ความพิการไม่ใช่ข้อจำกัดในการจ้างงาน

27/01/2023 Happy8workplace Happy Society 2,271
Share:

วันนี้เราพูดกันถึงความเท่าเทียมกันในหลายมิติ การจ้างคนพิการเข้าทำงานก็น่าจะเป็นอีกมิติหนึ่งของความเท่าเทียมที่น่าจะได้พูดถึง เพราะการจ้างงานผู้พิการเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ในตลาดแรงงานและมักถูกมองข้าม ซึ่งองค์กรหรือตลาดแรงงานอาจจะต้องก้าวข้ามความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ รวมถึงพิจารณาถึงแง่มุมของความสามารถมากกว่าความพิการ

 

อีฟส์เวอลีเย ผู้จัดการด้านความเท่าเทียมและผู้พิการระดับโลก ได้รับอุบัติเหตุตอนอายุ 21 ปี ทำให้ขาทั้งสองข้างใช้งานไม่ได้ เคยลองสมัครงานหลายแห่งก่อนที่เขาจะได้งานที่บริษัทไอบีเอ็ม เมื่อ 25 ปีก่อน ให้ความเห็นว่า “ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้คนต่างกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกเกร็ง ๆ เวลาที่อยู่ใกล้ผู้พิการ นั่นเป็นเรื่องปกติ”

 

มีหลักฐานยืนยันว่า เมื่อนายจ้างสามารถก้าวข้ามความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ การจ้างงานและการทำงานร่วมกับผู้พิการก็จะกลายเป็นความคุ้นชินมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น

ชอง คาลาคฮาน ผู้จัดการทั่วไปของ Sodexo ในโตรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวว่า “เราจะพูดถึงความพิการไปทำไม ในเมื่อความสามารถของเขามันโดดเด่นจนปิดทับปกคลุมความพิการไปหมดแล้ว” ทีมงานของเขาทั้ง 36 คนประกอบด้วยผู้พิการถึง 4 คน ซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกายต่าง ๆ กันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ

คนเหล่านั้นมีความสามารถที่แตกต่างกัน

 

ส่งเสริมให้ใช้ความสามารถ มิใช่จำกัดความสามารถ

สิ่งแวดล้อมในการทำงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง ไม่เพียงแต่เฉพาะในแง่ของกายภาพเท่านั้น ยังรวมถึง วัฒนธรรมการทำงาน และ บรรยากาศที่เอื้ออำนวยเป็นมิตรต่อทุกคนโดยไม่ละเลยคนหนึ่งคนใดไว้

อีฟส์เวอลีเย ชี้ว่า “ที่สุดแล้วหน้าที่ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องชัด หน้าที่ของนายจ้างก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้พิการสามารถจัดการกับข้อจำกัดจากความพิการของตนเองได้ ในขณะที่หน้าที่ของลูกจ้างก็คือการจัดการกับข้อจำกัดทางร่างกายและภาระงานในความรับผิดชอบของตนเอง” เขากล่าวว่าตอนที่เขาได้ร่วมงานกับบริษัทไอบีเอ็ม เขารู้สึกว่าข้อจำกัดจากความพิการของเขาเลือนหายไปเพียงเพราะว่าทุกหนแห่งในที่ทำงานเข้าถึงได้ง่ายนั่นเอง

 

ทำไมต้องจ้างงานผู้พิการ?

ริช โดโนแวน ผู้เชี่ยวชาญด้านความพิการและการสร้างรายได้ทางธุรกิจ ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคมักจะรู้สึกดีต่อองค์กรธุรกิจที่จ้างงานผู้พิการ อีกทั้งทั่วโลกมีผู้พิการกว่า 1,300 ล้านคน ครอบครัวของผู้พิการอีก 2,200 ล้านครอบครัว รวมทั้งเพื่อนของเขาอีก ซึ่งครอบคลุมรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงต่อปีมูลค่าสูงถึง 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ผู้ประกอบการค่อย ๆ ตระหนักแล้วว่า การจ้างงานผู้พิการนั้น มิใช่เป็นแค่เรื่องการกุศล และผู้พิการเองก็สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย “นี่ไม่ใช่แค่การทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นการทำที่ชาญฉลาดอีกด้วย”

สรีลา ดาส กัปตา ผู้จัดการด้านความหลากหลายและเท่าเทียมระดับโลก บริษัท Tata Consulting Services กล่าว

 

ในประเทศไทยมี “พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” ระบุให้นายจ้างที่มีลูกจ้างมากกว่า 100 คน ต้องจ้างคนพิการในอัตราส่วน 100:1 ตามมาตรา 33 หรือใช้มาตรา 34 จ่ายเงินเข้า “กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” จำนวน 109,500 บาทต่อคน หรือใช้มาตรา 35 โดยให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้า จ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน ช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ

 

แต่ละปีบริษัทเอกชนจะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งบริหารจัดการโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กว่า 2,000 ล้านบาท จนมีเงินสะสมในกองทุนฯ กว่า 10,000 ล้านบาท แต่หากนำเงินก้อนนี้ไปใช้ตามมาตรา 33 หรือ 35 จะถึงมือคนพิการโดยตรงปีละกว่า 20,000 คน

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับการจ้างงานคนพิการ อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โรงพยาบาลสมิติเวช บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัทเบทาโกร จำกัด กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ.แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) เป็นต้น

อีฟส์เวอลีเย มักจะบอกกับบรรดาผู้บริหารทั้งหลายว่า ให้ถามตัวเองก่อนเลยว่า ทำไมจึงควรจ้างงานผู้พิการ ในขณะที่สามารถจ้างคนทั่วไปที่ไม่พิการได้ คำตอบที่ได้คือ “องค์กรไม่จำเป็นต้องจ้างผู้พิการ แต่จ้างใครก็ได้ที่มีทักษะความสามารถเหมาะสมกับงานนั้น ๆ แล้วถ้าบังเอิญบุคคลผู้นั้นเป็นผู้พิการ ก็จ้างเลยตามนั้น ความพิการไม่ใช่ประเด็นที่จะพิจารณา”

มีคนพิการอีกมากที่ต้องการมีงานทำ การได้ประกอบอาชีพ คือโอกาสที่คนพิการจะแสดงพลังให้สังคมได้เห็นว่า…..

 

“ข้อจำกัดด้านร่างกายไม่ได้จำกัดความสามารถที่คนพิการมี”

 

ที่มา

Employing people with disabilities: It’s right and smart

https://www.ilo.org/.../news/WCMS_246151/lang--en/index.htm