พลิกมุมมองสร้างโอกาส เมื่อ VUCA ไม่ใช่วิกฤตแต่เป็นจุดเริ่มใหม่ในการสร้างสถานที่ทำงานแห่งความสุข

22/08/2022 Happy8workplace 2,006
Share:

       เชื่อว่าตอนนี้หลายคนน่าจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า VUCA กันไปบ้างแล้ว เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านทุกคนต่างได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลดิสรัปชัน, สงครามการค้า, เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, ภาวะเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ และความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันที่เริ่มประทุขึ้นครั้งล่าสุด

       สำหรับคนที่ยังไม่เคยรู้จัก VUCA มาก่อน คำว่า VUCA ย่อมาจากคำ 4 คำ ได้แก่ Volatility (ความไม่แน่นอน), Uncertainty (ความไม่มั่นใจ), Complexity (ความซับซ้อน) และ Ambiguity (ความคลุมเครือ) เป็นคำที่ใช้ในการอธิบายสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาไม่ได้ และยากในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนเช่นเหตุการณ์ในตอนนี้ที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้ถึงความผันผวนไม่แน่นอน 

คำถามที่ตามมาคือ เราจะมีวิธีการปรับตัวอย่างไรในโลกที่เต็มไปด้วยสถานการณ์แบบ VUCA ทั้งในชีวิตประจำวัน และในองค์กรสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตแบบปกติใหม่ได้อย่างลงตัว

 

เข้าใจ VUCA เข้าใจตัวเอง

         ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนตอนนี้ หรือปรับเปลี่ยนอย่างช้า ๆ อย่างที่ผ่านมา ดังนั้นก่อนที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แบบ VUCA สิ่งแรกที่ต้องทำคือการหันกลับมาทบทวนและทำความเข้าใจธุรกิจและองค์กรของเราเองว่า ท่ามกลางการโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้ เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ไหนกัน บางธุรกิจอาจรู้สึกว่าการประเมินรายรับได้ยากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมของผู้ใช้บริการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บางธุรกิจมีความผันผวนเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีตัวแปรใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ตลอดเวลา ในอีกมุมหนึ่ง VUCA เลยเป็นเหมือนตัวช่วยระบุให้รู้ถึงตำแหน่งของธุรกิจและองค์กรว่า จุดไหนที่ควรจะให้ความสำคัญและปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น เปรียบเหมือนกับเรือที่กำลังแล่นผ่านคลื่นลมแรงช่วยให้เห็นว่ามีรูรั่วตรงไหนได้ง่ายขึ้น หรือส่วนไหนที่ผุพังแล้วต้องลงมือซ่อมแซมให้เร็วที่สุด

         การทำความเข้าใจสถานการณ์แบบ VUCA ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่รู้ เลยสามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใจและเห็นถึงภาพรวมของธุรกิจและองค์กรได้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเป็นมุมมองจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสร้างผลกระทบได้อย่างรวดเร็วถ้าไม่เร่งทำการปรับตัวในทันที 

 

เปลี่ยน VUCA เป็นโอกาส

        ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ เช่นกันในสถานการณ์ VUCA เป็นความท้าทายที่เราจะต้องพลิกวิกฤตเปลี่ยนมุมมอง ให้สามารถลื่นไหลและปรับตัวได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วจากสถานการณ์ที่ยากจะอธิบาย คาดเดาไม่ได้ และไม่แน่นอนนี้ ตัวอย่างเช่น จูลี่ วิงเคิล จูเลียนี ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบพัฒนาสถานที่ทำงาน และ ผู้ร่วมเขียนหนังสือขายดี Help Them Grow or Watch Them Go: Career Conversations Organizations Need and Employees Want ซึ่งแปลไปกว่า 7 ภาษาทั่วโลก ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการปรับตัวของการทำงานในภาวะ VUCA โดยเสนอว่า สิ่งแรกที่ต้องปรับคือมุมมองและวิธีคิดของตัวเราเกี่ยวกับการมองสถานการณ์ VUCA จากเดิมที่มาจาก Volatility, Uncertainty, Complexity และ Ambiguity เปลี่ยนเป็น Versatile, Uplifting, Choice-filled และ Active 

         เปลี่ยน ความไม่แน่นอน เป็น ความยืดหยุ่น 

        เปลี่ยน ความไม่มั่นใจ เป็น ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น

        เปลี่ยน ความซับซ้อน เป็น ความชัดเจน 

        เปลี่ยน ความคลุมเครือ เป็น ความตื่นตัว

การเริ่มต้นด้วยการปรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ จะช่วยเปลี่ยนความเชื่อว่าจากที่คิดว่าเป็นวิกฤตที่แก้ไขไม่ได้ ให้กลายเป็นความท้าทายใหม่ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจและองค์กรไปข้างหน้า 

ทักษะรับมือความไม่แน่นอน

          เมื่อปรับมุมมองและวิธีคิดใหม่แล้ว ทักษะที่จำเป็นสำหรับทุกคนในธุรกิจและองค์กรโดยเฉพาะผู้นำองค์กร ที่จะช่วยในการปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์ VUCA และทำให้ธุรกิจและองค์กรผ่านความไม่แน่นอน ความไม่มั่นใจ ความซับซ้อน และความคลุมเครือไปได้อย่างราบรื่น มีทั้ง

        1. การทำงานเชิงรุก 

ทุกคนในองค์กรต้องร่วมมือกันเปลี่ยนจากการคอยปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นการทำงานเชิงรุกแบบ proactive ที่หันมาวางแผนรับมือล่วงหน้าเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์หลาย ๆ แบบ ซึ่งจะช่วยให้มีทางเลือกในปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เกิดขึ้น 

รวมไปถึงทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในกรณีที่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามแผนการที่ได้วางเอาไว้ โดยทักษะการทำงานเชิงรุกนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรได้หันมาพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

        2. เรียนรู้สิ่งใหม่ 

การไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะโลกในทุกวันนี้มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้วิธีการเดิม ๆ ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป คนในองค์กรเลยจำเป็นต้องทำการ reskill หรือ upskill ให้กับตัวเอง รวมถึงธุรกิจและองค์กรก็ต้องสนับสนุนด้วยการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน เช่น จัดหาวิทยากรมาให้ความรู้ หรือออกค่าใช้จ่ายให้พนักงานได้ไปลงเรียนคอร์สที่พวกเขาน่าสนใจ 

โดยคอร์สที่เรียนรู้อาจจะไม่ใช่ทักษะที่ใช้ในองค์กรโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงคอร์สที่สร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจ เช่น วาดรูป ปั้นเซรามิก ที่ช่วยสร้างความสุขให้กับคนในองค์กรได้อีกทางหนึ่ง

       3. ล้มให้เร็วลุกให้เร็วกว่า

ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แน่นอนว่ายากที่ใครจะคาดการณ์ได้ถูกต้องทุกครั้ง ดังนั้นวิธีการปรับตัวในสถานการณ์แบบนี้คือใช้การลองผิดลองถูก ที่สำคัญเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้วต้องรู้ตัวให้เร็วที่สุด และลุกขึ้นใหม่ให้เร็วกว่า รวมทั้งมีการเก็บข้อมูลสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการลองครั้งต่อไป ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ถูกต้องในอนาคต

โดยผู้นำองค์กรมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อให้คนในองค์กรกล้าที่ผิดพลาด นอกจากผู้นำองค์กรแล้ว คนในองค์กรก็ต้องทำงานเป็นทีมคอยให้กำลังใจ สร้างความเข้าใจและไม่ซ้ำเติมเมื่อเกิดตัดสินใจผิดพลาดขึ้น

      4. สื่อสารให้ชัดตรงประเด็น

ทักษะการสื่อสารที่ชัดเจนตรงประเด็น นอกจากจะช่วยให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารได้อย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีช่วยให้องค์กรสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว 

การสื่อสารที่ชัดเจนของผู้นำองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทิศทางขององค์กร หรืองานที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย จะทำให้ทุกคนเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างพร้อมเพรียงแม่นยำ มีประสิทธิภาพ ลดความคาดเคลื่อน ลดความผิดพลาดล่าช้า และ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน 

ข้อดีของการสื่อสารที่ชัดเจนของคนในองค์กร ยังจะช่วยให้คนในองค์กรมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ลดการเข้าใจผิดและการกระทบกระทั่งที่เกิดจากการสื่อสารที่คาดเคลื่อนได้เป็นอย่างดี

      5. ความเห็นอกเห็นใจ เคารพในความแตกต่าง

ไม่แค่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สถานการณ์โลกมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ยังทำให้โลกทุกวันนี้มีความแตกต่างหลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากความต้องการที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน 

การทำงานร่วมกันในองค์กรที่มีคนจำนวนมากเลยจำเป็นต้องมีทักษะในเรื่องการเคารพในความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน รวมไปถึงการรับรู้เห็นอกเห็นใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา 

ทักษะนี้เป็นอีกทักษะที่มีจำเป็นสำหรับทุกองค์กร เพราะจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกคนในองค์กรอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งในการทำให้สถานที่ทำงานกลายเป็นสถานที่ทำงานแห่งความสุขของทุกคน

 

จุดเริ่มในการสร้างสถานที่ทำงานแห่งความสุข

          แม้สถานการณ์ VUCA จะเปลี่ยนโลกที่คุ้นเคยให้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความไม่มั่นใจ ความซับซ้อน และความคลุมเครือ แล้วทำให้การใช้ชีวิตไปจนถึงการทำงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ในทางกลับกันถ้าเราปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิด แล้วปรับตัวด้วยการพัฒนาทักษะที่จำเป็นกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ นอกจากจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่มีความผันผวน มีสิ่งที่ยากจะคาดการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างไม่ต้องกังวลใจแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับสถานที่ทำงาน เช่น การนำทักษะต่าง ๆ มาใช้เพื่อทำให้สถานที่ทำงานของเรากลายเป็นสถานที่ทำงานแห่งความสุขไปพร้อมกัน 

ที่มา:

https://www.juliewinklegiulioni.com/blog/career-development/vuca-career-development-for-a-vuca-workplace/

https://www.techtarget.com/whatis/definition/VUCA-volatility-uncertainty-complexity-and-ambiguity#:~:text=VUCA%20is%20an%20acronym%20that,and%20lead%20to%20better%20outcomes.

 

######