สุขภาวะที่ดีในองค์กร สำเร็จได้ด้วยการสร้างเครือข่ายแห่งความสุข

06/04/2022 คลังความรู้, บทความ 5,709
Share:

ประเด็นสำคัญจากช่วง Show & Share Journey to Happy Organization จากงาน Happy Workplace Forum 2022

สุขภาวะที่ดีในองค์กร สำเร็จได้ด้วยการสร้างเครือข่ายแห่งความสุข 

แม้ว่าความสุขเป็นเรื่องของปัจเจก แต่ความเป็นจริงคนเราสามารถรับรู้ความสุขจากผู้อื่นได้ การสร้างความสุขโดยเฉพาะการทำให้เกิดองค์กรแห่งความสุข จึงไม่สามารถเริ่มต้นได้จากคนเพียงคนเดียว แต่เป็นทุกคนในองค์กรที่ต้องมีส่วนร่วมช่วยกัน

ที่ผ่านมาหลายองค์กรร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข ซึ่งในงาน Happy Workplace Forum 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม องค์กรที่เป็นภาคีเครือข่ายกว่า 6 องค์กร ได้แก่ คุณรักษ์ เจริญศิริ ตัวแทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, รศ.ดร.พ.ต.ท.ธวิช สุดสาคร ตัวแทนจากองค์กรตำรวจ, นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข, ดร.ศิริเชษฐ์ สังจะมาน ภาคีเครือข่ายที่ทำงานกับข้าราชพลเรือน, รศ.ดร. จงจิตร อังคทะวานิช ภาคีเครือข่ายที่ดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์ และ ผศ. ดร. จรัมพร โห้ลำยอง หัวหน้าศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยแห่งความสุข

โดยแต่ละภาคีเครือข่ายได้นำประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานจริงในการขับเคลื่อนองค์กรของตัวเองให้เป็นองค์กรแห่งความสุขมาแลกเปลี่ยนกัน

นักสร้างสุข 

คุณรักษ์ เจริญศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบริการธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้แบ่งปันเรื่องราวของโครงการส่งเสริมการสร้างสุขในองค์กรขนาดย่อมที่เขาได้มีส่วนขับเคลื่อน ซึ่งจากหน้าหลักในการส่งเสริมวิสาหกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ ทำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เน้นในเรื่องการพัฒนาคนให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้สถานประกอบการ โดยได้ร่วมมือกับ สสส. มาตั้งแต่ปี 2559 ในการนำแนวคิด Happy 8 มาใช้ในองค์กรต่าง ๆ ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้าไปดูแล

ก่อนจะขยายผลเป็นการสร้างนักสร้างสุข ที่เรียกว่า SHAP Agents ที่จะทำงานร่วมกับสถานประกอบการต่าง ๆ ภายใต้โครงการส่งเสริมการสร้างสุขในองค์กรขนาดย่อม โดยมีการทำข้อกำหนดที่จะเป็นมาตรฐานความสุขขององค์กร ซึ่งช่วยให้สามารถวัดผลการดำเนินงานได้ 

จากการที่มีพนักงานในองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการกว่า 40,000 ราย ทำให้ได้ข้อมูลเครือข่ายจากทั่วประเทศ ที่นำไปต่อยอดเป็นเครือข่ายแห่งความสุขต่อไป

“การสร้างองค์กรแห่งความสุขเราต้องทำอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างแรงจูงใจ และสร้างมาตรฐาน อีกทั้งยังต้องมีการสร้างนักสร้างสุขที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับองค์กรอื่น ๆ ต่อไป” คุณรักษ์ เจริญศิริ ให้ข้อมูลก่อนส่งต่อไปที่วิทยากรท่านอื่น 

 

สงฆ์ไทยไกลโลก 4.0 

องค์กรสงฆ์เป็นหนึ่งในหลายองค์กรที่คนส่วนมากมองข้ามว่ามีความเสี่ยงจากปัญหาเรื่องโภชนาการ ซึ่งในความเป็นจริงพระสงฆ์จำนวนมากมีปัญหาทางด้านสุขภาพ อย่างโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ หรือ NCDs เป็นที่มาของโครงการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ของ รศ.ดร. จงจิตร อังคทะวานิช ที่เข้ามาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2553 จนเจอต้นเหตุของปัญหา และจัดทำเป็นสื่อสงฆ์ไทยไกลโลก 4.0 ที่เผยแพร่ทั้งในรูปแบบเอกสาร คลิปวิดีโอ และข้อมูลออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

โครงการนี้ยังได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลทั่วประเทศที่เข้ามาดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์อย่างใกล้ชิด ที่เรียกว่าโครงการหนึ่งวัดหนึ่งโรงพยาบาล ซึ่งมีส่วนช่วยให้ ชีวิตความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

“สุขภาพของพระสงฆ์เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับฆราวาส ด้วยตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ต้องพึ่งพาอาหารที่ฆราวาสและญาติโยมนำมาถวายการดูแลใส่ใจสุขภาพของพระสงฆ์จึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อน” รศ.ดร. จงจิตร อังคทะวานิช ได้เปิดเผยถึงความท้าทายของโครงการนี้

            “โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค มีขึ้นเพื่อให้สังคมได้ตระหนักและเข้าใจในการดูแลใส่ใจสุขภาพของพระสงฆ์ เราเลยจัดทำเว็บไซต์นี้ขึ้นมาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของทั้งพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาส แบบครบวงจร โดยมีชุดความรู้และสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่ทีมนักวิจัยของโครงการได้ศึกษาและพัฒนามาตลอดระยะเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษ สิ่งที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จมาจากการออกแบบสื่อที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัวเข้าถึงคนได้ง่าย รวมทั้งมีภาคีเครือข่ายที่นำสื่อของโครงการไปพัฒนาและช่วยกระจายในวงกว้าง” 

 

สมการความสุขของผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ 

PMT-สามสิ่งนี้คือสมการแห่งความสุขที่ รศ.ดร.พ.ต.ท.ธวิช สุดสาคร จากคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ นำมาใช้เป็นตัวช่วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตำรวจให้ดีขึ้น 

จากการเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง และในแต่ละวันต้องคอยดูแลแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนให้กับผู้คนจำนวนมาก ทำให้ตำรวจเป็นอีกองค์กรที่ประสบปัญหาเรื่องสุขภาวะมาอย่างต่อเรื่อง

“ประเทศเรามีตำรวจกว่า 2 แสนนาย ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เราเป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานเป็นผลัด ไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน นอกจากเรื่องเวลาแล้ว งานตำรวจก็ต้องรับมือกับความทุกข์ร้อนของประชาชนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่มีเวลามาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเอง เรามีข้อมูลว่า ตำรวจที่อายุ 45 ปีขึ้นไป กว่า 80% มีปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัญหาไขมัน เบาหวาน ความดัน ซึ่งถ้าจะให้ตำรวจสามารถดูแลประชาชนไปได้ตลอด ก็ต้องมีความพร้อมในด้านร่างกายและคุณภาพชีวิตด้วย”

สิ่งที่เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับตำรวจไทยคือ การนำหลัก PMT ไม่ว่าจะเป็น P-People participation การให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ด้วยการช่วยกันออกแบบการทำงานที่เข้ากับกิจกรรมและลักษณะงานที่ทำอยู่ เช่น การปรับท่าออกกำลังกายซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตำรวจต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ โดยให้มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจไปในตัว

M-Management support การให้ผู้บังคับบัญชามีส่วนช่วยสนับสนุน และเป็นผู้รับผิดชอบในการประเมินผล รวมถึงผลักดันให้การดูแลสุขภาวะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดผลในการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา

Technological support การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน thaipolice health รวมถึงแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุกและรับ ที่ช่วยในการสื่อสารสองทางอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ตำรวจมีข้อมูลในการดูแลสุขภาวะของตัวเอง และสามารถปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์ได้ในทันทีที่ต้องการ

โดยตลอดการทำงาน 6 ปี แนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์จากตำรวจกว่า 1,500 โรงพักทั่วประเทศว่า สามารถจัดการด้านสุขภาวะของตำรวจได้อย่างยั่งยืน ด้วยการทำงานนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้เกิด happy workplace ในองค์กรตำรวจ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพร้อมในการดูแลประชาชนต่อไป

“ความยากคือการออกแบบให้การสุขภาวะในที่ทำงานสอดคล้องไปกับงานประจำที่ทำอยู่ได้อย่างลงตัว เราเลยต้องพยายามหานวัตกรรมมาใช้อยู่ตลอดเวลา ทั้งการจัดทำคู่มือการตรวจสุขภาพ การสร้างเครือข่าย และออกแบบกลไกที่สามารถติดตามผลเพื่อช่วยให้ตำรวจทำงานอย่างมีความสุข”

นโยบายขับเคลื่อนความสุขที่ยั่งยืน

“เราดำเนินงานต่อเนื่องกับข้าราชพลเรือน โดยเอาปัญหาต่าง ๆ มาศึกษาเบื้องต้น แล้วนำแนวคิด Happy 8 เข้ามาใช้ ที่ผ่านมาภาครัฐเองไม่ได้ละเลยการทำให้ข้าราชการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราเลยเสริมในเรื่องการทำให้คนในองค์กรรู้สึกผูกพันกับหน่วยงานมากขึ้น”

ดร.ศิริเชษฐ์ สังจะมาน จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงการพัฒนาองค์ความรู้ โดยการนำเครื่องมือและวิธีการวัดต่าง ๆ มาปรับใช้กับภาครัฐ

“เราอยากเน้นเรื่องการให้ข้าราชการพัฒนาความรู้ได้เอง โดยเฉพาะข้าราชการยุคใหม่ ให้เขาสามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้ แล้วยังตอบโจทย์การให้บริการประชาชน รวมทั้งการทำงานเป็นทีม ซึ่งปัจจุบันที่หลายคนต้องทำงานต่างสถานที่และต่างเวลา เลยต้องเน้นในเรื่องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากขึ้น”

ดร.ศิริเชษฐ์ สังจะมาน มองว่าการจะทำให้เกิด happy workplace โดยเฉพาะในองค์กรภาครัฐได้นั้น สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือต้องมีนโยบายที่ขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน เพราะว่าระบบราชการการขับเคลื่อนหลายเรื่องต้องอาศัยการทำงานในเชิงนโยบายที่วัดผลได้จริง และเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกคน โดยการทำให้โครงการประสบความสำเร็จองค์กรต้องเข้ามามีส่วนร่วมดังนี้

1. ภาคีเครือข่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทสำคัญ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง

2. คนภายในองค์กรเองทุกคน ต้องร่วมมือและเห็นความสำคัญ 

3. ต้องมีการสร้างแรงจูงใจ ด้วยการนำคนประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุขมาเป็นตัวอย่าง

 

ผู้นำความสุข 

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ที่ปรึกษาระดับกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเสริมสุขภาวะของคนในองค์กร ได้พูดถึงบทบาทที่มีส่วนในการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุขว่า

“เราไปสร้างมาตรฐานในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เราทำศูนย์สุขภาพดีวัยทำงานในสถานประกอบการ (Company's Wellness Center) ศูนย์กลางในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของคนทำงานในสถานประกอบกิจการที่ครอบคลุมความเสี่ยงทุกความเสี่ยง ตามแนวคิด สุขภาพองค์รวม เพื่อให้คนทำงานมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่เป็นสุข”

โดยมีภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ซึ่งกิจกรรมเด่น ๆ มีทั้ว welless centre และ health leader ผู้นำด้านการสุขภาพ รวมถึงออกแบบกิจกรรมร่วมกับสถานประกอบการโดยมีหน่วยงานสถานพยาบาลพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยเหลือ และมีการออกแบบประเมินวัดผลที่ได้มาบริหารความเสี่ยง และประเมินด้วยระบบที่ได้มาตรฐานสำหรับองค์กรที่จะมาเข้าร่วมต่อไป

“ปัจจัยความสำเร็จเกิดจาก mindset ขององค์กรที่มองเห็นความสำคัญของ สุขภาพควบคู่กับเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ ตรงนี้ถ้าทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจจะนำไปสู่ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่มีความพร้อมต่อไป ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเชิงนโยบาย รวมถึงการสร้างแรงจูงใจอย่างเช่น ให้มี incentive ในเรื่องการลดหย่อนภาษี”

4G generation

ผศ. ดร. จรัมพร โห้ลำยอง จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แลกเปลี่ยนว่า “โครงการองค์กร 4G มีสุข : เข้าใจ เตรียมพร้อม และทลายช่องว่าง เข้ามามีบทบาทในช่วงการเปลี่ยนผ่านของภาคเศรษฐกิจ ตั้งแต่การเมือง ไปถึงสาธารณสุข และระหว่างประเทศ โดยเน้นให้ประชากรในแต่ละรุ่นสามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะการขับเคลื่อนองค์กร ต้องอาศัยประชากรทั้ง 4 รุ่น ไม่ว่าจะเป็น เบบี้บูมเมอร์ไฟแรงที่ทำงานหนัก เจเนเรชันเอ็กซ์ที่ตั้งใจทำงาน เจเนเรชันวาย และเจเนเรชันซีน้องใหม่ที่เข้ามาเป็นประชากรหลักขององค์กร” 

โดยแต่ละเจนเนเรชันต่างมีช่องว่างระหว่างยุคสมัยที่แตกต่างกัน การขับเคลื่อนองค์กรโดยให้คนทุกรุ่นมีส่วนร่วม จึงต้องใส่ใจและเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ด้วยการให้คุณค่ากับคนทุกรุ่นอย่างเท่ากัน เพื่อให้องค์กรในยุคของการเปลี่ยนแปลงสามารถขับเคลื่อนไปได้จากคนทั้งสี่รุ่น 

ผศ. ดร. จรัมพร ได้แลกเปลี่ยนว่าปัจจัยความสำเร็จที่ผ่านของมาของโครงการ เกิดจากความร่วมมือของทุกคนในองค์กร ที่ให้ทุกคนได้เข้ามีส่วนร่วมตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน ไปจนถึงลูกค้า และชุมชนโดยรอบ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมที่อาศัยเพียงนักสร้างสุขให้กับองค์กร ที่มาจากผู้บริหารและคนที่มีบทบาทในองค์กร

“เรามุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทาง mindset ลดกรอบขีดความสามารถของคน มาเชื่อมกับการพัฒนากำลังคนใน happy workplace เพราะการที่พนักงานมี turnover บ่อย ๆ จะเป็นต้นทุนขององค์กร ซึ่งจะดีกว่ามากถ้าเราทำให้เขามีความสุขในองค์กร แล้วไปถ่ายทอดให้คนใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ” ผศ. ดร. จรัมพร กล่าวทิ้งท้าย

 

สุขภาวะที่ดีต้องเริ่มต้นจากทุกคน 

แม้ว่าแต่ละภาคีเครือข่ายทั้ง 6 องค์กร ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนา “Show & Share Journey to Happy Organization” ของงาน Happy Workplace Forum 2022 ในครั้งนี้ จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปเพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ เป็น happy workplace แต่จากการทำงานจริงของทุกภาคีเครือข่าย มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ การทำให้ทุกคนในองค์กรได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นองค์กรแห่งความสุขไปพร้อมกัน

เพราะประโยชน์ที่ได้จากการที่สถานที่ทำงานเป็นองค์กรสุขภาวะที่ดี ไม่เพียงแต่จะตกอยู่กับคนในองค์กร หรือตัวองค์กรเองที่ได้รับประโยชน์ แต่ยังรวมไปถึงชุมชนโดยรอบ ผู้คนรอบข้าง ไปจนถึงครอบครัวของคนในองค์กรทุกคนที่มีความสุขไปด้วยกัน ดังนั้นการจะทำให้เกิดองค์กรแห่งความสุขที่จะขยายความสุขนี้ต่อไปอย่างไม่รู้จบนั้นต้องเริ่มต้นจากพวกเราทุกคนที่เข้ามาเป็น​​ส่วนหนึ่งในเครือข่ายแห่งความสุขด้วยกัน