ฝ่าคลื่นยักษ์โควิด-19 องค์กรรอดได้ด้วยวิสัยทัศน์และความเชื่อมั่นของผู้นำ ตัวอย่างการสร้างสุขในองค์กรของ WD Thailand

23/12/2021 Happy8workplace 2,504
Share:

ฝ่าคลื่นยักษ์โควิด-19 องค์กรรอดได้ด้วยวิสัยทัศน์และความเชื่อมั่นของผู้นำ ตัวอย่างการสร้างสุขในองค์กรของ WD Thailand

องค์กรจะยังคงความสุขพนักงานไว้อย่างไร ในยุควิกฤติโควิด-19 การสร้างความสุขขององค์กร ควรจะไปในทางไหน เรายังสามารถใช้แนวคิดเดียวกัน รูปแบบกิจกรรมเดียวกันได้จริงไหม จากการที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริหารองค์กรเพื่อให้เกิดสุขภาวะก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน

“ทำไมเรามาทำงานที่นี่” นั่นคือคำถามที่ผู้บริหารต้องจุดพลังให้เกิดแก่พนักงานแต่ละคน และการใช้แนวคิด Happy 8 Workplace  ก็คือแนวทางหนึ่งในการช่วยให้พนักงานค้นหาคำตอบของตนเองได้ นี่คือประเด็นสำคัญที่ ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมแห่งสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ได้กล่าวในเวทีเสวนาออนไลน์ในประเด็นที่ว่า เปิดเมืองแล้ว แต่โควิยังอยู่ ซึ่งจัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส ในชื่อ Happy Workplace Talk # 1: Next Normal, Next Happy Workplace เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564

ซึ่งในเวทีเดียวกัน ดร.สัมพันธ์ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (WDTH) ได้นำประสบการณ์ในการสร้างองค์กรแห่งความสุขโดยใช้หลัก Happy 8 Workplace มากว่าสิบปีมาแลกเปลี่ยนและทำให้เห็นภาพของการสร้างความสุขให้กับองค์กร

“ผมยืนยันกับพนักงานเสมอว่า การทำให้เกิด Happy Workplace โดยใช้ Happinometer เป็นตัววัด และการได้คะแนนสูงจาก Engagement นั้น ไม่เกี่ยวกับการทุ่มงบประมาณลงไปที่กิจกรรม” 

ดร.สัมพันธ์กล่าวย้อนถึงการเข้ามารู้จัก Happy Workplace ว่าได้เข้ามาเรียนรู้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว โดยพาทีมงานมาเรียนรู้ด้วยกัน สิ่งที่ประทับใจและเห็นว่าง่ายต่อการสื่อสาร คือ การแบ่งความสุขออกเป็น 8 ด้านซึ่งครอบคลุมชีวิตได้ครบทุกด้าน

“คำที่คน WDTH รู้จักและติดปากคือ Happinometer จากเดิมที่เคยติดกับดัก การสร้างกิจกรรมเพื่อการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร และหลังจากทำแบบสำรวจก็ได้คำตอบว่า ทุกคนมีความสุขเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ แต่แบบสำรวจนั้นอาจไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริง จึงเริ่มทำการสุ่มการถามพนักงานใหม่ตามแนวทางการสำรวจของ Happinometer และพบว่ามีคะแนนต่ำในหลายด้าน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนกิจกรรมใหม่โดยใช้งบเดิม เวลาเท่าเดิม  จนกลายมาเป็น mindset ของคนในองค์กรทุกระดับ และกลายเป็นหลักการ หรือธรรมนูญของบริษัทฯ ทำให้ได้รับการยอมรับจากบริษัทแม่ ที่ทำให้ WD Thailand กลายเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของบริษัททั่วโลก”

ผลจากการทำคะแนนวัดความสุข WD Thailand มีคะแนนเฉลี่ยขององค์กรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ทั่วโลก พบว่าประเทศไทยได้อันดับหนึ่งของโลกเมื่อเทียบกับอีกสามสิบกว่าประเทศในด้านการมีส่วนร่วมจากการทำ Engagement Survey  นี่คือดอกผลจากการมุ่งมั่นในการทำตามความเชื่อของผู้นำองค์กรที่ต้องการสร้างความสุขให้พนักงานมากว่าสิบสองปี

 

มุมนมแม่ และการขยายเวลาให้พนักงานลาคลอด 

คือตัวอย่างของการสร้างความสุขที่รอบด้านของ WD Thailand   

WD มีพนักงานรวมกว่าสามหมื่นคน  90% ของพนักงานเป็นผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์คือ อายุ 18 ปีขึ้นไป อัตราการตั้งครรภ์และคลอดลูกของพนักงานหญิง เฉลี่ยวันละ 1-2 คน ดังนั้น การมีมุมนมแม่จึงจำเป็นอย่างมากสำหรับองค์กร องค์กรจึงจัดให้มีมุมนมแม่เพื่อให้พนักงานหญิงปั๊มนมและส่งนมกลับไปให้ลูกที่อยู่ต่างจังหวัด โดยทำงานร่วมกับไปรษณีย์ไทย เพื่อช่วยส่งนมแม่ของพนักงานไปยังลูกๆ ได้ทันเวลา เมื่อเทียบกับอัตราส่วนของการให้นมแม่ของหญิงไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20%  แต่ WD มีพนักงานที่มาใช้บริการปั๊มนมในห้องที่จัดไว้สูงถึง 50% 

นอกจากจัดให้มีมุมนมแม่แก่พนักงานและร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยในการส่งนมแม่ไปให้ลูกๆ ที่อย่างต่างจังหวัดแล้ว ความภาคภูมิใจของ WD Thailand ในการออกแบบกิจกรรมสนับสนุนให้พนักงานมีความสุขจนกลายเป็น Talk of the Town ก็คือ การขยายเวลาลาคลอดให้พนักงานจากสามเดือนเป็นห้าเดือน โดยให้พนักงานเลือกได้ว่าจะใช้เป็นวันลาคลอดก่อนคลอดหรือหลังคลอดก็ได้ 

“ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติใหญ่ๆ เช่น การเกิดน้ำท่วมในโรงงานเมื่อปี 2011 แต่บริษัทเราก็สามารถผ่านวิกฤติเหล่านั้นได้ ด้วยการที่เรามีการปูแนวคิดหลักการทำงานและการใช้ชีวิตให้มีความสุข โดยใช้ Happy workplace มาก่อนหน้านั้นแล้ว ช่วยให้พวกเราฟื้นจากน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว พนักงานทุกคนยังอยู่กับเราและได้รับเงินชดเชยครบทุกด้าน”

 

ความสุของพนักงานในองค์กร ขึ้นกับผู้นำองค์กรคือคนสำคัญ

การพลิกโฉมองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรที่มีความสุข สิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดการพลิกโฉมได้ คือ ผู้นำองค์กรที่ต้องมีความมุ่งมั่น มีความเชื่อมั่นในการสร้างสุขให้เกิดกับพนักงาน 

แนวคิดของผู้นำองค์กรในเรื่องการสร้างสุขให้เกิดกับพนักงานในภาวะที่เผชิญวิกฤติ สอดคล้องกับผลการสำรวจล่าสุดของโครงการศึกษาวิจัยนวตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน การสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันองค์กรของคนทำงาน องค์กรในระดับประเทศ ปี 2563

การสำรวจครั้งนี้ใช้เวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ ตุลาคม 63 ถึงเดือนมีนาคม 64 จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พบว่าคะแนนเฉลี่ยความสุขโดยรวมของคนไทยอยู่ที่ 59.5 คะแนน โดยจิตวิญญาณดี (Happy Soul) เป็นค่าคะแนนที่สูงที่สุดในปี 63 รองลงมาคือ น้ำใจดี (Happy Heart)  สะท้อนให้คุณค่าที่สังคมไทยยึดมั่นคือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามที่เกิดวิกฤติ ขณะที่คะแนนที่ได้รับต่ำสุด คือ สุขภาพเงินดี (Happy Money) และ ผ่อนคลายดี (Happy Relax)  

หากจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม จากการสำรวจพบว่า ค่าคะแนนความสุขขององค์กรที่ดำเนินงานด้านการเงินและประกันภัยมีค่าคะแนนความสุขของคนทำงานมากที่สุด ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สำหรับภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตมีค่าคะแนนความสุขต่ำสุด อันเนื่องจากการปิดเมืองที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดกิจการลง

แต่บริษัท WD Thailand รักษาคะแนนความสุขของคนในองค์กรไว้ได้  

ในฐานะผู้นำองค์กร ดร.สัมพันธ์กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤติครั้งล่าสุด คือการปิดเมืองจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า เพราะได้อ่านข้อความของนายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่โพสต์ลงในเฟซบุคถึงคำสำคัญที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตินี้ นั่นคือ คำว่า Love and Kind 

“โควิด-19 ทำให้พนักงานเครียด เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ส่งผลกระทบไปทั้งด้านการงานและครอบครัว ผมย้ำกับพนักงานทุกคนนับตั้งแต่เริ่มมีโควิด-19 ว่า เราต้องรักพนักงานมากขึ้น ต้องเอาอกเอาใจและเห็นใจพนักงานมากขึ้น เราจึงมีการออกแบบระบบในการติดตามและการป้องกัน โดยใช้วิศวกรของเราเองเป็นคนออกแบบ เช่น การมีแอพพลิเคชั่น Contact Tracing จนได้รับการยกย่องให้เป็น Model นำร่องของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตนิคมอุตสาหกรรม ด้านการมีมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19” 

ทั้งหมดที่ ดร. สัมพันธ์กล่าวมานั้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและการดำเนินกิจกรรม โดยยึดหลักว่า “วันนี้ความสุขของพนักงานสร้าง Engagement  ความสุขของพนักงานทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของบริษัท พนักงานรู้สึกมีตัวตน รู้สึกถึงการได้รับการมองเห็น ได้รับความเข้าใจจากคนในบริษัท ทำให้พวกเขามาทำงานอย่างมีเป้าหมาย ไม่ได้เพียงมาทำงานเพื่อแลกกับค่าแรงเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ผมเชื่อมั่นในพนักงานทั้งสามหมื่นกว่าคน”