สสส. เดินหน้าเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธ ตั้งเป้า มจร. เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกที่ขับเคลื่อนงาน AUN-HPN สู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสุขภาพ” (Healthy University)

04/02/2025 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 186
Share:

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุม Intelligent Mind (I-Mind) อาคารพระพรหมบัณฑิต วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้จัด เวทีสื่อสารสาธารณะ หัวข้อ “บทบาทของมหาวิทยาลัยสงฆ์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพระดับอาเซียน” จัดขึ้นโดย โครงการพัฒนาระบบองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8 ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก พระปัญญาวัชรบัณฑิต, รศ.ดร.รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวต้อนรับและเปิดงาน ว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาวะ และเพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพอาเซียน ASEAN University Network – Health Promotion Network (AUN-HPN) เพราะสะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในการเป็นศูนย์กลางแห่งปัญญา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพระสงฆ์ บุคลากรทางการศึกษา และสังคม สอดคล้องกับกระแสโลกยุคปัจจุบันที่ประเด็นสุขภาวะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนามนุษย์และสังคม ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบจัดการสุขภาวะภายในมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลสงฆ์ รวมถึง สสส. ซึ่งมีการทำงานเพื่อผลักดันการสร้างเสริมสุขภาวะ ไปยังพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในวิทยาเขต และวิทยาลัยสงฆ์ใน 8 ถึง 9 พื้นที่ทั่วประเทศ

ด้าน พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะผู้รับผิดโครงการพัฒนาระบบองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ว่า กิจกรรมเวทีสื่อสารสาธารณะในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก วัตถุประสงค์เพื่อมุ่งผลักดันให้องค์กรทางพระพุทธศาสนาเป็นแกนกลางในการพัฒนาสุขภาวะชุมชน ควบคู่กับแนวคิด AUN-HPN ผ่าน 4 เป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ 1. พัฒนากลไกและระบบองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธภายใต้กรอบ AUN-HPN ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2. การพัฒนาฐานข้อมูลและนวัตกรรมสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ใน 8 พื้นที่ต้นแบบ 3. ขยายเครือข่ายองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธเพื่อพัฒนาสุขภาวะใน 8 พื้นที่ต้นแบบ 4. สนับสนุนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาโดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ เรายังมีคู่มือการขับเคลื่อนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์ส่งเสริมสุขภาพในระดับอาเซียน ที่เผยแพร่อยู่นี้เป็นการสังเคราะห์องค์ความรู้ภายใต้การดำเนินงานการวิจัยเรื่อง “โครงการพัฒนาระบบองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธ” เพื่อเป็นแนวทางต้นแบบของการจัดให้มีกลไกและกิจกรรมตอบสนองต่อเป้าหมายของตัวชี้วัด ในการขับเคลื่อนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์ส่งเสริมสุขภาพในระดับอาเซียนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

“ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขับเคลื่อนงานในส่วนของการผลักดันเชิงนโยบายและสนับสนุนให้ มจร. มีการดำเนินกิจกรรมการตามกรอบ AUN-HPN ควบคู่กับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพในอนาคต ตลอดถึงเกิดคณะทำงาน 8 จังหวัดเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะภายในมหาวิทยาลัย ชุมชน และสังคม ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) เกณฑ์เครือข่ายมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพอาเซียน (AUN-HPN) 2) แผนยุทธศาสตร์ของสสส. และ 3) ประเด็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา อีกทั้ง จะต้องดำเนินกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายด้านวิชาการ คณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาททางด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม ตลอดถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการดำเนินงานของพื้นที่อีกด้วย” พระสุธีรัตนบัณฑิต กล่าว

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร(สำนัก 8 ) สสส. ได้กล่าวถึงการสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรพระสงฆ์ ว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร ในฐานะหน่วยงานสร้างเสริมสุขภาพ เราทำงานที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมดูแลสุขภาพเชิงรุกในทุกกลุ่มเป้าหมาย และองค์กรสงฆ์ก็ถือเป็นองค์กรหลักที่เกี่ยวสำคัญต่อประเทศไทย และส่วนมากกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสถิติพระสงค์ป่วยจากโรค NCDs ก็มีจำนวนสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญในขับเคลื่อนงาน ดูแลทุกมิติสุขภาพของพระสงฆ์ ที่ผ่านมาเกิดผลลัพธ์อย่างมากมาย อาทิ เกิดธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ที่เน้นการดูแลเรื่องของสุขภาพพระเป็นหลังโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนด้วยคำว่า “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ซึ่งเป็นเหมือนแผนปฏิบัติการและตัวชี้วัดเพื่อใช้ประเมินสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ หรือโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค , วัดปลอดบุหรี่ , วัดกับการจัดการขยะ , วัดลดฝุ่น การสร้างพื้นที่เครือข่ายสุขภาวะนวัตกรรมชุมชนเพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์ เป็นต้น 

“ในส่วน AUN-HPN เป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระดับภูมิภาคของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการส่งเสริมสุขภาพในสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการมีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสุขภาพ” (Healthy University) ถือเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่มีความสำคัญในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียนให้สามารถบรรลุพันธกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้อย่างครบวงจร ผ่านการสร้างความร่วมมือในด้านการวิจัย การพัฒนาหลักสูตร การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และการสร้างชุมชนที่มีสุขภาวะที่ดี จึงถึงเป็นเรื่องสำคัญที่สสส. จะร่วมสนับสนุนและผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกที่ขับเคลื่อนงาน AUN-HPN เป็นหนึ่งในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน - เครือข่ายการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเชื่อว่า มจร.มีศักยภาพที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมไทย ไปจนถึงการพัฒนาสุขภาวะของประชากรในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ในอนาคต” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร(สำนัก 8 ) กล่าว