สร้างบรรยากาศ ‘Well-Being’ ยกระดับองค์กรสู่ ‘Happy Workplace’ เก็บตกบรรยากาศงาน Thailand HR TECH 2024

04/07/2024 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 567
Share:

จบลงอย่างยิ่งใหญ่สำหรับงาน ‘Thailand HR TECH 2024’ ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ณ ศูนย์การค้าพารากอน ระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคมที่ผ่านมา

งานนี้ได้รวมรวมนวัตกรรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กรอย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ การดูแลสุขภาพกายและใจ วิธีจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในที่ทำงาน จนถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของชาว HR

คุณพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร หรือสำนัก 8 สสส. เปิดเผยว่า Thailand HR TECH 2024 จัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ซึ่งเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการบริหารบุคลากรที่สำคัญของประเทศไทย นั่นจึงทำให้คนที่มาร่วมงานนี้มักจะมองหาชุดความรู้ องค์ความรู้ หรือเทรนด์ใหม่ๆ เกี่ยวกับงานด้านบริหารพนักงานในองค์กร 

“ปีนี้เป็นปีที่พิเศษมากเพราะมีการใช้ธีม ‘Well-Being’ แปลง่ายๆว่า ‘ความอยู่ดีมีความสุข’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนัก 8 ให้ความสนใจมาตลอด เรามองว่าเรื่องสุขภาพกายและใจเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องมีการดูแลกันอย่างจริงจังภายในองค์กร Well-Being ถือเป็นเรื่องใหม่ ในเมืองไทยยังมีองค์กรที่ทำเรื่องนี้ไม่มากนัก ซึ่ง สสส. มีเครื่องมือ มีชุดความรู้ มีเครือข่าย มีองค์กรต้นแบบ ที่สามารถมาแชร์เรื่องเหล่านี้ให้กับคนที่มาร่วมงานได้เป็นอย่างดี”

ผอ.พงษ์ศักดิ์ เล่าว่าบทบาทหลักของสำนัก 8 ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ในงาน Thailand HR TECH 2024  แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การจัดบูธนิทรรศการ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสุขภาวะองค์กรมาอธิบายให้ความรู้ว่า เส้นทางสู่การเป็น Happy Workplace ต้องทำอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็แนะนำเครื่องมือ และชุดความรู้ต่างๆ มากมายเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถหยิบไปใช้ได้ สำหรับใครก็ตามที่อยากจะขับเคลื่อนเรื่อง Well-Being ในองค์กร

นอกจากนี้ ยังได้ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม และ คุณเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับการสร้าง Well-Being ให้เกิดขึ้นในองค์กรด้วย

“บูธของเราดีไซน์ออกมาให้สนุก มีสีสันสดใส เพื่อดึงดูดคนเข้ามาเยี่ยมชมกันเยอะๆ นี่คือความประทับใจแรก ต่อมาเรามองว่าสภาพแวดล้อมในองค์กร นอกจากสาระแล้ว ความสนุกมันต้องมาด้วยกัน  ดังนั้นภายใต้ดีไซน์ที่สนุกก็จะสอดแทรกสาระอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น แนะนำนิยามขององค์กรสุขภาวะ แจกคู่มือสร้างเสริมองค์กรสุขภาวะ  ตลอดจนโร้ดแมปในการที่จะเดินไปสู่องค์กรสุขภาวะต้องทำอย่างไรบ้าง ผ่าน 7 ขั้นตอน  ได้แก่

“ 1.การสร้างนโยบายและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อสุขภาวะขององค์กร 2.การบูรณาการสุขภาวะในองค์กร ผ่านแนวคิด Happy 8 3.การปรับสภาพแวดล้อมขององค์กรให้เอื้อต่อสุขภาวะในองค์กร เช่น การจัดการประชุมที่ดีต่อสุขภาพ โรงอาหารสร้างเสริมสุขภาพ เทคนิคการออกกำลังกายของชาวออฟฟิศ  หรือการกินอาหารที่ดีในแต่ละวัน 4.การพัฒนาศักยภาพและสร้างการเรียนรู้ ผ่านหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ 5.การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านเวิร์กช็อปต่างๆ 6.การสร้างเสริมสุขภาวะแก่บุคลากร โดยออกแบบกิจกรรมสนุกและสร้างสรรค์ เช่น Happy Workplace LISTENS! องค์กรแห่งความสุข ต้องฟัง! และ 7.การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมสุขภาวะในองค์กร”

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า หากไปดูการวิจัยจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจะพบว่า Well-Being ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่หลายๆ องค์กรเริ่มให้ความสำคัญอย่างจริงจังแล้ว 

“ผมคิดว่าการที่ PMAT ใช้เรื่อง Well-Being เป็นธีมหลักในการจัดงานก็แสดงว่าองค์กรต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญแล้ว หลายองค์กรอาจยังไม่เริ่ม แต่ถ้าองค์กรไหนเริ่มก่อน คุณก็จะมีความได้เปรียบอย่างแน่นอน”

ขณะที่ คุณสุดคนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) พูดถึงการจัดงาน Thailand HR TECH 2024 ไว้อย่างน่าคิดว่า ปัจจุบันภูมิทัศน์การทำงานเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหลังจากที่ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ หากใครยังไม่นำ AI มาช่วยทำงาน ก็อาจจะตกเทรนด์ ตามคนอื่นไม่ทัน ดังนั้นทุกองค์กรควรเรียนรู้วิธีที่จะทำงานร่วมกับ AI ให้ได้ก่อนที่จะสายเกินไป

“ผู้นำขององค์กรคือผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างการเติบโตขององค์กรหรือไม่ อย่างไร ถ้าผู้นำยังเพิกเฉยต่อเทคโนโลยี องค์กรจะเดินหน้าต่อไป และสู้กับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย”

“นอกจากนี้ผู้นำองค์กรก็ต้องให้ความสำคัญเรื่อง Well-Being อย่าลืมดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานด้วย ส่งพลังบวกให้กันและกัน เพื่อยกระดับองค์กรให้ดียิ่งขึ้นไปอีก” นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ: ผู้อ่านท่านใดที่สนใจใช้แนวทาง Happy Workplace ไปสร้าง Wellbeing ในองค์กร สามารถดาวน์โหลด ‘คู่มือสร้างเสริมองค์กรสุขภาวะ’ ได้ที่ QR code นี้