สสส. จับมือภาคี “แพทยศาสตร์ศิริราช” ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ไทยทุกมิติ ตั้งวงเสวนา “สมดุลชีวิตพระสงฆ์ : สุขภาพกายและจิตในยุคดิจิทัล”

23/08/2024 กิจกรรมที่น่าสนใจ, ข่าวประชาสัมพันธ์ 168
Share:

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร ตึกศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช "โครงการนวัตกรรมการดูแลสุขภาพของตนเอง: ต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืนสำหรับพระสงฆ์” โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดการประชุมถวายความรู้เรื่อง "สมดุลชีวิตพระสงฆ์ : สุขภาพกายและจิตในยุคดิจิทัล" โดยความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร หรือ สำนัก 8 (สสส.) , เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อดูแลสุขภาพจิตและกายของพระสงฆ์ไทย

โดยภายในงาน ยังมีไฮไลท์สำคัญคือ ช่วงเสวนาผู้บริหาร How to :สุขภาพกายและจิตในยุคดิจิทัล โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการสงฆ์และวงการสุขภาพ ได้แก่ พระพรหมวัชรวิมลมุนี (บุญชิต ญาณสังวโร) เจ้าคณะกรุงเทพ , พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ ประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม , นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ นพ.อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสงฆ์ ร่วมเสวนา

พระพรหมวัชรวิมลมุนี (บุญชิต ญาณสังวโร) เจ้าคณะกรุงเทพ กล่าวถึงปัญหาสุขภาพในกลุ่มพระสงฆ์ ซึ่งพบปัญหาโรคเรื้อรัง โดยจากตัวอย่างด้านการฉันอาหาร ผ่านโครงการที่วัดโมลีโลกยาราม ซึ่งแม่ครัวที่ทำอาหารนั้นได้รับการอบรมเรื่องการจัดทำอาหารที่ปลอดภัย และถูกหลักโภชนาการ สำหรับพระสงฆ์ สามเณร นอกจากนั้น มีการกล่าวถึงตัวอย่างในการฉันอาหารของหลวงพ่อชา ท่านได้ปฏิบัติธรรมในป่า ฉันโดยไม่มีรสชาติ ก็เป็นแนวรักษาสุขภาพพระสงฆ์ ทำให้ไม่เป็นภาระของหมอ พระพุทธเจ้าตัวอย่างในการปฏิบัติ เพื่อให้พระมีสุขภาพดี ทั้งนี้ทั้งนั้นการไม่มีโรคถือเป็นลาภอันประเสริฐ

พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ ประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านทั้ง 3 พระ (พระคิลานุปัฏฐาก พระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์ และพระคิลานธรรม) ซึ่งทางคณะสงฆ์ ได้มีการดำเนินงานทั้งสามด้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นทั้งการทำงานด้านสาธารณะสงเคราะห์ การอุปัฏฐากดูแลพระสงฆ์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การดูแลสุขภาพตนเอง และเสนอแง่มุมในด้านการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเชิญชวนให้พระสงฆ์ไม่ต้องให้ตนเองเจ็บป่วย แต่อยากให้การดูแลสุขภาพเริ่มต้นจากการตรวจสุขภาพ เพื่อให้ทราบว่าร่างกายตนเองเป็นอย่างไร เพราะในบางครั้งเรานั้นไม่ได้รู้สึกอ่อนเพลีย แต่อวัยวะภายในเริ่มเสื่อมโทรม อีกทั้งพระสงฆ์นั้นออกจากบ้านเรือนมานานแล้ว ดังนั้นจึงอยากให้เริ่มใส่ใจสุขภาพของตนเอง เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่คำสอนต่อไปได้

ด้านนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง บทบาทของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมา สสส ได้ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมานั้น มีการรายงานอย่างต่อเนื่องถึงการเพิ่มขึ้นของโรคติดต่อไม่เรื้องรัง ดังนั้นการป้องกันก่อนการเกิดโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งทางด้านการเพิ่มกิจกรรมทางกาย และภาวะโภชนาการ โดยดำเนินการผ่านโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค และ เณรกล้าโภชนาดี ปัจจัยทางด้านการป้องกันการสูบบุหรี่ผ่านโครงการ วัดปลอดบุหรี่และ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพโดยโครงการจากทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และเป้าหมายต่อไปคือ ทำอย่างไรองค์กรสงฆ์จะสามารถเป็นองค์กรที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง มุมมองเรื่องการประยุกต์การบริหารองค์กรกับระบบการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ เราควรคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการดูแลสุขภาพ ประเด็นแรกการดูแลตนเอง ซึ่งในบางครั้งหลักพระธรรมวินัยของสงฆ์ ที่ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลหากไม่เจ็บป่วยโดยประเด็นนี้คือประเด็นสำคัญอย่างมาในการเริ่มตนการดูแลสุขภาพ หากไม่ทราบถึงสุขภาพตนเองจะสามารถเริ่มต้นดูแลได้อย่างไร ประเด็นต่อมาคือ สภาพแวดล้อม ฆราวาสในด้านการถวายอาหาร ซึ่งที่ผ่านมามีการรณรงค์เรื่องการตักบาตรอย่างไรให้ได้บุญ ประเด็นที่สาม การดูแลสุขภาพโดยบุคลากรทางการแพทย์ คำแนะนำการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งมีบางอย่างไม่สามารถทำได้เหมือนญาติโยมทั่วไป ทำอย่างไรจึงจะสามารถนำกระบวนการดูแลสุขภาพนั้นไม่ผิดต่อวินัยสงฆ์ ประเด็นสุดท้ายคือกองทุนสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันนั้นใช้สิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพ โดยการรักษานั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่สำหรับภิกษุสงฆ์นั้นมีการเดินทางทั้งทางด้านการศึกษาเปรียญธรรม การธุดงค์ทำให้ไม่สามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้

นพ.อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์นั้นมีการอุปัฏฐากดูแลพระสงฆ์ มาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินโครงการตรวจสุขภาพกว่า 3,000 รูป ใน 50 วัด โดย จากข้อมูลพบว่า มากกว่าครึ่งนึงมีปัญหาสุขภาพ และทราบว่าตนเองเจ็บป่วย แต่การเข้าสู่กระบวนการรักษาหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งจากที่ผ่านมา โรงพยาบาลสงฆ์นั้นมีการคัดกรอง และสามารถนำพระสงฆ์เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เพิ่มขึ้น ทั้งทางด้านโรคไต และโรค NCDs ต่างๆ แต่เมื่อดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องพบว่า มีพระสงฆ์ที่เจ็บป่วยในระยะสุดท้ายจำนวนมาก อีกทั้งด้วยความจำเป็นด้านการดูแลทำให้พระสงฆ์บางรูปต้องลาสิกขา เพื่อให้กลับไปให้ญาติดูแล ดังนั้นจึงมีการพัฒนา กุฏิชีวาภิบาล เพื่อให้พระสงฆ์ที่เจ็บป่วยระยะสุดท้ายได้พํานักดูแลเยียวยาคุณภาพชีวิตสมณสงฆ์อาพาธแบบประคับประคอง

และในช่วงท้ายของงาน ได้รับเกียรติจาก คุณพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8 ) สสส. กล่าวสรุปปิดงาน โดยกล่าวถึงสุขภาพนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงการไปรักษาที่โรงพยาบาลแต่หมายถึงการดูแลตั้งแต่ต้น เป็นการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการเข้าสู่โรงพยาบาล โดยปัจจุบันจะเห็นว่าแนวโน้นการเจ็บป่วยเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนจะมีปัญหาโรคติดเชื้อ แต่ในปัจจุบัน ปัญหาโรคเรื้อรังนั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาทางการแพทย์นั้นทำให้มีชีวิตยืนยาว แต่จะทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตโดยสุขภาพแข็งแรง และอยากเชิญชวนพระภิกษุสงฆ์สมัครเข้าใช้ แอปพลิเคชัน MONK มีสุข เพื่อดูแลสุขภาพตนเอง

#สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร #ความสุขในองค์กร

#สำนัก8 #สสส #Happy8workplace #สร้างเสริมสุขภาวะ #สุขภาวะองค์กร

#Happy8 #สุขภาพพระสงฆ์