โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
สนับสนุนการทำงานโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สสส.
วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ มีการประชุมสรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้
การสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันองค์กร ระดับประเทศ ปี ๒๕๖๔ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ๒๕๖๕ มีจำนวนองค์กรที่ตอบรับและสำรวจเสร็จสิ้น จำนวน ๓๔๕ องค์กร ใน ๑๗ กลุ่มประเภทอุตสาหกรรม โดยมีจำนวนคนทำงานที่ตอบแบบสำรวจ จำนวน ๒๒,๑๙๖ คน และจำนวนคนทำงานที่ตอบแบบสมบูรณ์ จำนวน ๒๐,๙๘๐ ตน ซึ่งจำนวนดังกล่าวสามารถแทนประชากรคนทำงานในองค์กร จำนวน ๗.๐๘ ล้านคน ในส่วนของการวิเคราะห์ผล พบว่าค่าคะแนนความสุขรวมจากผลการสำรวจระดับประเทศ ปี ๒๕๖๔ เท่ากับ ๖๑.๓ คะแนน (เพิ่มขึ้นจากค่าคะแนนความสุขรวมจากผลการสำรวจระดับประเทศ ปี ๒๕๖๓ ซึ่งเท่ากับ ๕๙.๕ คะแนน) เมื่อพิจารณาค่าคะแนนความสุขเป็นรายมิติความสุข พบว่า ๓ มิติความสุขที่มีค่าคะแนนสูงที่สุด ได้แก่ จิตวิญญาณดี (๖๘.๕ คะแนน) น้ำใจดี (๖๖.๓ คะแนน) และการงานดี (๖๕.๕ คะแนน) ตามลำดับ ส่วน ๓ มิติความสุขที่มีคะแนนต่ำที่สุด ได้แก่ สุขภาพเงินดี (๕๒.๘ คะแนน) ผ่อนคลายดี (๕๔.๗ คะแนน) และสังคมดี (๕๘.๗ คะแนน) ตามลำดับ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันองค์กร ระดับประเทศ ปี ๒๕๖๓ พบว่าค่าคะแนนความสุขของคนทำงานในปี ๒๕๖๔ เพิ่มขึ้นในทุกมิติ ยกเว้นแต่เพียงมิติสุขภาพกายดีที่ค่าคะแนนคงที่ คือ ๕๙.๓