อุตสาหกรรม “แฟชั่น” ไทย พบคนทำงานมีภาวะเครียด 76% เผชิญปัญหาคนลาออกสูง 10% ต่อปี เหตุพนักงาน ไม่มีความสุข-ภาระงานหนัก-ป่วยซึมเศร้า-ขาดแรงจูงใจ กระทบการเติบโตเศรษฐกิจไทย สสส. หนุน สถาบันฯ สิ่งทอ ใช้แนวคิด Happy workplace ยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน มุ่งสร้างองค์กรสุขภาวะต้นแบบ 100 แห่ง ภายในปี 69

10/07/2024 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 602
Share:

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ที่โรงแรม แรมแบรนดท์ โฮเทล แอนด์ สวีท กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดเวทีกิจกรรมกระตุ้นนโยบายองค์กรสุขภาวะด้านพฤติกรรม ภายใต้โครงการสร้าง พัฒนา ขยายผลองค์กรสุขภาวะ สู่ผลลัพธ์พฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยืน ในคลัสเตอร์สิ่งทอ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ใช้แนวคิดองค์กรสุขภาวะ (Happy workplace) มุ่งเน้นให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีความสุขในการทำงาน มีผู้เข้าร่วมจาก 100 องค์กร ทั่วประเทศ

โดย นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพของคนวัยทำงาน จากรายงาน Champion Health  Mental Health & Wellbeing ปี 2566 โดยเว็บไซต์ thelancet.com พบว่า คนวัยทำงานในไทยมีภาวะเครียดระดับปานกลางถึงเครียดจัด สาเหตุจากบรรยากาศในที่ทำงานไม่ดีและภาระงานที่หนักเกินไป 76% ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่ามีภาวะวิตกกังวล 60% เผชิญปัญหาป่วยซึมเศร้า 56% นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตและภาวะหมดไฟในการทำงาน สอดคล้องกับผลสำรวจประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของคนทำงานกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ ในสถานประกอบการ 20 แห่ง ปี 2566 พบคนวัยทำงานไม่มีความสุข ป่วยซึมเศร้า สุขภาพสังคมทำงานไม่ดี เป็นสาเหตุหลักการลาออกของคนทำงานโดยเฉลี่ย 5-10% ต่อปี และขาดแรงจูงใจให้คนวัยทำงานหน้าใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม

 “สสส. สนับสนุนให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำแนวคิด Happy workplace ไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเสี่ยงการป่วยด้านสุขภาพจิต (Mental Health) ของคนทำงานในอุตสาหกรรม ผ่านแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน 1.ส่งเสริมให้สถานประกอบการสิ่งทอฯ กำหนดนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร 2.ขยายเครือข่ายองค์กรสุขภาวะตามยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 10 ปี ของ สสส. 3.ศึกษาปัจจัยความสำเร็จสู่การเพิ่มขีดความสามารถส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งเป้าให้เกิดสถานประกอบการในคลัสเตอร์สิ่งทอต้นแบบ 100 แห่ง ภายในปี 2569” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
 

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โครงการสร้าง พัฒนา ขยายผลองค์กรสุขภาวะ สู่ผลลัพธ์พฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยืน มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร และเครือข่ายในกลุ่มอุตสาหกรรม ให้มีองค์ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 7 ด้าน 1.สร้างการรับรู้นโยบายองค์กรสุขภาวะ 2.สื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างผลลัพธ์พฤติกรรมสุขภาพ 3.ติดตามและประเมินภาพรวมโดยผู้เชี่ยวชาญ 4.ยกระดับองค์กรสุขภาวะโดยเน้นผลลัพธ์เชิงพฤติกรรมสุขภาพ 5.สร้างแกนนำทีมสร้างสุขให้เป็นผู้นำสุขภาพ 6.พัฒนางานวิจัยเพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาวะองค์กร 7.พัฒนาศูนย์สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารงานของสถาบัน ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานในอุตสาหกรรมให้พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งเป้าขยายผลไปยังหน่วยงานในสังกัด 8 แห่ง สถานประกอบการ 2,607 แห่ง ครอบคลุมคนทำงานในอุตสาหกรรม 402,779 คน