สำนักงานส่งเสริมความร่วมมือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยพินิจ ลาภธนานนท์ และ สายชล ปัญญชิต
การเจริญก้าวหน้าด้วยวิทยาการ เทคโนโลยีและระบบการสื่อสารที่รวดเร็ว รวมทั้งเข้าถึงมือของผู้คนในสังคมได้อย่างแทบไม่จำกัด ส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก เป็นข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่ได้ตรวจสอบหรืออาจเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีวาระแอบแฝงทางความคิด จะเห็นได้ว่าสถาบันทางสังคมจำนวนมากเผชิญกับปัญหาของการสื่อสารที่ทันสมัย กล่าวคือข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และได้รับการกลั่นกรองแล้ว สามารถส่งต่อให้ถึงผู้รับสารได้ช้า ขณะที่ข้อมูลข่าวสารที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นไปในทิศทางลบ กลับได้รับความสนใจและมีการส่งต่อเป็นจำนวนมาก คณะสงฆ์ในฐานะสถาบันทางสังคมอย่างเป็นทางการก็เผชิญกับสถานการณ์ของการสื่อสารข้อมูลเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงในเชิงการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559 จึงมีเป้าหมายประการหนึ่งที่จะสร้างกลไกการแบ่งงานและสนับสนุนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมภายในองค์กรให้ชัดเจน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน” จึงเกิดการแบ่งภารกิจคณะสงฆ์และแต่งตั้งคณะทำงานเป็น 6 ฝ่ายสำคัญได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายศาสนศึกษา ฝ่ายศึกษาสงเคราะห์ ฝ่ายเผยแผ่ ฝ่ายสาธารณูปการ และฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งหากกล่าวเฉพาะฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ถือเป็นองค์กรการทำงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยเฉพาะในมิติของการให้ความช่วยเหลือ บำบัดทุกข์ในยามวิกฤต รวมทั้งคอยสร้างเครือข่ายการทำงานเวลาเกิดวิกฤตในสังคม เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ เป็นต้น
การดำเนินงานของฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมที่ผ่านมา ได้พยายามสร้างเครือข่ายการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็พยายามยกระดับการเรียนรู้เพื่อการพัฒนากิจกรรมการทำงานของพระสงฆ์นักพัฒนาหรือ “พระสังคหวัตร” ให้ไปสู่ความยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นภายใต้ความร่วมมือกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้พัฒนาการศึกษาวิจัย จนมีผลงานส่วนหนึ่งสังเคราะห์เป็น หนังสือ “วิถีพุทธศาสนาเพื่อสังคมในต่างประเทศ” โดย พินิจ ลาภธนานนท์ และ สายชล ปัญญชิต
ผลงานชิ้นนี้ จะนำผู้อ่านร่วมเรียนรู้วิถีพุทธศาสนาเพื่อสังคมตามกรอบคิดทางสังคมวิทยา ตั้งแต่มิติของความเป็นมาเบื้องต้นของขบวนการพุทธศาสนาเพื่อสังคมในต่างประเทศ จนไล่เรียงขบวนการพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่นำมาเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ 3 แห่งประกอบด้วย ขบวนการสรรโวทัย ประเทศศรีลังกา มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน และสมาคมสร้างคุณค่า ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ 3 องค์กรที่กล่าวมาข้างต้น ต่างมีวิถีแห่งการเริ่มต้นทำงาน รูปแบบกิจกรรมที่เรียนรู้ทั้งผิดและถูก จนนำมาสู่การสร้างขบวนการพุทธศาสนาเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบทบาทและประยุกต์สู่คณะสงฆ์ไทยได้อย่างน่าสนใจ ท้ายที่สุดผลงานชิ้นนี้พาผู้อ่านให้เห็นข้อเสนอบทเรียนสำหรับงานสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งจะส่วนช่วยเสนอแนวทางการสนับสนุนงานอาสาสมัครสาธารณสงเคราะห์วิถีพุทธของคณะสงฆ์ไทยในอนาคตต่อไป
เขียนโดย
พงษ์พัฒน์ ใหม่จันทร์ดี