การหมดไฟไม่ใช่ปัญหาของ "คน" เท่านั้น แต่องค์กรมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ดังที่จะเห็นได้ว่า ที่ทำงานบางที่ มีแต่คน burnout เกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ใครเข้ามาทำอยู่ได้ไม่นาน ก็หมดไฟ ลาออก วนเวียนไปมาแบบนี้
ลักษณะของที่ทำงานที่จะเป็นอุตสาหกรรมสร้างคนหมดไฟมีลักษณะดังนี้
1. ปริมาณงานมากเกินไปแต่ทรัพยากรในการทำงานน้อย เช่น สถานที่ราชการบางแห่ง มีคนมาติดต่อวันหนึ่งจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่มีน้อย แถมอุปกรณ์ก็ไม่อำนวยความสะดวกเท่าที่ควร เช่นคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า เป็นต้น
2. ไม่มีเวลาว่างหรือไม่มีวันหยุดพักร้อน ซึ่งทำให้คนเหนื่อยล้าได้ง่าย หน่วยงานรัฐฯ ส่วนใหญ่ลาพักร้อนได้เพียง 10 วันต่อปี แต่ในบางประเทศจะพบว่า ลาได้กัน 30-45 วันต่อปีเลยทีเดียว
3. ต้องรับหน้า แต่ไม่สามารถตัดสินใจหรือไม่มีอำนาจในการสั่งการ เช่น พนักงานต้อนรับที่แต่ละวันต้องแก้ปัญหาให้กับลูกค้าจำนวนมาก แต่กลับไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ จะทำอะไรก็ต้องถามผู้จัดการก่อนทุกครั้ง
4. ขาดสิ่งจูงใจในการทำงาน ทำดีไม่ได้ดี หรือทำมากทำน้อยก็ได้ผลตอบแทนเท่ากัน หรือทำดีไม่เคยชมแต่ทำพลาดด่าอย่างเดียว โดยเฉพาะทำงานในหน่วยงานรัฐ ที่พบว่า ทำงานมากทำงานน้อย สุดท้ายได้เงินเดือนเท่ากันได้ขั้นเท่ากัน ใครทำงานดียิ่งได้งานเยอะในขณะที่ ใครไม่ค่อยมาทำงานก็ยิ่งสบายขึ้นเรื่อย ๆ (ในเงินเดือนที่เท่ากัน)
5. ไม่มีความยุติธรรมในองค์กร เช่น มีการเล่นเส้นเล่นสาย เลือกที่รักมักที่ชัง ประเมินผลงานแบบไม่ยุติธรรม ทำงานดีแต่สู้คนที่ประจบเจ้านายไม่ได้ เป็นต้น
6. มีการบริหารงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เป็นพิธีรีตองมากจนเกินไป ในข้อนี้ใครทำงานหน่วยงานราชการน่าจะเข้าใจง่ายขึ้น เช่น การจะขอหนังสือสักฉบับอาจจะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ใช้เวลาหลายสัปดาห์ ต้องการติดต่อขอพบผู้บริหารระดับสูง อาจจะต้องใช้เวลานัดเป็นเดือน เป็นต้น.
การแก้ไขเมื่อพบว่าองค์กรเราเริ่มติดอยู่ในขั้นของ burnout แล้ว
สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้ก็คือ เรื่อง burnout ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับบุคคลอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องแก้ไขในระดับขององค์กรด้วย เนื่องจาก burnout เป็นภาวะที่เกิดจากความเครียดในที่ทำงาน หากที่ทำงานยังเหมือนเดิมก็คงยากที่ปัญหาจะหายไป ต่อให้คนเก่าลาออกไป คนใหม่ที่เข้ามาก็มีโอกาส burnout ได้สูงอยู่ดี จนบางครั้งกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ต้องเปลี่ยนคนทำงานทุก 1-2 ปี
การแก้ไขในระดับองค์กร
การแก้ไขในระดับองค์กร ก็คือให้แก้ตามสาเหตุของการเกิด burnout ได้ดังนี้
1. สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เช่น ส่งเสริมให้คนในที่ทำงานสนิทสนมกัน เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกันเป็นทีม
2. มีช่วงเวลาและระบบการฝึกงานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาทำงานเข้าใจและทำงานได้ ไม่ใช่ให้มาลองผิดลองถูกกันเอาเอง
3. มีรายได้ที่เหมาะสมกันงาน รวมทั้งมีสิ่งจูงใจอื่นๆ เช่น อาจมีรางวัล โบนัส ให้รางวัลพนักงานดีเด่น เป็นต้น ใครทำดีมีความสามารถ ก็ควรได้ดีตามความสามารถ
4. ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และเพิ่มทรัพยากรให้เพียงพอกับงาน
5. มีบุคลากรหรือหน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาได้
6. มีเวลาให้พักผ่อนและวันพักร้อนอย่างเหมาะสม
7. มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้นหรือมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในการทำงาน
8. มีการระบุให้ชัดเจนว่างานที่ทำครอบคลุมส่วนใด และต้องทำอะไรบ้าง ไม่ใช่เบลอ ๆ ทำงานกันแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบ
9. ปรับปรุงระบบการบริหารงานให้คล่องตัวและรวดเร็ว ไม่ซับซ้อน
10. ผู้บริหารและองค์กรควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ burnout ด้วย
องค์กรมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยพนักงานในเรื่องของการ burnout ถ้าองค์กรเห็นความสำคัญและหาวิธีแก้ปัญหาก็จะลดการลาออกของพนักงาน และทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย
ที่มา
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย https://web.facebook.com/.../a.499791366.../518516234919064/