ส.อ.ท , สฟอท., สสส. สานพลังสร้างเสริมสุขภาพลด NCDs เตรียมพร้อมรับปัญหาแรงงานหดตัว-ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

13/02/2025 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 113
Share:


เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย (สฟอท.) และเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและส่งเสริมสถานประกอบการ ภายใต้เครือข่าย ส.อ.ท. ให้เป็นองค์กรสุขภาวะ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่วัยทำงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 14 ล้านคน ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศ โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 400,000 รายต่อปี หรือคิดเป็น 76% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ส่งผลเสียต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 9.7% ของ GDP นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศ ในภาคอุตสาหกรรมมีคนวัยทำงาน 12 ล้านคน ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการทำงานหนัก สภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย และเครียดจากการทำงาน การสร้างองค์กรสุขภาวะจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำร่องพัฒนาศักยภาพองค์กรสุขภาวะให้แก่สถานประกอบการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สฟอท. ด้วยการใช้แนวคิดองค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) และความสุข 8 ประการ (Happy 8) ของ สสส. ส่งเสริมการสร้างนโยบายองค์กรสุขภาวะให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้การลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้มีสุขภาวะดี เพื่อให้สถานประกอบการเกิดผลผลิตที่ดีควบคู่กันไป พร้อมขยายผลองค์ความรู้องค์กรสุขภาวะ ผ่านแพลตฟอร์มของ FTI Academy ให้แก่สมาชิกสถานประกอบการกว่า 16,000 บริษัท นำไปปรับใช้สร้างสุขภาวะที่ดีในองค์กรเพื่อคนทำงานต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย กล่าวว่า สฟอท. ตั้งเป้าส่งเสริมให้พนักงานในสถานประกอบการมีสุขภาวะที่ดี ได้ปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 1.ป้องกันการบริโภคยาสูบในสถานประกอบการ ผ่านการรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยของบุหรี่ทุกชนิด 2.ลดอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด สร้างวัฒนธรรมปลอดเหล้าและออกมาตรการควบคุมสิ่งเสพติด 3.ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้สมดุล กำหนดให้ร้านอาหารมีเมนูสุขภาพ ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ 4.ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย เช่น กิจกรรมยืดเหยียด ระหว่างการปฏิบัติงาน 5.เพิ่มสัดส่วนผู้มีสุขภาพจิตที่ดี ด้วยการเพิ่มบริการให้คำปรึกษาทางใจ 6.ลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษและสิ่งแวดล้อม 7.ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน สร้างพฤติกรรมสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งก่อนเดินทาง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของไทย อยู่ที่อันดับ 5 ของโลก แต่มีอายุคาดเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 76.56 ปี เป็นอันดับ 78 ของโลก ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2565 พบสาเหตุการตายในกลุ่มอายุน้อยและวัยทำงาน 170,000 คน สาเหตุจากอุบัติเหตุและโรค NCDs สอดคล้องกับรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส.พบว่า ไทยมีคนวัยทำงานอยู่ 39 ล้านคน และส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรค NCDs ที่น่าสนใจยังพบว่ากลุ่มโรค NCDs ที่คร่าชีวิตคนวัยทำงานมากที่สุดอันดับ 1 คือ โรคเบาหวาน รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง มีสาเหตุจากขาดการออกกำลังกาย บริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2566 พบว่า ไทยมีการบริโภคน้ำตาลทรายสูงถึง 1.7 ล้านตัน หรือประมาณ 18 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ขณะที่ผลวิจัยเกียรตินาคินภัทร ปี 2567 ระบุ ตลาดแรงงานไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้คนวัยทำงาน อายุ 15-60 ปี ลดลง เฉลี่ยปีละ 1.8% ต่อปี ไปจนถึงปี 2573 สวนทางกับประชากรผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2555 เป็น 20% ในปี 2566 สร้างความท้าทายกับเศรษฐกิจใน 2 ด้าน 1.กำลังซื้อในประเทศจะลดลง 2.ผลิตภาพแรงงานลดลง

“สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค NCDs ในกลุ่มคนวัยทำงานในไทย สสส. จึงได้ร่วมกับ ส.อ.ท. สฟอท. และเครือข่ายองค์กรสุขภาวะสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของคนทำงานทั้งในสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพ เชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร ปั้นให้เกิดนักสร้างสุของค์กรผู้นำสุขภาพ 100 คน มุ่งเป้านำร่องในสถานประกอบการ 50 แห่ง ทั่วประเทศ มีคนทำงานได้รับประโยชน์กว่า 30,000 คน พร้อมขยายผลให้เกิดเป็นโมเดลต้นแบบองค์กรสุขภาวะ ภายในปี 2569 เป็นโมเดลองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะ ที่พัฒนาให้คนวัยทำงานมีคุณภาพชีวิตที่เข้มแข็ง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครอบครัวและสังคม พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว