Happy Workplace Talk ครั้งที่ 3 "Happy Family (ให้) …Happy Balance"

04/04/2022 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 2,423
Share:

"Happy Family (ให้) …Happy Balance" เมื่อความอบอุ่นในครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นความสุขในที่ทำงาน

การสร้าง Happy Workplace ภายในองค์กร อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนออฟฟิศให้ดูว้าวแบบออฟฟิศ Google หรือมีวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างสรรค์เหมือน Netflix แต่มาจากการทำให้คนในองค์กรมี Happy Family จากครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสุขในที่ทำงาน

ถ้าแบ่งเวลาในชีวิตออกเป็นสามส่วน คนส่วนใหญ่จะใช้เวลากับครอบครัวและสถานที่ทำงานประมาณ 8 ชั่วโมง เท่า ๆ กัน ทำให้อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับทั้งสองช่วงเวลา มีโอกาสตกค้างและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงกันได้อย่างไม่รู้จบ เป็นที่มาของกิจกรรม Happy Workplace Talk ครั้งที่ 3 "Happy Family (ให้) …Happy Balance" เวทีเสวนาออนไลน์ที่จัดขึ้นโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ในประเด็น Happy Family การมีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง 

โดยได้แขกรับเชิญที่เชี่ยวชาญด้านเด็กโดยตรงอย่าง ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร  (หมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน มาเป็นผู้ร่วมวงสนทนา พร้อมด้วย ชูชัย นิจไตรรัตน์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) ที่ลงทำงานในเรื่องการสร้างความเข้าใจพ่อแม่ ในสถานประกอบการร่วมกับ สสส. มาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มต้นจากความอบอุ่นในครอบครัว

หมอโอ๋ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการทำให้เกิด Happy Workplace ว่าต้องเริ่มมาจากการทำให้เกิด Happy Family เพราะครอบครัวเป็นขุมพลังของความสุขในชีวิตคนเรา โดยเราสามารถนำหลักการ PERMA แนวคิดการใช้จิตวิทยาเชิงบวกหรือ Positive Psychology ที่พัฒนาโดย มาร์ติน เซลิกแมน มาใช้เพื่อให้เกิด Happy Family 

“เราอาจจะลองนำเอาหลัก PERMA ทั้งในเรื่อง Positive Emotion ความรู้สึกดีมีอารมณ์บวก, Engagement การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง, Relationship มีสัมพันธ์ภาพที่ดี, Meaning การใช้ชีวิตที่มีความหมาย และ Accomplishment พลังจากความสำเร็จ มาใช้เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว”

ทางด้านชูไชย ได้เสริมจากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้มานานว่า ต้องไม่ทำให้ Happy Family เป็นเพียงแค่วาทกรรม แต่เป็นเรื่องที่สร้างความสุขได้จริง เราต้องเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนให้บ้านเป็นที่พึ่งของทุกคนในบ้าน สามารถที่จะปรึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ได้ การที่บ้านมีคนที่รักรออยู่จะช่วยลดปัญหาสังคมได้มาก เพราะเมื่อความสุขเกิดขึ้นในบ้านแล้ว ก็จะเผื่อแผ่มายังสถานที่ทำงาน แล้วชุมชนโดยรอบให้มีความสุขตามไปด้วย”

โดยสถานประกอบการเองมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ครอบครัวของคนในองค์กรมีความสุข ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมให้สถานประกอบการมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะถ้าหากสถานที่ทำงานไม่เข้าใจ หรือผู้บริหารไม่ให้การสนับสนุนให้เกิดการสร้างความสุขในบ้านอย่างจริงจัง แนวคิด Happy Family ก็จะสำเร็จได้ยากเพราะบ้านและสถานที่ทำงานมีความเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบถึงกันตลอดเวลา

สร้างครอบครัวที่เป็นสุขในยุค New Normal

หลายปีที่ผ่านมาโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบพวกเราทุกคนมากน้อยแตกต่างกัน บางคนต้องห่างไกลจากคนที่รัก หลายคนต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปตลอดกาล มีไม่น้อยที่ต้องตกงาน หรือจำเป็นต้องลาออกมาเพื่อดูแลคนที่บ้าน ปัญหาที่สะสมเหล่านี้ที่ส่งผลซ้ำเติมผู้คนจำนวนมาก จากความเดือดร้อนทั้งในเรื่องความเป็นอยู่การดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจ ซึ่งหมอโอ๋ ได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า

“โควิดเป็นสาเหตุสำคัญของที่ทำให้เกิดความเครียดจากความไม่มั่นคงในชีวิต การต้องตกงาน หรือธุรกิจปิดตัว เมื่อไหร่ที่ผู้ปกครองซึ่งเป็นคนต้องทำงานมีความเครียดก็ยากมากที่จะสร้าง Happy Family ได้ เพราะพ่อแม่เป็นขุมพลังหลักของลูก การที่พ่อแม่เครียดส่งผลกระทบกับเด็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงปัญหาจากการเรียนออนไลน์ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมธรรมชาติของเด็ก เด็กที่ปรับตัวไม่ได้ต้องหลุดจากระบบการศึกษาไปก็ไม่น้อย สิ่งที่พ่อแม่สามารถช่วยเด็ก ๆ ได้ก็คือ หนึ่งต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น สองมองเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทาย และสาม ช่วยกันหาทางออก ให้รอดไปด้วยกัน

จากการลงพื้นที่ทำงานของคุณชูไชย เขาเสนอแนะว่าคนทำงานจำนวนมากต้องเผชิญชีวิตด้วย ข้อจำกัดมาอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์โควิดเป็นการซ้ำเติมให้การดำเนินชีวิตยากลำบากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว 

“ทุกวันนี้โควิดซ้ำเติมพวกเขาให้อยู่ร้อนนอนทุกข์ ส่งผลโดยตรงกับความเครียดที่เกิดขึ้น บางบ้านไม่มีอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ ไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไหนจะต้องคอยดูแลคนป่วยที่บ้านอีก ปัญหาเหล่านี้เราไม่สามารถแก้ได้ทันที เราต้องปรับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ก่อน ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการให้คนในที่ทำงานที่ประสบปัญหาใกล้เคียงกันมาจับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากัน ซึ่งช่วยลดความเครียดได้ส่วนหนึ่งเพราะเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวยังมีเพื่อนร่วมงานอีกมากที่คอยสนับสนุนและเข้าใจเขา”

เคารพความแตกต่าง รับฟังกันด้วยหัวใจ 

สถานที่ทำงานเป็นที่รวมผู้คนจำนวนมากที่มีความแตกต่างหลากหลาย การจะทำให้ Workplace เป็นบ้านหลังที่สองที่มีความสุขได้นั้น เริ่มจากการที่เราต้องเข้าใจความหลากหลายก่อน เพราะแต่ละคนต่างให้คุณค่าของชีวิตที่แตกต่างกัน 

หมอโอ๋ ได้ให้ข้อคิดจากมุมมองของเธอเองว่า “เราอย่าเอาตัวเองไปตัดสินคนอื่นว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะทุกวันนี้เราให้คุณค่าในเรื่องที่แตกต่างกัน บางคนมองว่าการลางาน คือการไม่ทุ่มเทให้กับองค์กร แต่บางคนโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Work-life Balance เพราะเชื่อว่าการทำชีวิตให้มีความสุขถึงจะทำให้งานจะออกมามี Productive การจะอยู่ร่วมกับสังคมในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข จึงต้องมองให้ลึกไปที่ความรู้สึกมากกว่าแค่พฤติกรรมที่แสดงออก เพื่อให้มีความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ที่สำคัญคือต้องมีการสื่อสารที่เข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร”

“เราไม่สามารถเปลี่ยนคนอื่นได้ เราต้องปรับลดความคาดหวังของเรา แล้วเจรจาหาจุดร่วมด้วยความเข้าใจกัน” หมอโอ๋ย้ำอีกครั้ง

ชูชัยเพิ่มเติมเรื่องความสำคัญของการสื่อสารอย่างเข้าใจ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิด Happy Workplace ว่า “เราทำงานร่วมกับสถานประกอบการหลายขนาดตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่น เราพบว่าการสื่อสารอย่างเข้าใจจะช่วยให้ทุกคนในองค์กรทั้งผู้บริหารไปจนถึงพนักงานรับรู้ถึงห่วงโซ่ความสุขที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นมา มีความรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน มองลึกไปปัญหาที่คนอื่นเผชิญอยู่ ซึ่งเรามีเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยให้เกิด Happy Workplace จะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทุกคนมีความสุขในการทำงานไปพร้อมกัน”

จากประสบการณ์ของ P2H ในการทำงานกับสถานประกอบการจำนวนมากพบว่า กุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิด Happy Workplace ได้นั้น ต้องมาจากปัจจัยสามประการ คือ หนึ่งสถานประกอบการต้องมีความตั้งใจ และผู้บริหารต้องเชื่อในเรื่องพนักงานที่มีความสุขจะทำให้สถานประกอบการมีความสุขไปด้วย โดยมีการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง สองต้องมีหน่วยวิชาการจากภายนอกเข้าไปส่งเสริม เสนอแนะวิธีการกระบวนการแนวคิดต่าง ๆ พร้อมกับเครื่องมือที่ทำได้จริง และ สามต้องหาวิธีให้หน่วยงานในภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัล หรือการสนับสนุนในรูปแบบการลดภาษี 

ในช่วงท้ายของการเสวนาออนไลน์ พงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) ได้พูดถึงการใช้ความเข้าอกเข้าใจในการฟังแล้วสื่อสารในเชิงบวก โดยเฉพาะกับครอบครัวที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ถ้าเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกกับครอบครัวอย่างช้า ๆ ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งปัจจุบันการทำงานจากที่บ้านทำให้แยกชีวิตการทำงานออกจากครอบครัวได้ยาก ยิ่งต้องใส่ใจเข้าใจกันให้มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้  ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) เสริมอีกด้วยว่าการทำให้คนสามารถทำงานได้อย่างสมดุลไม่ต้องต้องเลือกงานแล้วไม่ได้ให้ความสำคัญกับครอบครัว หรือดูแลครอบครัวจนเสียการงาน ต้องมีการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพื่อเชื่อมในเรื่องนโยบายที่เอื้อให้คนทำงานมีความสมดุลในการดำเนินชีวิต

เพราะเราใช้เวลาในที่ทำงานพอ ๆ กับเวลาที่อยู่กับครอบครัว เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Happy Family ที่จะสร้างสมดุลแห่งความสุขในทุกด้าน ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกคนในครอบครัว สถานประกอบการ ผู้บริหาร และเครือข่ายต่าง ๆ เพราะสุดท้ายแล้วความสุขภายในครอบครัว จะสร้างความสุขในที่ทำงาน และส่งผลต่อความสุขของสังคมต่อไป

######