รายงานผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันกับสถานศึกษา และสมดุลชีวิตกับการเรียนของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ประจำปี 2564 – 2565

22/12/2022 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 3,064
Share:

รายงานผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันกับสถานศึกษา และสมดุลชีวิตกับการเรียนของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ประจำปี 2564 – 2565

 โดยได้สำรวจออนไลน์ด้วยเครื่องมือ HAPPINOMETER มีนิสิต-นักศึกษาร่วมตอบแบบสำรวจรวมทั้งสิ้น 14,167 คน จากภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข 28 แห่ง

 

ข้อมูลทั่วไปของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข

นิสิต-นักศึกษาที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (ร้อยละ 73.23) กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 1 (ร้อยละ 31.95) ชั้นปีที่ 2 (ร้อยละ 26.91) ชั้นปีที่ 3 (ร้อยละ 23.19) และชั้นปีที่ 4 (ร้อยละ 16.41) นิสิต-นักศึกษาส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับครอบครัว (ร้อยละ 64.95) อย่างไรก็ตาม นิสิต-นักศึกษามากกว่าครึ่งไม่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันกับภูมิลำเนาของตนเอง (ร้อยละ 55.07) และทำงานพิเศษ (ร้อยละ 52.33) และนิสิต-นักศึกษาส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ร้อยละ 44.81) 

 

 

 

พฤติกรรมสุขภาพของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข

ด้านพฤติกรรมสุขภาพ นิสิต-นักศึกษาส่วนใหญ่ออกกำลังกายน้อยไม่เพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (ร้อยละ 71.45) ในขณะที่ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนิสิต-นักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี กล่าวคือ นิสิต-นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สูบบุหรี่หรือสูบในปริมาณน้อย (ร้อยละ 89.64) ส่วนพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า นิสิต-นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ดื่มหรือดื่มในปริมาณน้อยและปานกลาง (ร้อยละ 43.90 และ 33.58 ตามลำดับ) เช่นเดียวกับพฤติกรรมด้านอาหาร นิสิต-นักศึกษาส่วนใหญ่ทานผัก/ผลไม้ และทานอาหารรสจัด (หวานจัด เค็มจัด มันจัด) ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ

 

 

ความสุขรายมิติของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข

จากเกณฑ์คะแนนเต็ม 100 คะแนน นิสิต-นักศึกษาจากภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุขได้คะแนนเฉลี่ยความสุขในแต่ละมิติอยู่ในเกณฑ์ระดับมาก (คะแนนเฉลี่ยระหว่าง 50.00 – 74.99 คะแนน) โดยคะแนนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่มิติผ่อนคลายดี (mean = 69.35; SD = 19.91) ครอบครัวดี (mean = 68.05; SD = 23.08) และจิตวิญญาณดี (mean = 67.35 คะแนน; SD = 15.08) ส่วนมิติที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านการเงิน (mean = 35.95 คะแนน; SD = 19.16) ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ยระหว่าง 25.00 – 49.99 คะแนน) อย่างไรก็ตาม ไม่มีมิติใดที่นิสิต-นักศึกษาได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (คะแนนเฉลี่ยระหว่าง 75.00 – 100.0  คะแนน) และคะแนนเฉลี่ยระดับน้อย (คะแนนเฉลี่ยระหว่าง 0.00 – 24.99 คะแนน)

 

 

ความสุขในภาพรวมของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข
โดยรวม คุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันกับสถานศึกษา สมดุลชีวิตกับการเรียน มหาวิทยาลัยแห่งความสุข และมหาวิทยาลัยสุขภาวะของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุขอยู่ในระดับมาก โดยนิสิต-นักศึกษามีความผูกพันกับสถานศึกษามากที่สุด (mean = 64.50 คะแนน; SD = 18.22) ตามมาด้วยความสุขกับการเรียน (mean = 62.39 คะแนน; SD = 15.88) ในขณะที่สมดุลชีวิตกับการเรียนของนิสิต-นักศึกษาได้คะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด  (mean = 51.42 คะแนน; SD = 12.99) 

 

 

 

ความสุขในภาพรวมตามลักษณะทางประชากรและสุขภาพของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุขเมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยความสุขในภาพรวมด้านต่าง ๆ ได้แก่ คุณภาพชีวิต ความสุขระดับบุคคลของนิสิต-นักศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งความสุข และมหาวิทยาลัยสุขภาวะ โดยแบ่งตามลักษณะทางประชากรและสุขภาพของนิสิต-นักศึกษาภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข พบว่า นิสิต-นักศึกษาหญิงได้คะแนนเฉลี่ยความสุขทั้ง 4 ด้าน สูงกว่านิสิต-นักศึกษาชายและเพศหลากหลาย ในขณะที่ เมื่อพิจารณาตามระดับชั้นปีการศึกษา นิสิต-นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้คะแนนเฉลี่ยความสุขสูงในทุกด้าน แต่คะแนนกลับลดลงต่ำสุดในกลุ่มนิสิต-นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และคะแนนเฉลี่ยกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มชั้นปี 3 และ 4 ตามลำดับ นอกจากนี้ นิสิต-นักศึกษาที่ทำงานพิเศษมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงกว่านิสิต-นักศึกษาที่ไม่ได้ทำงานพิเศษ และนิสิต-นักศึกษาที่อาศัยอยู่กับครอบครัวมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุดเมื่อเทียบกับนิสิต-นักศึกษาที่อยู่คนเดียวหรือคนอื่น ส่วนนิสิต-นักศึกษาที่มีน้ำหนักปกติได้คะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด ในทางตรงกันข้าม นิสิต-นักศึกษาที่มีน้ำหนักอ้วนมากได้คะแนนเฉลี่ยความสุขน้อยที่สุด ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดเดียวกับภูมิลำเนาหรือไม่นั้น ไม่มีผลต่อคะแนนเฉลี่ยความสุข