สสส.ชู“ศูนย์การเรียนรู้วัดศรีทวี”ต้นแบบวัดบันดาลใจ
สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ต่อยอดวัดบันดาลใจสู่ต้นแบบ “ศูนย์การเรียนรู้วัดศรีทวี”
ตอบโจทย์สุขภาวะ 4 มิติร่วมสมัย สร้างเสริมสุขภาวะวิถีพุทธ “วัดวิถี บ ว ร (บ้าน วัด โรงเรียน) ของชุมชนในเมืองใหญ่” เรียนรู้พัฒนาวัด ตามหลักสัปปายะ 4 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 20 แห่ง ในปี 2565
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ที่วัดศรีทวี จ.นครศรีธรรมราช โดย พระพุทธิสารเมธี เจ้าอาวาสวัดศรีทวี กล่าวว่า วัดศรีทวี ถือเป็น 1 ใน 9 วัดต้นแบบที่ได้ดำเนินงานภายใต้โครงการวัดบันดาลใจ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในปี 2564 ได้ปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกของโครงการวัดบันดาลใจ ชื่อว่า “ศูนย์การเรียนรู้วัดศรีทวี”
จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะในบริบทของ “วัดวิถี บ ว ร (บ้าน วัด โรงเรียน) ของชุมชนในเมืองใหญ่ ที่ยังครบเครื่องวิถีพุทธ และเป็นพื้นที่ชีวิตของคนในชุมชน” โดยศูนย์การเรียนรู้วัดศรีทวี ประกอบด้วย นิทรรศการการเรียนรู้ ความสำเร็จของการปรับวัดให้เป็น “บวร” รวมถึงจัดทำเส้นทางการเรียนรู้การสร้างสัปปายะ 4 ได้แก่
อาวาสสัปปายะ อาหารสัปปายะ ธรรมะสัปปายะ และบุคคลสัปปายะ มีลานกิจกรรมที่เป็นพื้นที่บริการสังคม โดยให้ความสงบ และร่มรื่น ศูนย์การเรียนรู้วัดศรีทวีมุ่งให้ผู้เข้าชม ทั้งพระภิกษุสงฆ์ หรือฆราวาส สามารถนำบทเรียนและแรงบันดาลใจที่ได้ไปปรับใช้ทั้งในการดูแลพัฒนาวัด หรือนำกลับไปปรับใช้กับชีวิตวิถีใหม่ที่บ้านและที่ทำงานได้
นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า โครงการวัดบันดาลใจ ริเริ่มจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการสร้างสุขภาวะองค์รวมให้กับสังคม โดยนำฐานทุนของวัด ที่ถือเป็นรากฐานในการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนาเป็นเครื่องชี้นำทางปัญญาและการปฏิบัติตน นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่
สุขภาวะทางกาย ใจ ปัญญา และสังคม ที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้เกิดกลไกการพัฒนาทรัพยากรวัดต้นแบบ 9 แห่งในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพัฒนาทั้งทางด้านกายภาพ กิจกรรม และการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ พัฒนาชุดความรู้ หลักสูตรวัดบันดาลใจ คู่มือการเรียนรู้จากการถอดบทเรียนการทำงาน เผยแพร่ในรูปแบบสื่อต่างๆ เพื่อให้พระและชุมชน สามารถนำเครื่องมือ ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาวัดได้ในอนาคต โดยมุ่งเป้าให้เกิดวัดในโครงการวัดบันดาลใจจาก 9 แห่งเป็น 29 แห่ง ภายในปี 2565
ติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการได้ที่ : โครงการวัดบันดาลใจ