน์มักส่งเสริมให้พนักงานได้ลองคิด ลองตัดสินใจด้วยตนเอง นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกหนึ่งสิ่งสะท้อนเรื่องการให้โอกาสพนักงานได้ลงมือทำ นั่นคือ โครงการ Change to Shine

โครงการ Change to Shine เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้ทดลองลงมือแก้ปัญหาและพัฒนาทักษะร่วมกัน โดยรวมเอาพนักงานต่างสายงานถึง 141 คน มาร่วมทำภารกิจเพื่อเป้าหมายขององค์กร มีซีอีโอ พร้อมทั้งคณะผู้บริหารคอยให้การสนับสนุน

นอกจากนี้ โครงการยังถูกออกแบบมาเพื่อช่วยสร้างเสริมแรงใจให้กับพนักงาน โดยเขามีชื่อเรียกพนักงานที่เข้าร่วมว่าเป็นดั่ง ‘นักรบ’ (Change Warrior) ที่กำลังร่วมรบในสงครามไปกับองค์กร เป็นการปลุกไฟให้พนักงานรู้สึกกระตือรือร้น ฮึกเหิม และพร้อมสู้เพื่อให้เป้าหมายขององค์กรไปด้วยกัน

 

‘ความคล่องตัว’ ‘ความหลากหลาย’ ‘ความร่วมแรงร่วมใจ’ และ ‘การลงมือทำ’ ทั้งหมดนี้คือคำตอบว่าสยามพิวรรธน์คิดและทำอย่างไร จึงคว้า 3 รางวัลระดับสากลมาได้ และยังสะท้อนให้เห็นว่า สยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งแนวทางและวิธีการทั้งหมดนี้ถูกพิสูจน์ให้เห็นถึงการเติบโตของสยามพิวรรธน์แล้วว่าเป็นนโยบายที่เหมาะและน่านำไปปรับใช้เพื่อนำพาองค์กรให้ผ่านพ้นวิกฤตและพร้อมก้าวต่อไปได้ในโลกอนาคต

 

ที่มา

https://web.facebook.com/.../pcb.../1773785172987920/